xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐจะเริ่มให้'นำเข้า'สินค้าพม่า IMF-ธ.โลก-ADBก็จะให้กู้$1พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – พม่ารับโชคสองชั้น อเมริการับปากเริ่มขั้นตอนเพื่อผ่อนคลายการคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าของแดนหม่อง ขณะเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเตรียมขยายสินเชื่อให้พม่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันกับประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่า เมื่อวันพุธ (26) ว่าอเมริกากำลังดำเนินขั้นตอนต่อไปในการฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับปกติเพื่อแสดงการยอมรับการปฏิรูปของพม่า
ทางด้านเต็งเส่งตอบกลับว่า ประชาชนพม่ายินดีอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และพม่าซาบซึ้งกับการดำเนินการของสหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่อองซานซูจี สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยในพม่า เดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์และเรียกร้องให้อเมริกายุติบรรดามาตรการคว่ำบาตรที่ยังเหลืออยู่
ทางด้านพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ได้แถลงแสดงความยินดีต่อคำประกาศของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โดยมองว่าเป็นขั้นตอนที่จะส่งผลดีในระยะยาวต่อพม่า และระบุว่า การตัดสินใจนี้มีขึ้นหลังจากการหารือระหว่างคลินตัน ซูจี และเต็งเส่ง
ความคืบหน้าในการปฏิรูป ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าในการต้อนรับซูจีและเอ็นแอลดีเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก ตลอดจนการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน ชักนำให้ความสัมพันธ์ที่เย็นชากับตะวันตกอบอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว และประเทศส่วนใหญ่ต่างยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ปัจจุบัน พม่าที่เคยยากแค้นจากการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดของรัฐบาลทหารมาหลายสิบปี กลับกลายเป็นพรมแดนเศรษฐกิจสำคัญใหม่แห่งภูมิภาค ด้วยที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
อเมริกานั้นห้ามนำเข้าสินค้าพม่าตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งขณะนั้นมีการค้าขายกันน้อยมาก โดยอเมริกานำเข้าไม้เนื้อแข็ง อัญมณี และสิ่งทอเป็นหลัก
แต่นับจากนี้ไปเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะพิจารณาผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าพม่า โดยร่วมกับรัฐสภาอเมริกัน ในลักษณะเป็นรายอุตสาหกรรมไป
เมียต ทิน อ่อง รองประธาน โยมา แบงก์ และสมาชิกของสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า เชื่อว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นภาคหนึ่งที่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของวอชิงตัน
อนึ่ง การหารือระหว่างคลินตันกับเต็ง ส่ง ซึ่งครอบคลุมประเด็นอื่นๆ เช่น กระบวนการปรองดองในพม่านั้น เกิดขึ้นก่อนที่ผู้นำแดนหม่องปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันพฤหัสบดี (27)
การเยือนครั้งสำคัญของเต็งเส่งคราวนี้ มีขึ้นหลังจากที่วอชิงตันถอนชื่อเขาและฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าจากบัญชีบุคคลและธุรกิจที่สหรัฐฯคว่ำบาตรเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ยาเสพติด หรือกิจกรรมผิดกฎหมาย
วอชิงตันนั้นยกเลิกการคว่ำบาตรการลงทุนของอเมริกาในพม่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างโคคา-โคลาและเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) เริ่มลงสนามเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่คาดว่าเศรษฐกิจจะบูมจัดในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ดี หลายบริษัทยังเฝ้ารอกฎหมายการลงทุนของต่างชาติที่ผู้นำพม่าส่งกลับไปให้รัฐสภาแก้ไขในสัปดาห์นี้
ขณะเดียวกัน พม่ายังได้รับข่าวดีจากรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กำลังพิจารณาขยายสินเชื่อมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจพม่า โดยจะมีการประกาศเรื่องนี้ระหว่างการประชุมของไอเอ็มเอฟที่โตเกียวในเดือนหน้า
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิก) และธนาคารอื่นๆ ของญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มเสนอเงินกู้ระยะสั้นเพื่อให้ย่างกุ้งชำระหนี้คั่งค้างเก่า รวมมูลค่าสินเชื่อทั้งหมดที่พม่าจะได้รับจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์
ด้านหนังสือพิมพ์ไมนิชิ ชิมบุงรายงานว่า ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ที่สุดของพม่าเมื่อนับกันเป็นรายประเทศ จะเป็นผู้สนับสนุนกลไกสินเชื่อครั้งนี้ โตเกียวยังเรียกร้องให้ธนาคารโลก เอดีบี รวมถึงเจ้าหนี้อื่นๆ ยกหนี้เก่าให้พม่า
ทั้งนี้ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตกลงยกหนี้ให้พม่า 300,000 ล้านเยน (3,900 ล้านดอลลาร์) จากทั้งหมด 500,000 ล้านเยน
กำลังโหลดความคิดเห็น