xs
xsm
sm
md
lg

Commodities Corner:Flower Futures

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากพูดถึงเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เชื่อว่า คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงวันแห่งความรักเป็นอย่างแรก และดูเหมือนว่าชอคโกแลตและดอกกุหลาบจะเป็นพระเอกและนางเอกของเทศกาลนี้ไปแล้ว ด้วยความต้องการซื้อที่มากมายในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่ามีข่าวเกี่ยวกับราคาของสิ่งเหล่านี้ทุกปี โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ที่พากันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้เขียนเองเคยเห็นนักศึกษาหัวการค้า นำโอกาสนี้มาสร้างธุรกิจคล้ายกับร้านดอกไม้ แต่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า นั่นก็คือ การเปิดขายดอกกุหลาบล่วงหน้าให้กับนักศึกษาด้วยกันเอง โดยจะมีใบสั่งซื้อให้ระบุว่า ต้องการดอกกุหลาบสีอะไร จำนวนเท่าไหร่ และบางครั้งก็มีการบริการนำไปส่งให้ด้วย หากคนให้ขี้อายเกินกว่าจะไปมอบด้วยตัวเอง ซึ่งราคาที่ขายส่วนใหญ่จะแบ่งตามพันธุ์ของดอกไม้ แต่แม้ว่าจะไม่ได้มีหลากหลายพันธุ์ให้เลือกเยอะเท่ากับร้านค้า แต่ว่าคะแนนเรื่องความสะดวกนั้นคงมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาด้วยกันเอง นอกจากเรื่องความสะดวกในการซื้อหาแล้ว ยังถือเป็นส่วนช่วยลดความเสี่ยง กรณีที่หาซื้อดอกกุหลาบไม่ได้ในช่วงวันวาเลนไทน์ และกรณีที่หาซื้อได้แต่ระดับราคาสูงเกินจะรับไหว อีกด้วย แต่การสั่งซื้อดอกกุหลาบโดยสามารถกำหนดราคาไว้ล่วงหน้าแบบนี้ดูจะมีความเสี่ยงเล็กน้อย ตรงที่ว่า หากราคาดอกกุหลาบที่เราไปหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ถูกกว่าที่เราสั่งไปแล้ว ก็เท่ากับว่า เราจะเสียเงินแพงกว่าที่ควรจะเป็น แต่ในทางตรงกันข้าม หากราคาในท้องตลาดแพงกว่าที่เราสั่งไป นั่นก็ถือเป็นกำไรของเราที่เสียเงินในราคาที่ถูกกว่า ลักษณะจึงคล้ายกับการทำ Forward

ระดับราคาของดอกกุหลาบที่แพงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทความที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการซื้อขายล่วงหน้าที่ระบุว่า เคยมีการซื้อขายทิวลิปล่วงหน้า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ด้วย เนื่องจากดอกทิวลิปจะแสดงถึงความมีระดับทางสังคม จึงมีความต้องการหัวทิวลิปในช่วงนั้นสูงมาก ทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมา และด้วยอายุของต้นทิวลิปที่กว่าจะให้ดอกนั้นจะต้องใช้เวลาปลูกอย่างช้าสุด 12 ปี เมื่อหัวเติบโตกลายเป็นดอกแล้ว จึงจะมีหัวใหม่โตขึ้นมาแทน ทำให้ความต้องการมีมากกว่าปริมาณในตลาดมากนัก หลังจากนั้น มีการค้าขายหัวทิวลิปกันโดยการลงนามในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อหน้าทนายความ และในปี ค.ศ. 1636 ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เริ่มก่อตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มีการซื้อขายหัวทิวลิปตอนสิ้นฤดู แต่สุดท้าย ตลาดทิวลิปก็ล่มสลายลงในช่วงต้นปี ค.ศ. 1637 โดยไม่มีการส่งมอบรับมอบหัวทิวลิปจริงเลย ทั้งนี้ มีนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้กันในหลายมุมมอง โดยบางฝ่ายมองว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องฟองสบู่แตก คือ มีนักเก็งกำไรเข้าซื้อหัวทิวลิปด้วยความคิดที่ว่า ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอีก แล้วนำไปขายต่อ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงระดับหนึ่งที่ไม่มีใครยอมซื้อแล้ว จึงเกิดปัญหาขึ้น และแม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือแต่ก็ไม่เป็นผล นอกจากนี้ ยังมีบางฝ่ายที่มองว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่เป็นเหมือนการเล่นพนันกันในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะไม่มีตลาดซื้อขายล่วงหน้าดอกกุหลาบกัน แต่เราคงจะต้องมีการวางแผนรับมือกับราคาสินค้าที่ดูเหมือนจะพุ่งสูงขึ้นเฉพาะช่วงเวลาอย่างนี้ โดยอาจจะตกลงกับแม่ค้าเจ้าประจำ สั่งดอกไม้จากร้านจัดดอกไม้ที่กำหนดราคาไว้ชัดเจน หรืออาจจะซื้อดอกกุหลาบให้แฟนล่วงหน้าก่อนวันวาเลนไทน์ ก็ดูจะเป็นอีกหนทางที่น่าสนใจดีไม่น้อย แต่ไม่ว่าอย่างไร ดอกกุหลาบก็เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาเพื่อเป็นรูปธรรมแทนความรัก หากมีดอกกุหลาบให้แต่ไร้ซึ่งความรักที่จริงใจ มันก็ไม่มีประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น