xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หนุนแบงก์ไปAECบัวหลวงรุกสาขาอินโดฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติหวัง AEC จะเป็นตัวช่วยลดข้อจำกัดปัจจัยการทำธุรกิจได้ เปิดทางให้ภาคสถาบันการเงินเลือกรูปแบบและกำหนดยุทธศาสตร์เอง ขณะที่ระดับทางการจะช่วยเจรจาแต่ละประเทศ ด้านแบงก์กรุงเทพเปิดสาขาย่อยสุราบายาเป็นแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย หวังปีนี้ดันยอดสินเชื่อโตเพิ่มเป็น 50% หรือยอดสินเชื่อขยับเป็น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.มีแนวคิดจะสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ภาคสถาบันการเงินไทยในการเลือกรูปแบบและกำหนดยุทธศาสตร์เอง เพื่อเตรียมความพร้อมของสถาบันการเงินไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาซียน (AEC) โดยเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดข้อจำกัดปัจจัยการทำธุรกิจได้ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและได้รับประโยชน์มากที่สุด จึงควรเรียนรู้และปรับตัวให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคสถาบันการเงินที่ต่างชาติจะเข้ามาไทยมองว่าเรื่องนี้ยังไม่น่าห่วงมากนัก เพราะช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาและขยายเครือข่ายจนแน่นหนาเสมือนเป็นป้อมปราการที่ข้างนอกจะเข้ามาตีไม่ใช่เรื่องง่าย

นายโฆสิต ปั้มเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศ 17-18%ของสินเชื่อรวม ซึ่งส่วนนี้มีของกลุ่มอาเซียนคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินเชื่อดังกล่าว และมองว่าแนวโน้มสินเชื่อต่างประเทศมีโอกาสโตได้อีก เพราะเชื่อว่าธุรกิจของธนาคารและของลูกค้าจะสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ และส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากเรื่องของ AEC

ปัจจุบันในกลุ่มอาเซียน ธนาคารได้เปิดสาขาเกือบทุกประเทศ ยกเว้นบรูไน กัมพูชา และพม่า แต่ตอนนี้ธนาคารกำลังดำเนินการขอทางการประเทศนั้นๆ อยู่ ซึ่งอยากทำให้ได้ก่อนจะเปิด AEC ในปี 58 และล่าสุดธนาคารได้เปิดสาขาย่อยสุราบายาเป็นแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย ทำให้ขณะนี้สาขาธนาคารกรุงเทพที่เปิดทั้ง 2 แห่งและมีลูกค้าคนไทยใช้บริการสาขาดังกล่าวในสัดส่วน 10%

ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดสาขาในต่างประเทศเริ่มต้นจากธนาคารมีลูกค้าชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มค้าขายกับลูกค้าประเทศต่างๆ มากขึ้น และในส่วนของประเทศอินโดนีเซีย ธนาคารเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2508 หรือเมื่อ 47 ปีที่แล้ว โดยในปีก่อนพอร์ตสินเชื่อในตลาดอินโดนีเซียเติบโตถึง 30% หรือมีจำนวนสินเชื่อ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากความผันผวนสถานการณ์ยุโรปปรับตัวดีขึ้นและสหรัฐมีการฟื้นตัวคาดว่าสินเชื่อในกลุ่มนี้จะโตได้ตามเป้าหมายในปีนี้ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการขยายตัวถึง 50%.
กำลังโหลดความคิดเห็น