xs
xsm
sm
md
lg

อัสซาด-ฝ่ายต่อต้าน'ซีเรีย'รุมจวก แผน'มหาอำนาจ'ให้ตั้งรบ.ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – บรรดาชาติมหาอำนาจมีมติประนีประนอมกันในวันเสาร์(30 มิ.ย.) ให้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจและคลี่คลายวิกฤตการเมืองในซีเรีย โดยที่ไม่มีการพูดถึงบทบาทของประนาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดอย่างชัดเจน ทั้งนี้แม้ฝ่ายตะวันตกยังคงยืนกรานว่าผู้นำผู้นี้ต้องลงจากเวที แต่รัสเซีย-จีนก็ย้ำว่าบุคคลภายนอกไม่สามารถตัดสินใจแทนชาวซีเรีย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าทั้งสื่อทางการและกลุ่มต่อต้านต่างแสดงปฏิกิริยารุมจวกแผนการนี้ว่าเป็นความล้มเหลว
เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ได้ร่วมหารือกับรัฐมนตรีจากชาติอาหรับ ได้แก่ กาตาร์ ตุรกี คูเวต และอิรัก ภายใต้การนำของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน ในฐานะผู้แทนยูเอ็นและชาติอาหรับ ที่นครเจนีวาเมื่อวันเสาร์ หลังจากเจรจากันนานหลายชั่วโมง ทั้งหมดเห็นพ้องกับแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรียด้วยการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ข้อตกลงนี้มีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งลึกซึ้งระหว่างค่ายตะวันตกกับค่ายจีน-รัสเซีย เกี่ยวกับวิธีการยุติความรุนแรงที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียระบุว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 15,800 คนนับจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
แม้ไม่ได้ระบุชื่อผู้ใดในร่างข้อตกลง แต่อันนันสำทับว่า ชาวซีเรียคงจะไม่เลือกคนที่มือเปื้อนเลือดเข้าร่วมรัฐบาลแห่งความปรองดอง
ขณะที่ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวชัดเจนว่า ประธานาธิบดีอัสซาด ต้องไป เช่นเดียวกับลอรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ที่ระบุว่า อัสซาดต้องลงจากอำนาจ และรัฐบาลชั่วคราว “ต้องไม่มีฆาตกร”
วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ยอมรับว่าข้อตกลงครั้งนี้มาจากการประนีประนอม เนื่องจากรัสเซียยืนกรานว่า การตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ พร้อมกันนี้เฮกยังติงว่า ที่ประชุมไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับปัญหาการขายอาวุธให้ซีเรียและการดำเนินการในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลงโทษคว่ำบาตรรัฐบาลซีเรีย
อย่างไรก็ตาม เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอัสซาด กล่าวย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเช่นนี้ จะดำเนินการไปอย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องใช้ชาวซีเรียเป็นผู้ตัดสินใจ โดยต้องไม่มีการเรียกร้องให้กีดกันกลุ่มใดออกไปจากกระบวนการนี้ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หยาง เจียฉือ ก็ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะทำการตัดสินใจแทนชาวซีเรียได้
ต่อมาในวันอาทิตย์ (1) ทั้งสื่อทางการซีเรีย และกลุ่ม โลคัล โคออร์ดิเนชัน คอมมิตตี (แอลซีซี) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้าน ต่างออกมาประณามข้อตกลงดังกล่าว เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์อัล-บาธของพรรครัฐบาลดามัสกัส ที่วิจารณ์ว่าข้อตกลงที่เจนีวาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และที่ประชุมคราวนี้เป็นเพียงการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่ขยายวงให้กว้างขวางขึ้น แต่จุดยืนของผู้เข้าร่วมคงเดิม
ด้านแอลซีซี ซึ่งดำเนินการประท้วงในซีเรีย ก็โจมตีว่าผลการประชุมฟ้องถึงความล้มเหลวครั้งใหม่ในการยอมรับจุดยืนร่วมกัน และว่าแผนการเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นเพียงข้อเรียกร้องอีกเวอร์ชันของผู้นำรัสเซียที่เป็นพันธมิตรของอัสซาด และพยายามใช้ความกดดันของนานาชาติมาปิดบังกิจกรรมทางการทหารและการเมืองของตนเอง
แอลซีซียังระบุว่า ข้อตกลงจากเจนีวาเต็มไปด้วยถ้อยคำคลุมเครือที่เอื้อให้ลิ่วล้อของอัสซาดมีโอกาสยื้อเวลาเพื่อปราบปรามขบวนการปฏิวัติของประชาชนด้วยความรุนแรง
ทางด้าน ฮายัต อัลวี นักวิเคราะห์สถานการณ์ตะวันออกกลางของวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐฯ ไม่มั่นใจว่าอัสซาดจะยอมรับข้อตกลงนี้ และการบังคับใช้คงเกือบเป็นไปไม่ได้
ขณะเดียวกัน ซีเรียน ออบเซอร์วาทอรี ฟอร์ ฮิวแมน ไรต์ส อันเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ตั้งฐานอยู่ในลอนดอนรายงานว่า วันเสาร์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 83 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และผู้คนอีกนับร้อยติดอยู่ในเมืองดูมา ทางเหนือของกรุงดามัสกัส ขณะที่กองทัพรัฐบาลบุกเข้าไปในเมือง
เหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่ารุนแรงที่สุดคือ การยิงปืนครกใส่งานศพในเมืองซามากา ทางตะวันออกของดามัสกัส ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น