xs
xsm
sm
md
lg

'พระนาย'โดดอุ้มยงยุทธ อ้างพรบ.ล้างมลทิน ปชป.สวนยังไม่เคยรับโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พระนาย" แถลงมติ อ.ก.พ.หลังไล่"ยงยุทธ" ออกจากตำแหน่งรองปลัด มท. ยันไม่ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีพ.ร.บ.ล้างมลทิน ให้ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยในกรณีนั้นๆ ไม่หวั่นถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เชื่อ อ.ก.พ.ทำถูกแล้ว ด้านกฤษฎีกา-ก.พ.ดาหน้ายัน "ยงยุทธ" รอด ปชป.อัดใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ย้อนหลัง ทั้งที่ไม่เคยรับโทษ ขอดูข้อกฎหมายก่อนส่งศาลรธน.วินิจฉัย

วานนี้ ( 23ก.ย. ) ที่กระทรวงมหาดไทย นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงมหาดไทย หรือ อ.กพ. แถลงมติที่ประชุม อ.กพ. ให้ไล่ออกนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ตามมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )ที่ชี้มูลความผิด นายยงยุทธ ฐานกระทำความผิดวินัยร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีที่ดินสนามกอล์อัลไพน์ แม้ว่าการพิจารณาของ อ.กพ. กระทรวงมหาดไทย จะเห็นว่า การกระทำของนายยงยุทธไม่มีความผิดตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูล แต่กรณีนี้ไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากกฏหมายกำหนดไว้ จึงเสนอให้ รมว.มหาดไทย สั่งลงโทษตามฐานความผิดให้ออกจากราชการ ตามระเบียบ ข้อ 15 ของ กพ. โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 นับตั้งแต่วันที่นายยงยุทธ เกษียณอายุราชการ แต่กรณีดังกล่าว ไม่ส่งผลให้นายยงยุทธ ขาดคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากอยู่ในหลักเกณฑ์การล้างมลทิน ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิล ปี 2550 ให้ถือว่า ผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษ หรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายยงยุทธ ยังไม่เคยได้รับโทษในกรณีดังกล่าว จะเข้าข่ายการล้างมลทินหรือไม่ นายพระนาย เลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ โดยให้ไปสอบถามกับนักกฏหมายที่เชี่ยวชาญเอาเอง แต่ยืนยันว่า อ.กพ. ได้พิจารณาข้อกฏหมายอย่างถี่ถ้วนแล้ว โดยอ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ตามตนไม่กังวล หากมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความคำสั่ง อ.กพ.ในกรณีนี้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะ อ.กพ. ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

**กฤษฎีกา-ก.พ. ยัน"ยงยุทธ"รอด

มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ได้มีหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ทำถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนยันว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ได้รับการล้างมลทิน หลังกระทรวงมหาดไทยได้ลงโทษนายยงยุทธ กรณีมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกรมที่ดิน ที่ให้ถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์

โดย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือ ลงวันที่ 22 ก.ย.55 เรื่อง ความเห็นกรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษทางวินัย ให้ปลดออกรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ระบุว่า

ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาให้ความเห็นกรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติลงโทษทางวินัยให้ปลดออกรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอชี้แจงว่า การมีคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการนั้น จะต้องสั่งลงโทษในขณะที่ผู้นั้นยังคงดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการอยู่ หากพ้นจากตำแหน่งแล้วจะต้องออกคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ และถือว่าผู้นั้นถูกลงโทษทางวินัย ตั้งแต่วันที่คำสั่งกำหนดให้มีผลย้อนหลังนั้น แต่เนื่องจากภายหลังจากคำสั่งลงโทษทางวินัยมีผลย้อนหลังใช้บังคับแล้ว ได้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินใช้บังคับในเวลาต่อมา จึงทำให้ผู้ถูกลงโทษได้รับผลจากการล้างมลทิน โดยไม่ถือว่าผู้นั้นเคยถูกลงโทษมาก่อน

ทั้งนี้ ตามบันทึก เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้างมลทิน ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2526 (กรณีคำสั่งลงโทษกำหนดให้ผลย้อนหลังไปยังวันที่ถูกสั่งพักราชการ) (เรื่องเสร็จที่ 440/2526) ซึ่งวินิจฉัยว่า การที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่งตามกรณีของข้อ 4 แห่งระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2518 นั้น เป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการตามระเบียบ ก.พ.ดังกล่าว หากผลของการออกคำสั่งลงโทษนั้นทำให้ข้าราชการผู้ใดได้รับโทษก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2526 ใช้บังคับแล้ว ข้าราชการผู้นั้น ย่อมจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2526 ด้วย ดังนั้น กรณีของรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) หากมีข้อเท็จจริงเป็นไปตามความเห็นดังกล่าว ก็ย่อมได้รับการล้างมลทินไปแล้ว

ขณะที่ นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ก็ได้ทำหนังสื่อถึงนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กรณีดังกล่าว คำสั่งลงโทษมีผลย้อนหลังไปก่อนวันที่นายยงยุทธ เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทิน ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ถือว่า ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติ กระทรวงเจ้าสังกัดจะบันทึกประวัติการได้รับการล้างมลทินดัง กล่าวไว้ใน ก.พ.7

**"มาร์ค"อัด"ยงยุทธ"เลิกหัวหมอ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายยงยุทธ จะใช้ประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทิน ปี 2550 โดยให้การลงโทษวินัยร้ายงแรง ตามมติ ป.ป.ช. ย้อนหลังไปในปี 2545 ว่า คงจะต้องตรวจสอบในทางข้อกฎหมาย เพราะต้องถือว่านายยงยุทธ ไม่เคยได้รับโทษเลย และการจะขาดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ เราเรียกร้องความรับผิดชอบทางการเมืองของนายยงยุทธ ในแง่มาตรฐานที่จะสร้างไว้ในอนาคต โดยเฉพาะรัฐบาลบอกว่า มีนโยบายสำคัญเรื่องการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน หรือการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางมิชอบ ตนคิดว่า มีเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย

เพราะฉะนั้นเรื่องกฎหมายก็ต้องตรวจ สอบแต่ในทางการเมือง ต้องถามนายยงยุทธว่า มาตรฐานความรับผิดชอบจะเป็นอย่างไร เพราะความจริงควรช่วยกันทำให้มาตรฐานการเมืองมีความชัดเจนมากกว่าใช้แง่มุมทางกฎหมายมาเป็นประโยชน์กับตัวเอง เพราะเท่ากับว่า ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการผลักดันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

แต่ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปล่อยให้นายยงยุทธ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ก็เป็นตัวสะท้อนว่า สุดท้ายเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ เพราะการแสดงความรับผิดชอบคงไม่ได้ดูว่า กฎหมายเขียนอย่างไรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย เพราะตอนนี้ก็มีหลายเรื่องที่ค้างอยู่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ จับตาในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้สภาพิจารณาด้วย ไม่ใช่เรื่องของนายยงยุทธ คนเดียว

ส่วนจะยื่่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า นายยงยุทธ ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูข้อกฎหมายอย่างละเอียดก่อน ว่าเขาใช้แง่มุมอย่างไร ทั้งนี้ กรณีของนายยงยุทธ ไม่ใช่แค่เรื่องการทำผิดวินัยร้ายแรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการดำเนินคดีอาญาที่ ป.ป.ช. ส่งให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องด้วย และอยากให้รัฐบาลไปดูข้อกฎหมายให้ดี

** ย้ำต้องรับโทษก่อนล้างมลทิน

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องพ.ร.บ.ล้างมลทิน นั้นต้องรับโทษก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินประกาศใช้ ซึ่งในขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้มาหลายปีแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีผลที่จะล้างมลทิน นายยงยุทธได้ สิ่งที่นายยงยุทธอ้างจึงไม่เป็นความจริง อีกทั้งมีเงื่อนไขว่า ต้องรับผิดมาก่อน และต้องรับโทษก่อนวันที่พ.ร.บ.ล้างมลทินออก ทั้งนี้เมื่อยังไม่ได้รับโทษในวันที่พ.ร.บ.ล้างมลทินประกาศใช้ จึงไม่มีผล ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพยายามตะแบงว่า ได้ล้างมลทินแล้ว จึงไม่เป็นความจริง นายยงยุทธ ต้องออกจากตำแหน่งเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นให้ศาลใดศาลหนึ่งตีความหรือไม่นั้น เห็นว่าเรื่องนี้หากไม่มีการปลดออก รัฐบาลก็จะต้องร่วมรับผิดชอบทั้งคณะรัฐมนตรี ทั้งในทางอาญา ปกครอง อย่างไรก็ตาม หากในวันอังคารที่ 28ก.ย.นี้ นายยงยุทธ ยังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีแทนนายกรัฐมนตรี ก็จะถือว่าเป็นความผิดที่นายกรัฐมนตรีร่วมรับผิดชอบด้วย และเป็นความผิดที่มีความสำคัญด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น