xs
xsm
sm
md
lg

รื้อรัฐวิสาหกิจ ขสมก.หนักสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กิตติรัตน์" มอบนโยบาย กนร.แก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ หวังเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด สั่งรื้อ ขสมก.แก้ปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง พร้อมปรับปรุง 6 รสก.หนุนภาคการเกษตรและสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานต่อไป

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการฯ ได้ผลักดันวาระต่างๆ เข้าที่ประชุม เพื่อให้การดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน โดยที่ประชุม กนร. ได้มีมติดังนี้

พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการประชาชน โดย ขสมก. โดยการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) 3,183 คัน พร้อมทั้งการปรับปรุงเส้นทาง โครงสร้างองค์กรและพนักงานให้สอดคล้องกับแนวทางการให้บริการ

จัดทำแผนปรับบทบาท (พลิกฟื้น) ของรัฐวิสาหกิจประกอบไปด้วยองค์การตลาด (อต.) จะเพิ่มบทบาทของตลาด 5 แห่งทั่วประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าชุมชนและปัจจัยผลิตทางการเกษตร นอกจากการเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าบริโภคและอุปโภคโดยทั่วไป

องค์การคลังสินค้า (อคส.) จะเน้นไปที่การเป็นผู้ให้บริการธุรกิจคลังสินค้าและบริการสินค้าเกษตรครบวงจร และปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ประสานงานด้านสินค้าเกษตรเป็นผู้จำหน่ายไปยังผู้บริโภคโดยผ่านช่องทางผู้ค้าส่ง ร้านค้าพันธมิตร หรือตัวแทนจำหน่ายประจำจังหวัดทั่วประเทศ องค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร (อ.ต.ก.)ให้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล การพัฒนากิจการค้าเพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้แก่องค์กร และการบริหารจัดการด้านการเงินขององค์กร องค์การสะพานปลา (อสป.) ได้พิจารณาย้าย อสป. เพื่อให้ อสป. สามารถพัฒนาโครงการสะพานปลากรุงเทพตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนร. ได้มีมติรับทราบการยุติบทบาท บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) โดยการยุบเลิกตามที่คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ที่มีมติรับทราบและเห็นชอบตามผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ครั้งที่ 1/2554 เนื่องจาก บทด. ไม่มีเรือในความครอบครอง และไม่มีธุรกรรมการเดินเรือใดๆ ประกอบกับธุรกิจที่เอกชนสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี รัฐจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้บริการในธุรกิจดังกล่าว

ทั้งนี้ สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนร. จะนำเสนอผลการประชุม กนร. ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น