xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (28)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*การชำระตัวตนกับยันตระโยคะ*

โยคะคือศาสตร์แห่งการชำระตัวตน (system of self-purification) เพื่อการข้ามพ้นตัวตนในเชิงจิตวิญญาณ (spiritual self-transcendence) โดยที่ การชำระกายเนื้อ และกายทิพย์ทั้ง 7 คือ แก่นแห่งการฝึกปฏิบัติของโยคะ โดยผ่านการฝึกฝนต่างๆ อย่างเป็นระบบ จากหยาบไปสู่ละเอียด จากมิติที่ต่ำกว่าไปสู่มิติที่สูงส่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ จนกว่าตัวตนนั้นจะเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งสูงสุดที่ตัวเองเคารพบูชาในที่สุด ในโมเดล “โยคะ” การชำระตัวตนของคนเราทำได้ โดยผ่านการดูดซับปราณ หรือพลังจักรวาลเข้าสู่ตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดูดซับปราณนี้ผ่านจักระต่างๆ ในกายทิพย์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

วิชา ยันตระโยคะ (Yantra Yoga) คือวิชาที่ดูดซับปราณจากจักรวาล โดยใช้รูปทรงทางเรขาคณิตต่างๆ โดยที่วิชายันตระโยคะนี้กล่าวว่า ปราณดำรงอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่รู้จักหมดในจักรวาลอยู่แล้ว แต่ถ้าหากจะดึงปราณเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชีวิต พัฒนาตัวตนของคนเราได้ ก็ต้องใช้หลักอย่างใดอย่างหนึ่งในสองหลักดังต่อไปนี้คือ

หลักอันที่หนึ่ง การใช้รูปทรงที่ก่อให้เกิดการสั่นไหวร่วมกันกับพลังจักรวาลหรือปราณ หรือ

หลักอันที่สอง การใช้การหมุนหรือการเคลื่อนไหวเป็นทรงกลม ดูดปราณหรือพลังจักรวาลเข้ามา จะเห็นได้ว่า อย่างแรกเป็นกลไกการทำงานของ ยันตร์ ส่วนอย่างที่สอง เป็นกลไกการทำงานของ จักระ

ปราชญ์คุรุแห่งโยคะในสมัยโบราณ ได้ค้นพบว่ารูปทรงต่างๆ บางรูป เปล่งหรือปล่อยพลังจักรวาลออกมาเองโดยอัตโนมัติ และแรงกว่าธรรมดา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพลังจักรวาลหรือปราณเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากๆ และเป็นทรงกลมที่หมุนอยู่ตลอดเวลา เมื่ออนุภาคมาเกาะตัวกัน มันก็หมุนโดยเคลื่อนไหวเป็นรูปทรงต่างๆ หากในโลกแห่งวัตถุ มีวัตถุที่มีรูปทรงแบบเดียวกัน รูปทรงการเคลื่อนไหวของอนุภาคเหล่านี้ ก็จะเกิดการถ่ายเทพลังงาน (พลังจักรวาล) ไปสู่รูปทรงเหล่านี้ในโลกแห่งวัตถุได้ แน่นอนว่า รูปทรงที่ต่างกัน ย่อมก่อให้เกิด “คลื่น” (vibration) สั่นของพลังจักรวาลที่ต่างกันออกไป เนื่องจากปราณหรือพลังจักรวาลนี้เป็นสิ่งที่ค้ำจุนสรรพสิ่งในจักรวาลเอาไว้ ดังนั้น ก็ย่อมสามารถนำมันมาใช้เพื่อการพัฒนาชีวิต และจิตวิญญาณของคนเราได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ปราชญ์คุรุแห่งโยคะสมัยโบราณยังได้ค้นพบอีกว่า “พลังจักรวาล” หมุนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าหากสภาพหรือสภาวะของ “การหมุน” ให้เกิดขึ้นกับคนเรา พลังจักรวาลหรือปราณก็จะถ่ายเทเข้าสู่การหมุนนั้นตามหลักการแห่งการสั่นไหวร่วมกันนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ พายุไต้ฝุ่นซึ่งหมุนซ้ายทวนเข็มนาฬิกา ตอนที่เกิดพายุไต้ฝุ่นใหม่ๆ นั้น แรงมันยังน้อยอยู่ แต่ครั้นเวลาผ่านไปมากเข้า มันจะมีพลังรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัวอายุไต้ฝุ่นเองใช้การหมุนเป็นวงกลมดูดพลังงานเข้ามาไว้ในตัวนั่นเอง

จากหลักการหมุนทวนเข็มนาฬิกาเพื่อดูดพลังจักรวาลเข้าสู่ตัวนี้เองที่ทำให้มีนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งประดิษฐ์แท่นหมุนให้คนไข้ยืนบนแท่นแล้วหมุนซ้ายโดยหมุนราวๆ 5-10 รอบต่อหนึ่งนาที และให้หมุนราวๆ สองนาที ทำการหมุนทุกวันๆ ละห้าครั้ง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีมากในการรักษาโรคชราที่เริ่มมีความจำเลอะเลือน เพราะหลังจากรักษาด้วยวิธี “หมุน” นี้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็มีอาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้เมื่อทดลองใช้วิธีรักษาโรคด้วยการ “หมุน” กับคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังชนิดอื่นดู ก็ดูเหมือนว่าได้ผลดีขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่หากวิธีนี้ใช้ได้ผลจริงๆ แล้ว นั่นก็เพราะประสิทธิผลจากการดูดรับพลังจักรวาลเข้าไปในตัวคนไข้ โดยใช้วิธี “หมุน” นั่นเอง

ระบบการฝึกของโยคะเพื่อการชำระตัวตน จึงต้องประสานการฝึกที่ใช้รูปทรงแบบ “ยันตร์” โดยเฉพาะท่านั่งขัดสมาธิเพชร ที่ท่าร่างเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมดุจพีระมิด คือ พระสถูป หรือเขาพระสุเมรุ เข้ากับการ “หมุน” จักระในกายทิพย์ ในขณะบำเพ็ญภาวนาเป็นสำคัญ เราจะเห็นได้ว่า การใช้สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอินเดีย โดยเฉพาะพระสถูปในศาสนาพุทธนั้นได้แฝงปรัชญาจักรวาลเอาไว้อยู่เบื้องหลังการก่อสร้าง

กล่าวคือ พระสถูป (ยันตร์สามมิติในรูปทรงพีระมิดหรือเขาพระสุเมรุ) เป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างโลกที่เราสัมผัสได้ กับโลกที่เราสัมผัสไม่ได้ เพื่อโน้มนำจิตของเราไปสู่สำนึกแห่งการไม่แบ่งแยกแตกต่างกับสิ่งใดๆ (อทไวตะหรืออทวิภาวะ non-dual) ซึ่งเป็นภาวะที่ปราศจากความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือระหว่างการดำรงอยู่กับการรู้นั้น พระสถูปซึ่งเป็นยันตร์สามมิติในรูปทรงพีระมิดหรือเขาพระสุเมรุ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของ “ความจริง” ในมิติที่สูงส่ง

กล่าวคือ มันอาจทำหน้าที่เป็นสะพานทางปัญญาที่เชื่อมสิ่งที่เรามองเห็นเข้ากับสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือเชื่อมสิ่งที่มีตัวตนเข้ากับสิ่งที่ไร้รูป และเชื่อมสิ่งที่อธิบายได้เข้ากับสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้ ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์

ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านั่งขัดสมาธิเพชรของโยคะ ซึ่งเป็นการทำยันตร์สามมิติ โดยใช้สรีระของเราทำรูปทรงพีระมิดหรือเขาพระสุเมรุ ก็ย่อมเป็นสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานทางปัญญาเชื่อมสิ่งที่เรามองเห็นเข้ากับสิ่งที่เรามองไม่เห็น เชื่อมสิ่งที่เป็นรูปเข้ากับสิ่งที่ไร้รูป และเชื่อมสิ่งที่อธิบายได้เข้ากับสิ่งที่เร้นลับอย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง

ต่อไปผมจะลองใช้สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของพระสถูปมาตีความ ยันตร์สามมิติในรูปทรงพีระมิดหรือเขาพระสุเมรุดูพระสถูปแม้จะมีรูปแบบมากมายหลากหลาย แต่พระสถูปทุกรูปแบบจะมีลักษณะร่วมกัน กล่าวคือ

(1) แผนผังพระสถูปทุกแบบพัฒนาอย่างมีสัดส่วนรอบๆ ศูนย์กลางขึ้นมา

(2) ปริมาตรของพระสถูปทุกองค์ พัฒนาอย่างมีสัดส่วนรอบๆ แกนกลางที่ตั้งเป็นแนวดิ่งจากจุดศูนย์กลาง

(3) องค์พระสถูปถูกกำหนดที่ตั้งไว้สอดคล้องกับทิศทุกทิศ

ลักษณะสำคัญของพระสถูปอันได้แก่ ศูนย์กลาง เส้นแกน และการหันทิศให้ถูกต้อง น่าจะเป็นลักษณะอย่างเดียวกับแผนผังของพีระมิด และ ถ้าหากเรานั่งขัดสมาธิเพชร ทำยันตร์สามมิติเป็นรูปทรงพีระมิด เส้นแกน และศูนย์กลางก็คือ กระดูกสันหลังของคนเรา โดยที่ในกายทิพย์มันก็คือ ช่องสุษุมนะ (sushumna) อันเป็นช่องกลางอยู่บริเวณแกนกลางของกายทิพย์ที่เป็นช่องทางที่พลังกุณฑาลินีใช้ไต่ผ่านจากจักระที่ 1 (มูลธาร) ไปสู่จักระที่ 7 (สหัสธาร) บนยอดศีรษะตามหลักวิชาของโยคะนั่นเอง ความสอดคล้องกันในเชิงปรัชญาจักรวาลระหว่างพระสถูปกับการบำเพ็ญสมาธิภาวนาของโยคะ เป็นอะไรที่ลึกซึ้งและน่าค้นหาอีกมาก

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น