xs
xsm
sm
md
lg

'ตะวันตก'กดดัน'พม่า'ฟื้นความสงบ เรียกร้องส่งผู้สังเกตการณ์เข้ายะไข่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - “คลินตัน” และ “อียู” เรียกร้องทางการพม่าฟื้นฟูความสงบ และนำความปรองดองมาสู่ชาวพุทธและชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ขณะกลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ กระตุ้นให้พม่าอ้าแขนรับผู้สังเกตการณ์นานาชาติลงพื้นที่ เพื่อกดดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระงับการใช้ความรุนแรง

ความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธยะไข่ กับ ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ ลุกลามเป็นความรุนแรงในรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ หลังเกิดกรณีการข่มขืนฆ่าหญิงชาวพุทธคนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมีการกล่าวหาว่ามุสลิมคือฆาตกร นำไปสู่การแก้แค้นนองเลือดระหว่างกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (11) ว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ตอกย้ำความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาจะต้องเคารพกันและกัน รวมทั้งความพยายามในการบรรลุความปรองดองแห่งชาติในพม่า

“เราขอเรียกร้องให้ชาวพม่าร่วมมือกันเพื่อนำพาประเทศไปสู่สันติสุข ความมั่งคั่ง และความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการเคารพในสิทธิของประชาชนทุกคน” คลินตันสำทับว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นห่วงสถานการณ์ในยะไข่อย่างมาก

วันเดียวกัน มาจา โคซิจานิก โฆษกของแคทเธอลีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ได้เแสดงความพอใจกับมาตรการรับมือความรุนแรงของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งโฆษกผู้นี้ระบุว่าหากปล่อยให้ความไม่สงบลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้ อาจบ่อนทำลายกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอชต์ องค์การด้านสิทธิมนุษยชนที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ วิจารณ์การรับมือของเต็งเส่งว่า เป็นการโอนอำนาจการควบคุมสถานการณ์ให้แก่กองทัพ ที่ระดมยิงชาวโรฮิงญานับตั้งแต่ความไม่สงบปะทุขึ้นในรัฐยะไข่

อีเลน เพียร์สัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ส วอชต์ ประจำเอเชีย แถลงเมื่อวันอังคาร (12) ว่ารัฐบาลพม่านิ่งเฉยและปล่อยให้เหตุการณ์นองเลือดในยะไข่ลุกลามจนเกินการควบคุม พร้อมเรียกร้องให้ทางการพม่าอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติอิสระลงพื้นที่เพื่อกดดันให้ทุกฝ่ายระงับความรุนแรง

ทั้งนี้ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวมุสลิมและชาวพุทธพากันเผาบ้านของอีกฝ่ายในซิตตะเว เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐยะไข่ ขณะเดียวกันก็มีชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนพยายามพายเรือหนีไปยังบังกลาเทศ แต่ถูกผลักดันกลับสู่ฝั่งพม่า

ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวโรฮิงญาพยายามเรียกร้องขอสัญชาติและสิทธิพลเมืองเต็มขั้นที่มีมาแต่กำเนิด แต่รัฐบาลพม่าปฏิเสธ โดยปฏิบัติต่อชนกลุ่มนี้ในฐานะผู้ลักลอบอพยพจากบังกลาเทศ ขณะที่บังกลาเทศปฏิเสธสถานะผู้อพยพของชาวโรฮิงญานับจากปี 1992

เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดนับจากรัฐบาลกึ่งพลเรือนและเน้นการปฏิรูปของพม่า เข้าบริหารประเทศแทนกองทัพเมื่อปีที่แล้ว และเริ่มเปิดรับแนวคิดพหุนิยมทางการเมือง รวมทั้งประกาศจัดการปัญหาความแตกแยกด้านชาติพันธุ์

ทางการพม่าบอกว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก หลังจากเกิดการต่อสู้ในเมืองมองตอเมื่อวันศุกร์ (8) และลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังเมืองซิตตะเวและหมู่บ้านใกล้เคียง แต่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานตอนเย็นวันอังคาร โดยอ้างเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลพม่ารายหนึ่ง กล่าวโดยขอให้สงวนนามว่า ความรุนแรงในช่วง 5 วันที่ยะไข่ มีผู้เสียชีวิตไปราว 25 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

ทางด้านสถานีเอ็มอาร์ทีวีของรัฐบาลแจ้งว่า มีการประกาศเคอร์ฟิวใน 3 เมือง ซึ่งรวมถึงตั่งตะแว และ จ๊อกพยิว ตอกย้ำความเสี่ยงต่อความพยายามของพม่าในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยว่าได้อพยพเจ้าหน้าที่กว่า 40 คนออกจากเมืองมองตอ ที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่จำนวนมากแล้ว

กระทั่งวันจันทร์ยังคงมีเสียงปืนดังในแถบชานเมืองซิตตะเว ขณะที่กลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวพุทธออกตระเวนบนท้องถนนพร้อมหอกไม้ไผ่และมีด ทั้งที่ทางการห้ามประชาชนในรัฐนี้ออกจากบ้านในยามวิกาลตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ยะไข่ รัฐที่อยู่ติดกับบังกลาเทศ แม้ชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ แต่เป็นที่อาศัยของมุสลิมจำนวนมาก รวมถึงชาวโรฮิงญาที่ยูเอ็นระบุว่า เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก

ชาวมุสลิมในพม่าที่สืบเชื้อสายจากอินเดีย จีน และบังคลาเทศ มีสัดส่วนเพียง 4% ของประชากรราว 60 ล้านคนที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

จากข้อมูลของยูเอ็น มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพม่าเกือบ 800,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่ และอีกกว่าล้านคนเชื่อว่าอาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ

มีรายงานว่า ชาวโรฮิงญา 600 คนชุมนุมในกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันอังคาร เพื่อประท้วงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า และเรียกร้องให้ยูเอ็นเข้าแทรกแซงเพื่อฟื้นความสงบ
กำลังโหลดความคิดเห็น