xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ”หนุนแก้ รธน.ม.237

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 ต.ค.55) เมื่อเวลา10.45 น. ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านเกี่ยวกับว่าการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบสนธิสัญญาต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ม.190 ในวันที่ 2ต.ค.นี้ ซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลอาจจะสอดแทรกระเบียบวาระให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา291 ในวาระ 3 ว่า เรื่องนี้ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมและหากจะมีการโหวตจริง ก็ต้องมีการบรรจุในวาระการประชุมและนัดหมายให้เป็นระเบียบ แต่หากมีการโหวตจริงนั้นยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ร่วมโหวตด้วยอย่างแน่นอน สำหรับเรื่องการปรับ ครม.นั้น ฝ่ายค้านเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเล่นเกมการเมืองว่าจะปรับก่อนหรือหลังการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ และควรมีการปรับรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานการบริหารหรือรัฐมนตรีโลกลืมออก ไม่ใช่จะรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ที่พรรคเพื่อไทย การประชุมคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นัดสุดท้าย ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน ได้เชิญนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะอดีตประธานพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาให้คำปรึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยนายสมบัติได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของระบบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมี เพื่อดูแลความชอบธรรมในการใช้รัฐธรรมนูญ แต่จะต้องมองว่าการมีอยู่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นควรจะมีในลักษณะใด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจากความเห็นขององค์คณะตุลาการ ดังนั้นเมื่อเวลาที่มีการตัดสินมาก็อาจมีคนเห็นด้วยกับเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยก็ได้
นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังไม่เห็นด้วยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ที่ลงโทษยุบพรรคการเมืองหากกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำผิด เพราะจะทำให้ระบบพรรคการเมืองล่มสลายและไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ส่วนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีอยู่ 3 รูปแบบ โดยประเทศของเราใช้ระบบการปกครองแบบรัฐสภาเหมือนประเทศอังกฤษ แต่มองว่าระบบนี้จุดอ่อนหลายประการ เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงรัฐสภาบ่อย เนื่องจากมีระบบเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเปิดให้ใช้อำนาจยุบสภาได้ อีกทั้งอำนาจฝ่ายบริหารจะต้องทำหน้าที่ในรับสภาควบคู่ไปด้วย ทำให้นายกรัฐมนตรีแบกรับภาระหนักทำให้ทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้เต็มที่ และระบบนี้หากรัฐบาลได้เสียงข้างมากในรัฐสภาจะทำให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มข้น เหมือนประเทศสิงคโปร์ และสุดท้ายจะเอื้อต่อการให้อามิสสินจ้าง เพื่อเอื้อต่อการแลกกับผลประโยชน์ หรือตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นผู้บริหารต้องมีคุณธรรมสูงไว้ใจได้ไม่เช่นนั้นระบบการถ่วงดุลจะอ่อนแอมาก
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า การทำงานของคณะทำงาน ไม่ได้เป็นการยื้อเวลา โดยขณะนี้ มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุมสภา สมัยสามัญทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น