xs
xsm
sm
md
lg

เราจะกินปลาเป็นตัวๆ...หรือจะกินปลาป่น

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เข้าไปดูขบวนการผลิตปลาป่นของโรงงานปลาป่น ในหลายๆ พื้นที่ท่านจะอึ้งต่อภาพปลาเศรษฐกิจตัวโตๆ ที่กองเต็มพื้นและกำลังถูกลำเลียงเข้าสู่ขบวนการผลิตปลาป่น ซึ่งเป็นภาพตัดกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวนาที่อยู่ตามชนบท ที่กำลังใช้แหใช้สุ่มเสาะหาปลาตามท้องทุ่ง ตามคูคันนาเพื่อหาปลามาประกอบอาหารประจำวันให้กับครอบครัว

เมื่อปีที่แล้วหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจพาดหัว (10 มีนาคม พ.ศ. 2554) ว่า “ผู้ผลิตปลาป่นไทยเฮ ส่งออกปี 2553 พุ่งกว่า 1.12 แสนตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ล่าสุดเปรูผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกขาดแคลนวัตถุดิบกว่า 4 แสนตัน ทำให้ราคาครึ่งปีแรกสดใสเกือบ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ”

  เนื้อในของข่าวดังกล่าวระบุว่า นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เปิดเผยว่า การส่งออกปลาป่นของไทยในปีที่ผ่านมาสูงถึง 112,359.12 ตัน สูงที่สุดในรอบ 5 ปี จากปกติที่เคยส่งออกประมาณ 15,000-20,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของปลาป่นที่ผลิตได้ทั้งหมดของไทย สาเหตุที่ส่งออกได้มากเนื่องจากประเทศเปรู ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาป่นรายใหญ่ของโลก ผลผลิตหายไป 4 แสนตัน สำหรับประเทศที่มีการนำเข้าปลาป่นมากที่สุดคือ จีน 49,698.59 ตัน รองลงมาคือ เวียดนาม 26,961.49 ตัน ญี่ปุ่น 9,897.25 ตัน ไต้หวัน 8,927.16 ตัน และอินโดนีเซีย 7,814.66 ตัน ซึ่งแต่ละปีจีนต้องใช้ปลาป่นในปริมาณมากถึง 1.5 ตัน

เราไม่ปฏิเสธว่าปลาป่นเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและยังเป็นองค์ประกอบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ในสังคมอีกมาก โดยเฉพาะเป็นองค์ประกอบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เกือบทุกชนิด แต่อยากให้ผู้อ่านได้พิจารณาวัตถุดิบที่เข้าสู่ขบวนการผลิตตามตารางข้างล่างนี้สักนิด

จากตารางท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในรอบ 3 ปีตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2553 เราทำลายพันธุ์สัตว์น้ำที่เรียกว่า “ปลาเป็ดจากเรือประมง” ที่เป็นปลาเศรษฐกิจวัยอ่อนตัวเล็กๆไปกว่า 900,000 ตัน ในงานวิจัยของกรมประมงก็พบข้อมูลชัดเจนว่าที่เรียกว่า “ปลาเป็ด” นั้นก็คือปลาชนิดต่างๆ ที่จับขึ้นมาด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าเรืออวนลาก และเรืออวนรุน ซึ่งผลผลิตจากเรืออวนลากจากการศึกษาพบว่าสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการ ซึ่งสามารถนำไปขายตามท้องตลาดได้นั้นมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็น “ปลาเป็ด” ร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของ “ปลาเป็ด” เป็นสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน ซึ่งจะถูกนำเข้าสู่ขบวนการผลิตปลาป่น

โรงงานปลาป่นในประเทศไทยมีอยู่ทั้งหมด 107 โรง อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 80 โรง ในภาคกลางและภาคตะวันออก 27 โรง หลายโรงงานที่มุ่งผลิตปลาป่นเพื่อการส่งออก ซึ่งจะต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อให้ปลาป่นของตัวเองมีโปรตีนอย่างต่ำ 60% เพื่อให้เป็นปลาป่นเกรดเอ ที่เป็นความต้องการของตลาดและมีราคาสูง ก็ใช้วิธีนำเอาปลาเศรษฐกิจที่คนกินปลาควรจะได้นำมาบริโภค ควรจะปล่อยให้ลูกปลาเล็กๆ ได้เติบโตเต็มวัยและเป็นอาหารของผู้คนในสังคม แต่กลับต้องถูกนำมาแปรรูปเป็นปลาป่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพ่อค้าปลาป่นเพียงไม่กี่คน

ในความเป็นจริงแล้วปลาเป็ดเป็นส่วนผสมประมาณ 12% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนประกอบของปลาป่นที่ได้คุณภาพจากเศษปลาโอปลาทูน่าจากโรงงานปลากระป๋อง เศษปลาซูลิมิจากโรงงานเนื้อปลาซูลิมิ ปลาเป็ดคุณภาพจากประมงนอกน่านน้ำหรือเศษปลาจากโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ต่างๆ หากนักอุตสาหกรรมปลาป่น นักอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จะได้มองถึงความมั่นคงทางอาหารของผู้คนในสังคม ท่านควรจะละเว้นหรืออย่ามักง่ายฉกฉวยเอาผลประโยชน์ของผู้คนทั้งสังคมไปเป็นผลประโยชน์ของตนแต่ผู้เดียวสังคมไทยก็จะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้อีกมาก

รัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอันว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารของผู้คนในสังคม ก็ควรจะมองปัญหานี้ให้ทะลุอย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของหมู่พวกจนทำร้ายทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้อ่อนแอและหมดทางเลือก การเตรียมการนิรโทษกรรมเรืออวนลากซึ่งเป็นเครื่องมือจับ “ปลาเป็ด” ป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมปลาป่นของพวกท่าน มันจะเป็นการทำร้ายทำลายแหล่งอาหารโปรตีนจากทะเลของสังคมไทยให้ย่อยยับลงไปอีก อยากเรียนให้ท่านได้ทราบว่าเราอยากกินปลาเป็นตัวๆ ไม่ใช่ปลาป่นนะครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น