xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาลรธน.ค้านเลิกม.112-พท.-สว.ยื่นแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ค้านแก้ ม.112 เหน็บได้ลงกินเนสบุ๊กแน่ หากยกเลิก เพราะไทยจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่คุ้มครองประมุขรัฐต่างประเทศ แต่ไม่คุ้มครองประมุขรัฐของตัวเอง แนะแก้นิสัยคนดีกว่าแก้รธน. ส.ส.เพื่อไทย และอดีต ส.ว.สรรหา ยื่นหนังสือรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอขอแก้รธน. มาตรา 291 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. 101 คน

วานนี้ ( 29 ธ.ค) ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ และนายเพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุล เข้าชื่อแสดงเจตจำนงเบื้องต้น ในการรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นคน เพื่อเสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ต่อ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 291 เปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.101 คน โดยมีสัดส่วนมาจากภาคประชาชน 77 จังหวัด และภาคนักวิชาการอีก 3 กลุ่ม กลุ่มละ 8 คน ซึ่งจะรวบรวมรายชื่อกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอต่อประธานรัฐสภา ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และคาดว่าที่ประชุมจะสามารถบรรจุระเบียบวาระได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มเสนอนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับร่างที่กลุ่มคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยเสนอ ซึ่งการพิจารณาของสภา จะมีการนำรายละเอียดจากร่างที่หลายกลุ่มเสนอมาพิจารณาร่วมกัน

** "สงวน"เสนอฉบับ"นิติราษฎร์"

ขณะที่ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เตรียมเสนอร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นกัน กล่าวว่า ร่างที่ตนเองเสนอนั้น เป็นคนละส่วนกับร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้รวมกับพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เพราะแบ่งหน้าที่กันเล่นเกมการเมือง แต่เพราะเสนอในคนละประเด็น โดยรายละเอียดบางส่วนตรงกับข้อเสนอของ นิติราษฎร์ คือ การคืนความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่บางส่วนก็ไม่ตรงกัน คือการสร้างความปรองดอง ไม่แก้แค้น และลบล้างผลของการรัฐประหาร โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เชื่อว่าหากเป็นไปตามกระบวนการ จะเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี จากนั้นหากจะมีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาล

**แก้นิสัยนักการเมืองดีกว่าแก้รธน.

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่จะให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิก เพราะในประมวลกฎหมายอาญา มีหมวดความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อยู่ในมาตรา 130-135 ที่บัญญัติในลักษณะเป็นการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ว่าใครจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายมิได้ มีทั้งโทษจำคุกและปรับ

ดังนั้น ถ้ายกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถามว่า เราจะคุ้มครองแต่ประมุขรัฐต่างประเทศเท่านั้นใช่หรือไม่ จะไม่คุ้มครองประมุขรัฐไทย จะไม่คุ้มครองใช่หรือไม่ ซึ่งตนเห็นเหมือนกับนักกฎหมายหลายคนที่แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ว่า คนที่คิดจะเลิก มาตรา 112 เขาต้องการที่จะหมิ่นสถาบันฯ โดยไม่ผิดกฎหมาย ใช่หรือไม่ ซึ่งกฎหมายอยู่ดีๆ ถ้าเขาไม่ไปหมิ่น ก็ไม่มีใครเดือดร้อน

"ถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 ก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่ บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ด้วย และถ้าเราทำจริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรก ที่ยกย่องประมุขต่างประเทศ ยิ่งกว่าประมุขของเราเอง แล้วก็จะได้ลงบันทึกกินเนสบุ๊กเลย" นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขมาตรา 309 ที่ส่งผลกระทบถึงองค์กรอิสระว่า ให้เขาแก้กันก่อน เพราะตอนนี้เท่าที่รับฟัง ยังไม่รู้ว่าจะแก้กันอย่างไร บางฝ่ายก็บอกว่ามี 6-7 ประเด็นที่ต้องแก้ ขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่า ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ จึงยังอยู่ในช่วงสับสนอยู่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับมีทั้งข้อดี ข้อเสีย แก้อย่างไร ก็ยังมีช่องน้อยๆ ให้หลีกเลี่ยง หลุดรอดไปได้ เพราะบ้านเราถือว่า คนที่เลี่ยงกฎหมายเก่ง ถือว่าเป็นนักกฎหมายที่เก่ง อย่างภาษีอากร ใครที่หลีกเลี่ยงกฎหมายจนทำให้จ่ายภาษีน้อยได้ ก็จะถือว่านักกฎหมายคนนั้นเป็นคนที่เก่ง

ดังนั้น กฎหมายเขียนอย่างไรก็ได้ ถ้าคนมีคุณธรรมปัญหาก็ไม่เกิด แก้นิสัยของคนจึงดีกว่าแก้กฎหมาย

"กฎหมายเขียนว่า ผู้ใดฆ่าคนอื่นจะถูกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีการฆ่ากัน ทั้งๆที่ในหลักพุทธศาสนา ก็ถือว่าเป็นบาปหนัก ดังนั้น ถ้าทุกคนมีธรรมในใจไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้ ก็เหมือนการแก้รัฐธรรมนูญ แก้ให้ดีอย่างไร ก็ยังจะมีคนหลีกเลี่ยง และเอาไปเป็นเครื่องมือตนเอง อย่างนักวิชาการบางกลุ่ม เคยพูดเลยว่า ถ้าศาลตัดสินมาอย่างไร เขาไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ซึ่งอันนี้มันก็อยู่ที่ใครมีหน้าที่อะไร" นายวสันต์ กล่าว

** ติงอาจย้อนสู่ยุคสภาผัว-เมีย

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เตรียมจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้มีส.ว.สรรหาว่า เมื่อไม่มี ส.ว.สรรหา ก็ไม่ควรต้องมีวุฒิสภาเลย เพราะถ้าเป็นส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว โดยมีฐานเสียงฐานเดียวกับส.ส. มันก็จะเข้าไปสู่ระบบเดิมคือ สภาผัว สภาเมีย ไม่เกิดระบอบการกลั่นกรองกฎหมาย การตรวจสอบถอดถอน ไม่มีประโยชน์

ดังนั้น ถ้าไม่มีส.ว.สรรหา ก็มีสภาเดียว แต่ก็ต้องมาดูกันอีกว่า หากมีสภาเดียวมันเหมาะสมหรือไม่ และหากมีสภาเดียว การตรวจสอบถอดถอนรัฐบาล องค์กรอิสระต่างๆใครจะเป็นคนทำ

"เราต้องมาตั้งโจทย์ว่า ความจำเป็นของวุฒิสภา มีหน้าที่อะไร ซึ่งส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบรัฐบาล ถ้าไม่มีแล้วใครจะตรวจสอบรัฐบาล หากในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยมีชนชั้นกลาง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนมีวิธีคิด พิจารณาโดยไม่ถูกชักจูง ผมว่าถึงเวลานั้น ส.ว.เป็น ส.ว.เลือกตั้งก็ได้ แต่ถามว่าขณะนี้เรามีความมั่นใจหรือไม่ว่าขบวนการที่จะเข้าสู่อำนาจ มีความถูกต้องชอบธรรม" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น