xs
xsm
sm
md
lg

คาด'ทะเลจีนใต้'คือประเด็นสำคัญ หารือความมั่นคงที่เขมรสัปดาห์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ความพยายามที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ คาดว่าจะเป็นประเด็นหลักในการหารือด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียสัปดาห์นี้ ที่ประเทศกัมพูชา

ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ในกรุงพนมเปญ วันพฤหัสบดี (12) นี้ ภายหลังจากที่เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประชุมกันเอง ตลอดจนประชุมร่วมกับชาติคู่เจรจาจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลียแล้ว โดยที่รัฐมนตรีของชาติคู่เจรจาเหล่านี้ก็จะร่วมการหารือเออาร์เอฟด้วยเช่นกัน

ความขัดแย้งเกี่ยวกับการอ้างอำนาจอธิปไตยในบริเวณทะเลจีนใต้ทับซ้อนกัน คาดว่าจะเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่การหารือของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศในวันจันทร์ (9) แล้ว ก่อนเปิดการประชุมเออาร์เอฟซึ่งมีชาติที่ได้รับเชิญทั้งหมด 27 ประเทศ

ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำในการผลักดันอาเซียนให้รวมตัวกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมจีนให้ยอมรับระเบียบปฏิบัติ (code of conduct) ทางทะเล ภายหลังที่จีนเกิดความตึงเครียดกับทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ ในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ทั้งนี้เวียดนามและฟิลิปปินส์ต่างกล่าวหาจีนว่าแสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวในบริเวณพิพาท ขณะที่ฝ่ายจีนนั้นยังคงต้องการที่จะเจรจาตกลงกับผู้อ้างสิทธิตามแต่ละประเทศแบบทวิภาคี

"นี่เป็นเวลาของสมาชิกอาเซียน พวกเขากำหนดให้เดือนนี้เป็นเส้นตายสำหรับการออกระเบียบปฏิบัติฉบับร่าง ที่คาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น" คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย กล่าว

จีนนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับเวียดนามด้วยการเปิดประมูลสำรวจแหล่งน้ำมันในน่านน้ำพิพาท ส่งผลให้ชาวเวียดนามจัดชุมนุมประท้วงในกรุงฮานอยเมื่อต้นเดือน ขณะที่จีนและฟิลิปปินส์ก็มีเหตุตึงเครียดระหว่างกันเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้ที่ช่วงชิงกัน

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. ชาติสมาชิกอาเซียนมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับการรวมจีนเข้าหารือการร่างระเบียบปฏิบัติ แต่อาเซียนยังคงหวังที่จะบรรลุข้อตกลงกับจีนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งนับเป็นเวลามากถึง 10 ปี หลังจากมีคำมั่นสัญญาเป็นครั้งแรกที่จะสร้างกรอบผูกพันทางกฎหมายสำหรับแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ

สหรัฐฯนั้นแสดงท่าทีชัดเจนว่าหนุนหลังอาเซียนที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนในการเจรจาต่อรองกับจีน

“เราเรียกร้องให้เกิดความก้าวหน้าระหว่างชาติอาเซียนกับจีนในเรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับทะเลจีนใต้” คลินตันกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันอาทิตย์ที่กรุงโตเกียว พร้อมกับเรียกร้องให้ชาติเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหลาย “แก้ไขกรณีพิพาทของพวกตนโดยปราศจากการใช้กำลังบังคับ, ปราศจากการข่มขู่, ปราศจากการคุกคาม, และปราศจากความขัดแย้ง”

ขณะที่ เออร์นี่ โบวเออร์ จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา กรุงวอชิงตัน ระบุว่า เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐฯได้ขยายความสัมพันธ์ทางทหารกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีนจะเป็นประเด็นที่ทุกๆ ฝ่ายต่างก็ต้องคำนึงถึงในการประชุมในสัปดาห์นี้

แต่โบวเออร์คาดว่า ความกังวลที่ว่าการที่สหรัฐฯหันมาเน้นหนักโฟกัสที่เอเชีย อาจจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นในจีนก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำครั้งใหญ่ของปักกิ่งปลายปีนี้ น่าจะทำให้คลินตันพยายามที่จะ “ลดระดับความเสียดทานระหว่างสหรัฐฯกับจีน” ในการประชุมคราวนี้

เธเยอร์ก็เห็นด้วยว่า คลินตันอาจจะพูดเรื่องทะเลจีนใต้น้อยลงกว่าตอนที่เธอเข้าร่วมการประชุมในปี 2010 แต่จะพยายามคำนึงว่าวัตถุประสงค์หลักของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ คือการผลักดันให้ความร่วมมือระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งมีความคืบหน้า ทั้งนี้ในปี 2010 คลินตันทำให้ปักกิ่งโกรธกริ้วจากการออกมาประกาศว่า สหรัฐฯถือว่าการที่เข้าไปเดินเรือในทะเลจีนใต้ได้อย่างเสรี คือ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของตน

“อย่าหวังที่จะได้เห็นการจุดพลุจุดดอกไม้ไฟจากท่านรัฐมนตรีคลินตันในพนมเปญคราวนี้” โบวเออร์บอก พร้อมกับคาดการณ์ว่า คลินตันน่าจะมองหาทางสร้างความแข็งแกร่งให้สหรัฐฯอย่างเงียบๆ มากกว่า ด้วยการสนับสนุนจุดยืนของอาเซียนอยู่หลังฉาก ทว่าไม่มีการดำเนินการอะไรอย่างโจ่งแจ้งหรือสำแดงกำลังอย่างหนักหน่วง

เธเยอร์เสริมว่า คลินตันนั้นต้องการให้บรรดาชาติเอเชียเกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาอีกว่า ความผูกพันของสหรัฐฯต่อภูมิภาคแถบนี้นั้นมีความกว้างขวางยิ่งกว่าเพียงแค่การตอบโต้แสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯเท่านั้น

ความพยายามดังกล่าวของนคลินตันจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึงกัมพูชาด้วยซ้ำ โดยที่เธอจะแวบไปเยือนกรุงฮานอย ซึ่งจะพบปะกับตัวแทนนักธุรกิจทั้งของสหรัฐฯและเวียดนาม ถัดจากนั้นต่อไปยังลาว ซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศงสหรัฐฯคนแรกที่เดินทางเยือนลาวในรอบ 57 ปี

หลังจากการประชุมเออาร์เอฟเสร็จสิ้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้จะนำคณะผู้แทนของสหรัฐฯเข้าร่วมประชุมธุรกิจที่เมืองเสียมราฐ ในวันศุกร์ (13) ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น