xs
xsm
sm
md
lg

'ยะไข่'ยังระอุหลัง'พุทธ'ปะทะ'มุสลิม' วิตกกระทบต่อภาพลักษณ์ใหม่พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่ายังคงตึงเครียด หลังเกิดการปะทะนองเลือดระหว่างชาวพุทธกับอิสลามในเมืองใหญ่ที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่ กระทบต่อการท่องเที่ยวและแนวโน้มการลงทุนของต่างชาติ รวมทั้งการปฏิรูปประชาธิปไตย
เจ้าหน้าที่พม่าเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (11) ว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนมากในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดนับจากรัฐบาลกึ่งพลเรือนบริหารประเทศแทนรัฐบาลทหารเมื่อปีที่แล้ว ได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปหลายๆ ด้าน รวมทั้งประกาศเป้าหมายในการทำให้พม่าซึ่งเป็นประเทศมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย มีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยุติสงครามระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย
ความรุนแรงในรัฐยะไข่คราวนี้ปะทุขึ้นเมื่อวันศุกร์ (8) ในเมืองมองตอ และลุกลามไปยังซิตตะเว เมืองหลวงของรัฐดังกล่าว รวมทั้งหมู่บ้านใกล้เคียง กระทั่งรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อคืนวันอาทิตย์ (10) และห้ามประชาชนออกจากบ้านในยามวิกาล
ควันดำตลบอบอวลในหลายจุดของเมืองซิตตะเว เมืองท่าที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ และชาวพุทธกับชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างไม่ค่อยราบรื่นนัก
ซอว์ เทย์ ปลัดสำนักประธานาธิบดีเผยว่า ได้สั่งการให้กองทัพเข้าคุ้มครองสนามบินและหมู่บ้านต่างๆ ในซิตตะเว และกำลังมีการดำเนินการเพื่อประกาศเคอร์ฟิวในเมืองอื่นๆ
ตัวประธานาธิบดีเต็งเส่งได้รีบเร่งออกแถลงทางทีวีเมื่อวันอาทิตย์ว่า การแก้แค้นและภาวะอนาธิปไตยอาจลุกลามออกนอกยะไข่ และสั่นคลอนแผนการผ่องถ่ายสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ
เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้บ่อนทำลายเสถียรภาพและเอกภาพด้านชาติพันธุ์ที่มีส่วนโน้มน้าวให้อเมริกาและยุโรประงับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าในปีนี้ ขณะที่การประกาศเคอร์ฟิวเพิ่มอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนของต่างประเทศ รวมทั้งยังอาจบีบให้เต็งเส่งต้องเผชิญปัญหาที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์มานานปี นั่นคือชะตากรรมของมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่อย่างน่าสังเวชตามแนวพรมแดนระหว่างพม่ากับบังกลาเทศ และถูกเหยียดหยามจากชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในยะไข่
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประเมินว่า มีชาวโรฮิงญาประมาณ 800,000 คนอยู่ใน 3 เขตของรัฐยะไข่ที่ติดกับบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะพลเมืองทั้งจากพม่าและบังกลาเทศ ซ้ำยังถูกข่มเหง เลือกปฏิบัติ และแสวงหาผลประโยชน์ อาทิ บังคับใช้แรงงาน ถูกจำกัดการเดินทางและการแต่งงาน รวมทั้งการศึกษา
อีเลน เพียร์สัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ประจำเอเชียระบุว่า การข่มเหงอย่างเป็นระบบยาวนานนับสิบปีโดยทางการพม่านำไปสู่การก่อความรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญาเรียกร้องมานานแล้วให้ทางการพม่ายอมรับในฐานะชนพื้นเมืองที่มีสิทธิความเป็นพลเมืองเต็มขั้น แต่รัฐบาลปฏิเสธและจัดให้ชนกลุ่มนี้เป็นเพียงผู้ลักลอบอพยพจากบังกลาเทศ
ทางการโทษว่าชาวโรฮิงญาเป็นสาเหตุของความรุนแรงครั้งนี้ โดยผู้เห็นเหตุการณ์ในเมืองมองตอเล่าว่า ชาวโรฮิงญาจู่โจมทำลายบ้านชาวพุทธเมื่อวันเสาร์
ในทางกลับกัน นักเคลื่อนไหวโรฮิงญากล่าวหาชาวพุทธว่าโจมตีชุมชนของตน
คืนวันอาทิตย์ความตึงเครียดเริ่มบานปลาย สถานีทีวีของรัฐประกาศเคอร์ฟิวในอีก 3 เมืองของยะไข่ อาทิ ตั่งตะแว เมืองท่องเที่ยวที่ลือชื่อเรื่องชายหาด และ จ๊อกพยิว ที่จีนกำลังสร้างท่าเรือขนาดใหญ่
ทหารเดินทางถึงซิตตะเวตั้งแต่วันเสาร์ แต่ชาวบ้านบางคนบอกว่า กองกำลังความมั่นคงได้แต่ดูความรุนแรงเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาโดยไม่ทำอะไร ขณะที่อดีตเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งบอกว่า ทหารช่วยชาวพุทธทำลายบ้านคนมุสลิม
รัฐยะไข่อยู่ในความตึงเครียดมากว่าสัปดาห์หลังจากมีรายงานว่าหญิงชาวพุทธคนหนึ่งถูกฆ่าข่มขืนโดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม ทำให้ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งโกรธแค้นและไล่ฆ่าชาวมุสลิม 10 คน สื่อของรัฐรายงานว่า มีการดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย 3 คนในศาลเมื่อวันศุกร์ (8)
เจ้าหน้าที่เผยว่า หลังจากนั้นชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนออกมาก่อความรุนแรงในมองตอ โดยมีอาคารบ้านเรือนราว 500 หลังถูกทำลาย นำไปสู่การประกาศเคอร์ฟิว
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของทางการพม่ารายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า ตำรวจและทหารสามารถฟื้นฟูความสงบในมองตอและพื้นที่ใกล้เคียงได้แล้ว กระนั้น ในบทบรรณาธิการมีการเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ โดยเตือนว่าสภาพอนาธิปไตยไร้ขื่อแปเป็นภัยต่อกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น