xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตโรงไฟฟ้า'นุก'ญี่ปุ่น'ฝีมือมนุษย์' กก.อิสระชี้'ผิดหนัก'ทั้งภาครัฐ-เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – วิกฤตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในโลกในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา คือ “ความหายนะจากฝีมือมนุษย์ชัดๆ” รายงานเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการอิสระของรัฐสภาญี่ปุ่นระบุ พร้อมกับบอกด้วยมันเป็นภัยพิบัติที่สามารถป้องกันได้ ทว่ายังคงเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก “การสมทบกัน” ของความผิดพลาดด้อยประสิทธิภาพอย่างร้ายแรงทั้งของรัฐบาล, หน่วยงานกำกับตรวจสอบ, และบริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า
คณะกรรมาธิการอิสระเพื่อการตรวจสอบอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในฟูกิชิมะ ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นให้ทำการตรวจสอบการดำเนินการรับมือวิกฤตและให้ข้อเสนอแนะ ได้เปิดเผยรายงานฉบับแรกเมื่อวันพฤหัสบดี(5) โดยระบุว่า ระดับความผิดพลาดและการละเลยอย่างดื้อดึง ส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิชิ ไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิ
ทั้งนี้ เตาปฏิกรณ์ 6 เตาของโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์แห่งนี้ ได้รับความเสียหายอย่างหนักหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นสึนามิในวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ระบบทำความเย็นของเตาปฏิกรณ์ขัดข้อง แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย และเกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสี
ผู้คนนับหมื่นต้องอพยพออกจากเขตหวงห้ามรอบโรงงาน ขณะที่พนักงานของ โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก้) บริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ พยายามซ่อมแซมเตาปฏิกรณ์ จนกระทั่งเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เทปโก้จึงประกาศว่า เตาปฏิกรณ์กลับสู่ภาวะเสถียรแล้ว
"แม้เริ่มต้นขึ้นมาจากมหาภัยพิบัติดังกล่าว แต่อุบัติเหตุที่เกิดตามมาในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติธรรมชาติ ทว่า เป็นภัยพิบัติจากฝีมือมนุษย์อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ควรจะสามารถคาดการณ์และป้องกันได้”
ภายหลังการตรวจสอบนาน 6 เดือน คณะกรรมาธิการอิสระชุดนี้สรุปว่า วิกฤตนิวเคลียร์นี้เป็นผลจากการสมทบกันของความผิดพลาดทั้งในฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานกำกับตรวจสอบ และเทปโก้ ซึ่งส่งผลให้ระบบการควบคุมล้มเหลวไม่เป็นท่า
รายงานแจกแจงว่า สถานการณ์ของโรงงานดังกล่าวเลวร้ายลงหลังแผ่นดินไหวเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล “ทำงานไม่เป็น"
คณะกรรมาธิการระบุว่า ฝ่ายบริหารของเทปโก้รู้ดีว่ามีความล่าช้าในการทำงานเพื่อป้องกันเหตุแผ่นดินไหวและการเลื่อนมาตรการรับมือสึนามิ รวมทั้งรู้ว่าโรงงานฟูกูชิมะ ไดอิชิมีความเสี่ยง
บริษัทแห่งนี้ยังล้มเหลวในการรับมืออย่างทันท่วงทีตั้งแต่ภัยพิบัติเริ่มต้น ซึ่งปัญหามาจากโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่ตัวบุคคล
รายงานยังชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการสื่อสารระหว่างเทปโก้กับสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็คือ เนาโตะ คัง เพราะการที่ คัง เดินทางไปยังที่เกิดเหตุทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว กลายเป็นการ “เบี่ยงเบนความสนใจ” ของบรรดาพนักงานเทปโก้
“สำนักนายกรัฐมนตรีควรติดต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในโรงงาน โดยผ่านทีมเฉพาะกิจ แต่กลับสั่งการไปที่สำนักงานใหญ่ของเทปโก้และโรงงานที่เกิดเหตุ ทำให้เกิดความสับสนในสายการบังคับบัญชา”
ขณะเดียวกัน สำนักงานความปลอดภัยอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (ไนซา) แม้รับรู้ว่าเทปโก้ชะลอการดำเนินการต่างๆ แต่กลับไม่ออกคำสั่งชัดเจน เรื่องนี้บ่งชี้ว่า ไนซาเองไม่ได้เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่มีความรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้เลยเช่นเดียวกัน
คณะกรรมาธิการแนะนำให้ ไนซา ละทิ้งทัศนคติอันคับแคบในการละเลยมาตรฐานความปลอดภัยสากล และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความไว้วางใจได้ในระดับโลก เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของโรงงานนิวเคลียร์ของประเทศ
รายงานของคณะกรรมาธิการอิสระชุดนี้ยังชี้ว่า สาเหตุของอุบัติเหตุนิวเคลียร์คราวนี้ อาจจะไม่ได้มีเพียงการโถมซัดเข้ามาของคลื่นยักษ์สึนามิภายหลังแผ่นดินไหว หากแต่ยังน่าจะมาจากตัวแผ่นดินไหวเองด้วย ทั้งนี้ ข้อสังเกตเช่นนี้อาจจะส่งผลให้มีแรงกดดันรัฐบาลญี่ป่น ให้ต้องตรวจสอบและหามาตรการรับมือเพิ่มเติมขึ้นอีก ก่อนที่จะเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่ยังคงถูกปิดอยู่
ผลการศึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เป็นรายงานฉบับที่ 3 ในการตรวจสอบวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดใน 1 ชั่วอายุคนคราวนี้ โดยที่ฉบับแรกนั้นจัดทำโดยเทปโก้ ซึ่งสรุปว่า แผ่นดินไหวและสึนามิมีความรุนแรงเกินความคาดหมาย จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ทว่า รายงานฉบับที่ 2 จากกลุ่มนักวิชาการและผู้สื่อข่าวที่เผยแพร่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ ชี้ว่าเทปโก้สามารถและควรทำได้ดีกว่าที่ทำไป
ทั้งนี้ โรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมดในแดนปลาดิบปิดทำการหลังภัยพิบัติ แต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1) เตาปฏิกรณ์แห่งแรกกลับมาทำงานอีกครั้งในโรงงานที่ฟูกูอิ และทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ในโตเกียว
กระนั้น นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ เรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนการดำเนินการนี้โดยระบุว่า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และขณะนี้รัฐบาลยังคงอยู่ระหว่างการประเมินว่าโรงงานนิวเคลียร์ปลอดภัยเพียงพอที่จะเปิดทำการอีกครั้งหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น