xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณ ชวนปชป.เข้าร่วมรัฐบาล : ข่าวจริงหรือเท็จ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 กำลังรอลงมติวาระ 3 และกฎหมายปรองดองกำลังจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา มีอันต้องชะลอออกไปเพราะทางศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งการให้ชะลอไปก่อนเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลตามที่มีผู้ร้องว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้มีกระแสข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรได้ส่ง 2 ท่านผู้หญิงและ 1 ชายไปทาบทามให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ภายใต้เงื่อนไขจะไม่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายปรองดอง

แต่ดูเหมือนว่าในทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกมา ได้มีบรรดา ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย และบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงออกมาแสดงความเห็นในเชิงปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ดาหน้าออกมายืนยันข่าวนี้ จึงทำให้ผู้ฟังซึ่งเป็นคนกลางไม่ใช่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยเกิดความสับสนว่าควรจะเชื่อใครดี ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับทางพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียน ทั้งในฐานะคนบริโภคสื่อและคนทำสื่อ มีความเห็นในทางคล้อยตามพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าทางด้านพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ถ้าดูความได้เปรียบในทางสังคมระหว่างอดีตนายกฯ ทักษิณกับทางด้านพรรคประชาธิปัตย์แล้ว จะเห็นว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาเล็กน้อย ถ้าเทียบกันหลังจากแพ้การเลือกตั้งครั้งใหม่ และในทางตรงกันข้าม ทางพรรคเพื่อไทยนับจากชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลมาจนถึงการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และเสนอกฎหมายปรองดอง จะเห็นว่าทุนทางสังคมของพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยมี โดยเฉพาะในหมู่คนรากหญ้าอย่างล้นหลาม บัดนี้ร่อยหรอลงเกือบจะเรียกได้ว่าติดลบด้วยซ้ำ จะเห็นได้จากการแตกแยกกันในหมู่คนเสื้อแดง และการพ่ายแพ้การเลือกตั้งในสนามการเมืองท้องถิ่นหลายที่ รวมไปถึงการเมืองนอกสภาเพื่อคัดค้านการแก้กฎหมาย และเสนอกฎหมายปรองดองจนทำให้ต้องมีการเลื่อนการพิจารณาออกไป ทั้งๆ ที่ถ้าว่ากันด้วยจำนวน ส.ส.ในสภาแล้วพรรคเพื่อไทยชนะแน่นอน แต่ไม่กล้าเพราะกลัวการพ่ายแพ้ทางสังคมนั่นเอง

2. ในการทำงานของรัฐบาลนับตั้งแต่เริ่มต้นไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะทำให้สถานภาพของพรรคดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือการสนองความต้องการตามนโยบายที่แถลงไว้ เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อต้องการพลังหนุนในการแก้กฎหมาย และเสนอกฎหมาย จึงทำให้ทางด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะคนอยู่เบื้องหลังอันเปรียบเสมือนโค้ชของรัฐบาลชุดนี้เกิดความไม่แน่ใจขึ้นมา และนี่เองที่อาจทำให้ต้องหันไปหาพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นแนวร่วมทางการเมืองก็เป็นได้

3. ถ้ามองในแง่พฤติกรรมศาสตร์แล้ว อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีบุคลิกภาพและอุปนิสัยขั้นพื้นฐานพอจะไปกันได้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งในอดีตก็เคยมีมิตรภาพกันอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่าทักษิณทาบทามเทพเทือกก็ทำให้คนไม่น้อยเชื่อว่าข่าวนี้เป็นจริง มากกว่าที่เห็นด้วยหรือคล้อยตามพรรคเพื่อไทยที่ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ โดยอ้างความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยเหนือพรรคประชาธิปัตย์

4. เหตุผลในทางตรรกะประการสุดท้าย ถ้ามองด้านยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในวันนี้ของอดีตนายกฯ ทักษิณ เทียบกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าอดีตนายกฯ ทักษิณค่อนข้างเสียเปรียบในทางการเมือง ไม่ว่าจะด้วยความล้มเหลวในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือของอดีตนายกฯ ทักษิณเองที่ยิ่งพูดยิ่งทำให้สถานะของตัวเองตกต่ำในทางสังคมลงเรื่อยๆ จะเห็นได้ชัดเจนจากการออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยของแกนนำเสื้อแดง เมื่อทักษิณโฟนอินมาบอกว่า จะพูดเป็นครั้งสุดท้าย และขอบคุณคนเสื้อแดงที่ส่งขึ้นฝั่งซึ่งเป็นเหตุให้คนเสื้อแดงหลายคนไม่พอใจ และตีตัวออกห่าง ถึงแม้ว่าต่อมาอดีตนายกฯ ทักษิณได้ออกมาแก้ตัวว่าสัญญาณไม่ดี ก็คงไม่มีผลให้คนที่เคยเชื่อว่าถูกปล่อยเกาะกลับมาดีเหมือนเดิมได้มากนัก

โดยนัยในเชิงตรรกะ 4 ประการนี้ จึงทำให้เชื่อได้ว่าข่าวทักษิณทาบทามพรรคประชาธิปัตย์เป็นเรื่องจริงมากกว่าเป็นเรื่องเท็จ

แต่ก็มีข้อสงสัยอยู่บางประการเกี่ยวกับระยะเวลาในการออกมาเปิดเผยของพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทำไมเพิ่งมาเปิดเผยในช่วงนี้ แทนที่จะเปิดเผยทันทีที่ได้รับการทาบทาม

อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่เห็นด้วยก็คือ ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก พรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะเก็บหลักฐานการติดต่อทาบทาม และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเครดิตทางการเมืองของพรรคให้น่าเชื่อถือมากขึ้น

ไม่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นข่าวจริงหรือเป็นข่าวเท็จ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านได้รับก็คือ ทำให้มองเห็นธาตุแท้ของนักการเมืองว่า แท้จริงแล้วไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นอกจากผลประโยชน์เท่านั้นที่ถาวร

ดังนั้นจึงสรุปได้ง่ายๆ ว่า ถ้านักการเมืองฮั้วอำนาจกันได้เมื่อใด เมื่อนั้นประชาชนจะเป็นผู้เสียประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น