xs
xsm
sm
md
lg

“เขื่อนภูมิพล”ร่อนแถลงการณ์ย้ำความมั่นคง ยันไม่พังแน่เว้นแต่ถูกวินาศกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตาก - เขื่อนภูมิพลเริ่มพร่องน้ำมากขึ้น เตรียมรับมือน้ำใหม่ที่จะทะลักเข้าในหน้าฝนปี 55 พร้อมร่อนแถลงการณ์ย้ำความมั่นคงตัวเขื่อน โต้ข่าวลือเขื่อนพังสิ้นปีนี้ ยันเขื่อนไม่พังแน่นอกจากถูกวินาศกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตาก วานนี้( 26 ธ.ค.) ว่า เขื่อนภูมิพลได้ปรับแผนการระบายน้ำหลังจากภาคกลางกลับคืนสู่สภาวะปกติจากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ โดยระบายน้ำมากที่สุดคือวินาทีละ 650 ลูกบาศก์เมตร หรือวันละ 56 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปัจจุบันเขื่อนมีน้ำกักเก็บทั้งสิ้น 12,872 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 95.61 เปอร์เซ็นต์ของความจุ สามารถรับน้ำได้อีก 590 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งสิ้น 13 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจัดการคือ เราจะต้องระบายน้ำออกไป เพื่อจะรองรับน้ำใหม่หรือหน้าฝนใหม่ที่จะเข้ามา เรามีเวลาในการจัดการน้ำประมาณไม่เกิน 5 เดือน น้ำใหม่ก็จะเข้ามาแล้ว ซึ่งวันนี้เรามีการปรับแผนเริ่มปล่อยน้ำมากขึ้นและอนาคตก็ต้องระบายมากกว่านี้ แต่เขื่อนก็ต้องเตรียมการรองรับการระบายน้ำให้ดีเพื่อไม่ให้เดือดร้อนลุ่มเจ้าพระยาด้วย

นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนภูมิพล ได้มีแถลงการณ์ยืนยันและให้ความมั่นใจว่า เขื่อนภูมิพล มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย เนื่องจากเขื่อนภูมิพลถูกออกแบบให้ทนต่อการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ถึง 7.5 ริกเตอร์ โดยที่เขื่อนไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนหลักที่จะเกิดแผ่นดินไหว และปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเหตุผลหลักที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ปลอดภัยของตัวเขื่อนมี 3 ประการ ได้แก่ 1. เรื่องแผ่นดินไหว 2.เรื่องปริมาณน้ำมากหรือน้ำหลาก 3.การก่อวินาศกรรม

เหตุผลประการแรก เรื่องแผ่นดินไหว เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ที่ออกแบบและก่อสร้างให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยบริษัทผู้ออกแบบและก่อสร้าง เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง เป็นบริษัทเดียวกันกับที่ก่อสร้างเขื่อนฮูเวอร์ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นจึงมีความมั่นใจได้ในเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้างที่แข็งแรง ส่วนทำเลที่ใช้วางตัวเขื่อนก็เหมาะสมกับสภาพทางธรณีฐานรากและแรงกระทำจากแผ่นดินไหว ปลายเขื่อนทั้ง 2 ด้านค้ำยันอยู่กับเขาแก้ว ซึ่งเป็นภูเขาหินแกรนิตที่แข็งแกร่ง หากเขาแก้วทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้เขื่อนก็สามารถทนได้เช่นกัน

ประการที่ 2 เรื่องปริมาณน้ำมากหรือน้ำหลาก เขื่อนภูมิพลได้ออกแบบให้สามารถรับน้ำได้เต็มพิกัดที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีระบบป้องกันน้ำหลากที่สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนภูมิพลได้ผ่านการเก็บกักน้ำที่ระดับสูงสุดและน้ำหลากมาแล้วถึง 4 ครั้ง ในปี 2518 ปี 2545 ปี 2549 รวมทั้งในปี 2554 นี้ เก็บกักอยู่ที่ระดับ 99-100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลายาวนานติดต่อกันมากกว่า 2 เดือน และจากการคำนวณคาดการณ์ว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ระดับน้ำจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ของระดับกักเก็บสูงสุด ดังนั้น แรงกดดันของน้ำที่กระทำต่อตัวเขื่อนก็จะลดลง ซึ่งเขื่อนภูมิพลได้ผ่านแรงกระทำสูงสุดมาแล้ว

ประการที่ 3 การก่อวินาศกรรม เขื่อนภูมิพลได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัยแห่งชาติปี 2552 โดยมีแผนรองรับตามระดับความรุนแรงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากพิจารณาด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ จึงมีโอกาสน้อยมากที่เขื่อนจะพัง ในวันที่ 31 ธ.ค. 2554

“ขอวิงวอนให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในความแข็งแรงของเขื่อนภูมิพล อย่าได้วิตกกังวลตามกระแสข่าวลือ ซึ่งข่าวลือประเภทนี้เคยมีมาแล้วหลายครั้ง แต่เขื่อนก็ยังทำหน้าที่ของเขื่อนได้ดีเช่นเดิม”
กำลังโหลดความคิดเห็น