ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผอ.โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต แจงกรณีญาติผู้ป่วยร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ไม่ยอมให้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษา หากจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไม่ครบไม่เป็นความจริง ที่ต้องใช้เวลานานเพราะอยู่ในขั้นตอนประสานงานกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและประวัติของคนป่วย
ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์จักร สมณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต(รพ.อบจ.ภูเก็ต) แถลงข่าวกรณีที่ นายณรงค์พล สุวรรณโมสิ ได้ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 9 ม.ค. กรณีการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตในการดูแลรักษาผู้ป่วยราย นางพา คงจีน ว่า โรงพยาบาลข้อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว ว่า ผู้ป่วยราย นางพา คงจีน อายุ 75 ปี ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 ต.ค.54 ด้วยอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะเกลือแร่ต่ำ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งโรงพยาบาลให้การรักษาด้วยดีตามมาตรฐานวิชาชีพด้วยดีตลอดมา ซึ่งเดิมผู้ป่วยเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ตามประวัติมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ และภาวะไตวายเรื้อรัง
จนกระทั่งวันที่ 29 ธ.ค54 ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะออกน้อย แพทย์วินิจฉัยว่า มีภาวะโรคไต จึงย้ายผู้ป่วยเข้าไอซียู และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาเฉพาะทางโรคไตประจำโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้รับคำแนะนำว่า ควรส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เนื่องจากจะได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด และมีศักยภาพทางการแพทย์ที่สูงกว่า อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ครบครัน เนื่องจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ในขณะที่โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ
นายแพทย์ จักร ชี้แจงต่อว่า แพทย์ได้อธิบายให้ คุณสุมาลี สุวรรณโมสิ ซึ่งเป็นญาติผู้ป่วยทราบเหตุผลความจำเป็นที่ต้องส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อดูแลในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยแล้ว ซึ่งญาติผู้ป่วยรับทราบ และยินยอมให้ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ โรงพยาบาลไม่ได้ขับไสไล่ส่งตามคำร้องเรียนแต่อย่างใด
หลังจากได้รับความเห็นชอบจากญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลได้ประสานกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ไม่ขัดข้อง จึงได้ประสานงานและจัดเตรียมเอกสารการรักษา ข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยเพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จนเวลาประมาณ 19.00 น.จึงได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากห้องไอซียู ขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉิน ส่งไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แผนกฉุกเฉิน หลังจากนั้น โรงพยาบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งในการเคลื่อนย้ายนั้นผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี พูดคุยรู้เรื่อง หายใจได้เอง ยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สัญญาณชีพ ชีพจร 120 ครั้ง/นาที หายใจ 22-28 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตอยู่ในระหว่าง 80-100/50-60 มิลลิเมตรปรอท ความเข้มข้นออกซิเจนในกระแสเลือด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงว่า ผู้ป่วยยังอยู่ในภาวะอาการคงที่ ยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
“การที่โรงพยาบาลนำผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล เมื่อเวลา 19.00 น. ไม่ใช่เพื่อให้ญาติผู้ป่วยนำเงินค่ารักษาพยาบาลมาชำระก่อนแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะอยู่ในระหว่างการประสานงานกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และจัดเตรียมเอกสารประวัติคนไข้ ประเด็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะโรงพยาบาลได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนค่ารักษาพยาบาลแม้จะไม่ได้รับในวันดังกล่าว ปกติโรงพยาบาลก็ยังสามารถเรียกเก็บได้ภายหลัง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ป่วยรายนี้จ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยดีมาโดยตลอด โดยได้จ่ายไปทั้งหมดก่อนหน้านั้นประมาณ 170,000 กว่าบาท และจ่ายงวดสุดท้ายก่อนที่จะส่งต่อผู้ป่วยอีก 84,000 กว่าบาท” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าว