xs
xsm
sm
md
lg

สี่แผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ละครประกอบเพลงเรื่อง “สี่แผ่นดิน” เพิ่งจบการแสดงไป นับเป็นปรากฏการณ์ในวงการละครที่มีการแสดงถึง 100 รอบเหมือนกับละครบรอดเวย์ส่วนใหญ่

ละครเวทีเริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแบบที่ฝรั่งเล่นกัน ของไทยเราแต่เดิมมีโขนและลิเก มาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงนิพนธ์เอง และทรงแสดงเองด้วย แต่ก็ยังไม่ได้เป็นละครเพลงแบบฝรั่ง ที่บรอดเวย์ละครเพลงหลายเรื่องเล่นกันเป็นปี ดาราหนังหลายคนก็เคยเป็นนักแสดงบรอดเวย์มาก่อน การที่คนไทยได้ดูละครเพลงดีๆ ก็ต้องขอบคุณศิลปินกลุ่มหนึ่ง และมีผู้อำนวยการสร้างที่เอาการเอางาน ใจถึงอย่างคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็ทำให้เราได้ดูละครดีๆ เป็นระยะๆ

เมื่อผมเป็นเด็ก ละครเวทีเล่นกันที่ศาลาเฉลิมไทย เรื่องที่โด่งดังคือ “พันท้ายนรสิงห์” และ “ดรรชนีนาง” ละครทั้งสองเรื่องนี้ ไม่ใช่ละครเพลงในความหมายที่แท้จริง คือ ไม่ได้ร้องตลอดเรื่อง มีเพลงๆ เดียวซึ่งเป็นเพลงเอกคือ ในพันท้ายนรสิงห์เป็นเพลง “น้ำตาแสงใต้” ส่วนดรรชนีนางได้แก่เพลงดรรชนีนาง เพลงนี้มาภายหลังมีคนร้องคนหนึ่งชื่อ “ใจรัตน์” ร้องเพราะมากอยู่ในแผ่นเพลงคลาสสิกของประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง

เรื่องสี่แผ่นดินที่นำมาทำเป็นละครเพลงนี้ ต้องถือว่าเป็น “การตีความ” นวนิยายขนาดยาวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใครไม่ได้ไปดูต้องเสียใจ หวังว่าคงจะมีการอัดซีดีออกมาให้คนที่ไม่ได้ชมได้ชมกัน

ก่อนอื่นต้องขอชมผู้ทำบทที่สามารถย่อเรื่องได้ใจความดีมาก โดยนำเอาเหตุการณ์สำคัญในสมัยต่างๆ ขึ้นมา และสินจัย เปล่งพานิช เป็นตัวบรรยายนำเรื่อง การทำฉากก็ทำได้ดีสวยงาม แสงก็ดีเยี่ยม นักแสดงแต่ละคนก็เล่นได้ดี ร้องเพลงเพราะ เพลงแต่ละเพลงซาบซึ้งกินใจมาก ทุกคนชื่นชมแม่พลอยวัยเด็กคือ ด.ญ.ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ เสียง และความรู้สึกดีมาก สามารถสะกดอารมณ์ผู้ดูได้เป็นอย่างดี ณัฐนิชเป็นเด็กอายุ 12 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์ วันนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนมาดูด้วย บอกกับผมว่า ดูเป็นรอบที่ 6 แล้ว ร้องไห้ทุกครั้ง ณัฐนิช ร้องเพลงในวงออเคสตร้าของโรงเรียนด้วย เสียงหวาน ร้องทีไรคนก็น้ำตาซึมทุกครั้งไป เด็กคนนี้มีพรสวรรค์ เราอยากติดตามผลงานของเธอไปเรื่อยๆ

หนังสือสี่แผ่นดินเป็นนวนิยายขนาดยาว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนลงในสยามรัฐรายวัน คนติดกันงอมแงม มีเรื่องเล่าว่าถึงตอนแม่พลอยท้อง คนก็ส่งมะม่วงเปรี้ยวมาให้ถึงโรงพิมพ์ ผมเองอ่านสี่แผ่นดินตั้งแต่ยังเด็ก และอ่านสักสิบเที่ยวเห็นจะได้ไม่เคยเบื่อเลย เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนโดยใช้ภาษาง่ายๆ แต่ไพเราะลึกซึ้งกินใจ เราได้รู้ชีวิตของคนในสมัยก่อน โดยเฉพาะชีวิตในวังซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ ได้รู้ถึงความคิด ความเชื่อ ประเพณีต่างๆ มากมาย

แม่พลอยเป็นตัวแทนของหญิงไทยที่มีเส้นทางชีวิตแบบชนชั้นสูงทั่วไป แม้ว่าจะไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ แต่พลอยก็ได้รับการอบรมเช่นนั้น ความคิดของพลอยจึงผูกพันอยู่กับเจ้านายและวัง พลอยเป็นแม่ที่ดี รักลูกเท่าๆ กัน และใจกว้างที่รักลูกคุณเปรมด้วย ลูกๆ ของพลอยมีความคิดที่แตกต่างกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกภายในครอบครัว ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพราะความคิดทางการเมือง บทสนทนาระหว่าง ตาอินกับตาอั้นกินใจมาก และดูสมสมัย เมื่อคิดถึงข้อเสนอของนักวิชาการเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่น่าสังเกตก็คือการปรบมือของคนดู เมื่อเสวี สามีประไพ พูดว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างไร

การ “ตีความ” สี่แผ่นดินนั้น เป็นไปในทางที่เน้นความสำคัญ ความเป็นศูนย์กลางแห่งความจงรักภักดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้ถูกตอกย้ำด้วยเพลงในเรื่องโดยเฉพาะเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” เสียดายที่ไม่เห็นนักวิชาการหัวก้าวหน้าพวกสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ไปดู พวกนี้คงวิจารณ์ว่าเป็นการตีความแบบอนุรักษนิยมเจ้ายิ่งกว่าผู้ประพันธ์เสียอีก

ตัวเอกของเรื่องสวยสง่าทั้งคู่ ทั้งแม่พลอยยามสาว (พิมดาว พานิชสมัย) และสินจัย สินจัยเป็นที่รู้จักกันดี แต่แปลกใจก็คือ พิมดาวที่ผมไม่ทราบมาก่อนว่าเธอเป็นนักแสดง เสียงก็เพราะ คงเป็นนักแสดงสมัครเล่น สินจัยเข้าถึงบทเหมือนเคย ส่วนพิมดาวนั้นต้องกล่าวว่า “อนาคตไกล” หากจะมีการแสดงอีก

สุดท้ายต้องปรบมือให้วงดนตรีซึ่งบรรเลงได้ยอดเยี่ยมมาก ตลอดเวลา 3 ชั่วโมง ผมดูละครเพลงเรื่องนี้อย่างมีความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น