xs
xsm
sm
md
lg

พม่าก๊าซล้นปตท.ไล่ขุดเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.สผ.เตรียมเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งM3ในพม่า เพิ่มเติม เพื่อดูปริมาณสำรองและคุณภาพก๊าซฯก่อนศึกษาต่อยอดการใช้ประโยชน์ก๊าซฯในด้านใดบ้างในปีนี้ หลังรัฐบาลเสนอนำก๊าซฯเกือบทั้งหมดในแหล่งนี้มาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศ "ไพรินทร์"ไม่ห่วงพม่าทบทวนสัญญาการขายก๊าซฯที่ทำไว้ ชี้พม่ามีศักยภาพที่จะค้นพบก๊าซฯและน้ำมันอีกมากเชื่อว่าเหลือเพียงพอส่งออก

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯจะเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มเติมในแหล่งM3 อีก 2 หลุม เพื่อประเมินปริมาณสำรองและคุณภาพก๊าซฯในแหล่งดังกล่าวว่าจะพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางใด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากแหล่งM3 อย่างไม่ไกลจากเมืองย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของสหภาพพม่า ดังนั้นรัฐบาลพม่าจึงต้องการให้นำก๊าซฯจากแหล่งดังกล่าวมาใช้ภายในประเทศเกือบทั้งหมด เนื่องจากเมืองย่างกุ้งยังขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอีกมาก

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯเชื่อว่าแหล่งM3 น่าจะมีก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพดี โดยรัฐบาลพม่ามีแนวคิดที่จะนำก๊าซฯดังกล่าวมาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยปตท.สผ.จะทำการศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์จากก๊าซฯได้อย่างไร หากพบว่าก๊าซฯดังกล่าวมีส่วนผสมก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก็อาจจะดำเนินการตั้งโรงแยกก๊าซฯเพื่อแยกLPG และก๊าซฯที่เหลือป้อนโรงไฟฟ้าต่อไป โดยจะนำผลการศึกษาดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลพม่าภายหลังการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมแล้วเสร็จ

สำหรับแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่บริษัทฯได้รับสัมปทานจากพม่าอีก 2 แปลง มีพื้นที่ขนาดใหญ่ 1.3 หมื่นตร.กม.นั้นคงต้องใช้เวลาในการสำรวจ แต่เชื่อว่าแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวมีศักยภาพดีในการพบปริมาณก๊าซฯและน้ำมัน

นายอนนต์ กล่าวความคืบหน้าโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) ในออสเตรเลีย ว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาเบื้องต้นทั้งด้านเทคนิค ขนาดเรือFLNG และขนาดโครงการ รวมไปถึงเงินลงทุนที่ใช้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2556 ทั้งนี้บริษัทฯต้องมีการเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินปริมาณสำรองก๊าซฯที่แหล่งแคชแอนด์เมเปิลอีก 1 หลุมในกลางปีนี้ก่อนตัดสินใจ ซึ่งเดิมบริษัทฯมีแผนพัฒนาผลิตLNGขนาด 2 ล้านตันต่อปี แต่เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตได้สูงกว่านี้แล้ว

ส่วนการเข้าไปซื้อกิจการแหล่งLNG เพิ่มเติมในออสเตรเลียนั้น ต้องศึกษาอย่างรอบคอบภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและราคาพลังงานที่ผันผวนเช่นนี้ โดยขณะนี้ก็ยังมีการเจรจาพูดคุยอยู่แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยปีนี้บริษัทฯจะเน้นโครงการปิโตรเลียมที่มีอยู่ในมือพัฒนาให้ผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาทิ แหล่งบงกชใต้ แหล่งมอนทาราที่ออสเตรเลีย คาดว่าผลิตน้ำมันดิบได้ 3.5 หมื่นบาร์เรลต่อวันในไตรมาส3/2555 และโครงการออยล์แซนด์ที่แคนาดา คาดว่าจะผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1.7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเป็น 2 หมื่นบาร์เรลต่อวันในปีนี้ เป็นต้น เพื่อให้บริษัทฯเติบโตเฉลี่ยปีละ 10 %

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า แนวโน้มสหภาพพม่ามีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลพม่าทบทวนการการขายก๊าซฯออกนอกประเทศนั้น ตนเชื่อว่าไม่มีปัญหาส่งผลกระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซฯเดิมที่ปตท.ทำไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากประเทศพม่ามีศักยภาพอีกมากที่จะพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม ทำให้มีปริมาณปิโตรเลียมเหลือพอใช้ภายในประเทศและเหลือส่งออกได้ นอกจากนี้ หากปตท.สผ.เจาะสำรวจพบปริมาณสำรองก๊าซฯในแหล่งM3 มีคุณภาพก๊าซฯที่จะแยกLPGออกมาได้ ปตท.ก็สนใจลงทุนโรงแยกก๊าซฯและต่อยอดไปธุรกิจไฟฟ้าด้วย

นายไพรินทร์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทมีแนวคิดที่จะแยกธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์( NGV) ออกมาเป็นบริษัทเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อความชัดเจนทั้งทรัพย์สินและรายได้-รายจ่ายในทางบัญชี ทำให้ข้อกล่าวหาว่าปตท.หมกเม็ดหมดในการระบุต้นทุนราคาNGV ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมเพื่อการประเมินราคา NGV แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ

อย่างไรก็ตาม หากแยกNGV ออกมาเป็น Social Enterpriseแล้วนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม โดยไม่หวังผลกำไรเข้ามาถือหุ้นก็เป็นแนวทางที่ต่างประเทศทำอยู่ ซึ่งหวังว่าตลาดหลักทรัพย์น่าจะมีกลุ่มธุรกิจแบบนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

สำหรับการประชุมประจำปี World Economic Forum(WEF) ครั้งที่ 42 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 26-29 ม.ค.ที่ผ่านมา นายไพรินทร์ กล่าวว่า ไทยได้รับความสนใจจากประชาคมโลก ซึ่งการเติบโตเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ที่เอเชียตะวันออก รวมถึงอาเซียนที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดดเด่นในปีนี้ เนื่องจากยุโรปยังมีความน่ากังวลเรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งในเดือน มี.ค.นี้ กรีซจะครบกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ หากไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสและมีผลทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ขณะที่ปัญหาตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิหร่านจะเป็นตัวกดดันให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นได้

ดังนั้น ปตท.ต้องมีมาตรการรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทฯได้รับใบรับรองระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เลขที่ 22301-2553 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ(สรอ.) รายแรกของประเทศไทย บ่งชี้ให้เห็นว่าปตท.มีขีดความสามารถที่จะผ่านพ้นช่วงภาวะวิกฤตต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น