xs
xsm
sm
md
lg

เร่งหาสาเหตุปลาตายที่กระบี่ พายุฤดูร้อยถล่มเหนือ-อีสานยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ชาวประมงพื้นบ้านกระบี่ผวา ไม่กล้าเก็บปลาตายบริเวณหน้าหาดยาวและหาดปากหรา หลังพบปลาทยอยตายต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ ด้าน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ระบุยังไม่ทราบสาเหตุการตาย เตรียมลงพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำวันนี้ ด้านภาคเหนือ-อีสานโดนพายุฤดูร้อนถล่มเสียหายยับหลายพื้นที่

จากกรณีที่ชาวประมงบ้านปากหรา และบ้านหาดยาว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ พบปลาหลายชนิดทยอยตายและลอยขึ้นมาบริเวณชายหาดทั้งสองแห่งจำนวนนับ 100 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นปลาผิวดิน เช่น ปลาทราย ปลาจวด ปลาใบปอ หลังชาวบ้านทราบข่าวแห่ไปเก็บปลากันเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ทราบว่าปลาตายเพราะสาเหตุใด เบื้องต้นกรรมการสมาคมชาวประมง จ.กระบี่ ได้เก็บตัวอย่างปลาส่งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรวจสอบแล้ว

ต่อมาวานนี้ (29 เม.ย.) ชาวประมงพื้นบ้านปากหราได้แจ้งว่ายังพบปลาตายลอยขึ้นมาอีกจำนวนมาก และลอยบริเวณผิวน้ำด้วย และบางส่วนก็ส่งกลิ่นเน่าเหม็นตลบอบอวลเนื่องจาก ตายต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ห้าแล้ว โดยนายเชม คลองยวน อายุ 65 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า วันนี้ยังพบปลาลอยบริเวณชายหาดอีก มีเพียงแต่ไปเดินดูเท่านั้นแต่ไม่มีชาวบ้านไปเก็บปลาบริเวณชายหาดแล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายเพราะปลาตายมากผิดสังเกต มีเพียงบางคนที่เก็บปลาเน่าเอาไปทำปุ๋ยหมักเท่านั้น

ด้านนายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กล่าวว่า ได้รับทราบข่าวปลาตายแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด จะต้องเก็บตัวอย่างปลาที่เพิ่งตาย และน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบด้วย โดยจะลงพื้นที่ในวันนี้ (30 เม.ย.)

นายชิตณรงค์ บ่อหนา กรรมการบริหารสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งพบปลาลอยตายอยู่บริเวณชายหาดจำนวนมาก โดยชาวบ้านเล่าว่าปลาเริ่มทยอยตายมาประมาณ 3 วันติดต่อกันแล้ว จึงได้เข้ามาตรวจสอบดู เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนปลาที่ตายส่วนใหญ่จะเป็นปลาผิวดิน เช่น ปลาทราย ปลาจวด ปลากระบอก เป็นต้น ซึ่งสังเกตจากที่ชาวบ้านเก็บปลาตายที่หน้าหาดคาดว่าจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม โดยหลังจากนี้จะเก็บตัวอย่างปลาที่ตายส่งไปให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ ตรวจสอบหาสาเหตุการตายต่อไป

นางจงจิ้น มาศโอสถ อายุ 65 ปี ชาวประมงพื้นบ้านบ้านปากหรา กล่าวว่า เหตุการณ์ปลาตายเริ่มเกิดขึ้นมาประมาณ 3-4 วันแล้ว โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมาขณะตนไปลงเรือที่หน้าหาดเพื่อออกไปจับปลากลางทะเล พบปลาตายลอยเกลื่อน จึงแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบ จากนั้นชาวบ้านก็พากันไปเก็บปลาได้คนละไม่ต่ำกว่า 5-10 กก. บางรายก็เอาไปทำความสะอาด และหมักเกลือทำปลาเค็มตากแห้ง บางคนเอาไปทำปุ๋ยหมักเพราะไม่กล้าเอาไปกิน เนื่องจากไม่รู้ว่าปลาตายจำนวนมากขนาดนี้เป็นเพราะสาเหตุอะไร ตั้งแต่ตนเกิดมาไม่เคยพบเห็นปลาตายจำนวนมากขนาดนี้ กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดี

**พายุฝน-ลูกเห็บตกถล่มแม่ทะ

วานนี้ (29 เม.ย.) ที่บริเวณบ้านแม่ทะหลวง หมู่ 1 และหมู่ 9 ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่ทะได้เร่งออกซ่อมแซมและต่อสายไฟฟ้าเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนได้ใช้อีกครั้ง หลังจากเมื่อคืนวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาได้เกิดพายุฝนกระหน่ำและลูกเห็บตกลงมาอย่างรุนแรงจนสร้างความเสียหายไปทั่วพื้นที่ และยังส่งผลให้กระแสไฟฟ้าดับทั้งอำเภอแม่ทะ และอำเภอใกล้เคียงเป็นเวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากต้นไม้กิ่งไม้ขนาดใหญ่ล้มทับสายไฟฟ้าจนขาด โดยที่บริเวณวัดบ้านป่าม่วง หมู่ 8 ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง พบว่าต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าจนได้รับความเสียหายไปถึง 4 ต้น

โดยในเช้าวานนี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งออกให้ความช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว นอกจากนี้ ทางผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่นได้ประกาศเสียงตามสายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาลงชื่อผู้ได้รับความเดือดร้อน เพื่อที่จะได้เร่งประสานขอความช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นในเช้าวันนี้พบว่ามีบ้านเรือนที่ถูกพายุพัดกระเบื้องและสังกะสีมุงหลังคาปลิวหายไปประมาณ 10 หลังคาเรือน ขณะที่ความเสียหายอื่นๆ ที่พบได้แก่ต้นไม้หักโค่น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงแล้ว

**พายุฤดูร้อนถล่ม“เชียงม่วน”3ตำบล

ที่ จ.พะเยา วานนี้ นายประสิทธิ์ สมัคร นายก อบต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา พร้อมด้วยนายพงษ์เดช ศรีชัยบุญสูง ปลัดเทศบาลฯ และนายสกุลศักดิ์ บัวชุม กำนันตำบลบ้านมาง ออกสำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนที่ถูกพายุฤดูร้อนและพายุลูกเห็บพัดถล่มเมื่อคืนวันที่ 28 เม.ย.โดยมีบ้านเรือนในเขตเทศบาลฯ ได้รับความเสียหายรวม 13 หมู่บ้าน 1,220 หลังคาเรือน และมีบ้านที่ได้รับความเสียหายหลังคาถูกลมพัดปลิวหายไป 30 หลัง และยังมีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าอีก 1 ราย

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะให้การช่วยเหลือบ้านที่ไม่มีหลังคาให้สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ก่อน ส่วนบ้านที่เสียหายเล็กน้อยจะให้การช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป ซึ่งจากการสำรวจ และรายงานจากศูนย์รับแจ้งเหตุ ณ บ้านกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน พบว่ามีความเสียหายคิดเป็นกระเบื้องประมาณ 2 หมื่นกว่าแผ่นและสังกะสีประมาณ 3 หมื่นกว่าแผ่น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 แสนกว่าบาท โดยยังไม่รวมพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจ ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุได้รายงานให้นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ทราบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา เร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือแล้ว

วันเดียวกัน นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายก อบจ.พะเยา ได้เข้าพื้นที่สำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งประชุมหารือกับนายประสิทธิ์ นายสมชัย อุ่นตาล นายก อบต.บ้านมาง และนายก้องเกียรติ ไชยลังกา นายก อบต.สระ ซึ่งต่างก็ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนเช่นกัน โดยในเขต อบต.บ้านมาง มีบ้านเรือนเสียหาย 505 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,359 ไร่ ส่วนที่ อบต.สระ บ้านเรือนเสียหาย 241 หลังคาเรือน

**พายุฤดูร้อนถล่ม10หมู่บ้านที่น่าน

ส่วนที่ จ.น่าน นายพินิจ จักคำ นายก อบต.น้ำแก่น พร้อมด้วยนายไล กันทะ กำนันตำบลน้ำแก่น อ.ภูเพียง จ.น่าน ได้เร่งออกสำรวจบ้านเรือนราษฎรที่ถูกพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำเสียหายเมื่อเช้าวานนี้ (29 เม.ย.) โดยพายุฝนได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ 10 หมู่บ้านของตำบลน้ำแก่น รวมกว่า 30 หลังคาเรือน

โดยบ้านที่ได้รับเสียหายหนักที่สุด คือ บ้านของนายสำราญ ดีอุด เลขที่ 98 หมู่ 7 บ้านนาล้อม ต.น้ำแก่น ซึ่งพายุได้พัดหอบเอาหลังคาบ้านปลิวไปกลางทุ่งนาไกลกว่า 200 เมตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่นอนและข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วจำนวน 10 กระสอบ ถูกฝนเปียกเสียหายหมด นอกจากนี้พายุฝนยังได้สร้างความเสียหายแก่ต้นยางพาราอายุ 8-10 ปี ซึ่งกำลังให้น้ำยางของชาวบ้าน 200 กว่าราย หักโค่นล้มระเนระนาดเหลือแต่ตอ เสียหายรวมกว่า 15,000 ต้น มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท

**กาฬสินธุ์เร่งช่วยชาวบ้านกว่า2พันหลัง

ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาได้เกิดพายุฤดูร้อนถล่มบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่เป็นจำนวนมาก ต่อมานายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ความเสียหายจากพายุฤดูร้อน พร้อมนำถุงยังชีพมอบแก่ประชาชนเพื่อเป็นการปลอบขวัญและบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดพื้นที่ที่ประสบภัยพายุฤดูร้อนมีพื้นที่บริเวณกว้างทั้งหมด 6 อำเภอ 18 ตำบล 140 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก 1,250 หลังคาเรือน นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนและสถานที่ที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยอีกจำนวนมาก ซึ่งรวมแล้วเกือบ 2,500 แห่งที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้

นอกจากนี้ ฤทธิ์ของพายุฤดูร้อนยังสร้างความเสียหายทำให้มีสายไฟฟ้าขาดและเสาไฟฟ้าล้มในหลายพื้นที่ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในเขต อ.เมืองกาฬสินธุ์ (บางส่วน) อ.สหัสขันธ์ และ อ.กมลาไสย ไม่สามารถจ่ายไฟได้เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น