xs
xsm
sm
md
lg

คนเสื้อแดงกับระบอบประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร 


ผมพยายามทำใจให้เป็นกลาง ปราศจากอคติใดๆ เพื่อทำความเข้าใจต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างใช้พุทธิปัญญา แต่หลายต่อหลายครั้ง กับพฤติกรรมการแสดงออกของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะการใช้ความก้าวร้าวรุนแรงต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การปลุกระดมกันอย่างเมามันบนทุกเวทีการปราศรัย ถึงขั้นให้ล่าหัวตามฆ่าฝ่ายตรงกันข้าม หรืออย่างกรณียกพวกไปข่มขู่ กกต. ว่าถ้าไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จะยุบชีวิต กกต. อย่างนี้เป็นต้น รวมถึงการปลุกระดมให้เผาบ้านเผาเมือง เผาศาลากลาง อย่างที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งทางคลิปวิดีโอที่แพร่หลายอยู่ทั่วไป

ทำให้ผมอดงุนงงสงสัยไม่ได้ว่า ตกลงประชาธิปไตยในตรรกะและทัศนะของกลุ่มคนเสื้อแดง มันอันเดียวกับประชาธิปไตยตามหลักสากลของนานาอารยประเทศหรือไม่? เพราะประชาธิปไตยโดยหลัก คือ การมีสิทธิเสรีภาพ พร้อมกับการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย มิใช่หรือ? ประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีที่จะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน และยุติลงด้วยหลักเหตุผลตามมติเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งแม้แต่รัฐสภาไทย ที่คนเสื้อแดงเชิดชูบูชาว่ามาจากผลการเลือกตั้ง ก็มักจะใช้มติเสียงส่วนใหญ่โดยไม่คำนึงถึงหลักแห่งเหตุและผล

ระยะหลังมานี้ หลังจากประดิษฐ์วาทกรรมไพร่กับอำมาตย์ คนเสื้อแดงยอมรับหรือไม่ว่า ขบวนการคนเสื้อแดง มักจะมีปฏิกิริยาต่อสถาบันอย่างหมิ่นเหม่มาโดยตลอด ตั้งแต่การใช้สัญลักษณ์กำกวมไปจนถึงขั้นบังอาจจาบจ้วงล่วงละเมิดโดยตรง อย่างไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี

โดยหลักคิดประหนึ่งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่ เป็นสิ่งล้าหลังและกีดขวางการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่คนเสื้อแดงเรียกร้องต้องการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ตรรกะและหลักคิดของขบวนการคนเสื้อแดงเยี่ยงนี้ ทำให้ผมต้องหวนกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ย้อนหลังไปตั้งแต่ครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 6

ในยุคสมัยครั้งยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระมหากษัตริย์ในยุคนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างมาก ทรงยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ที่เขียนบทความโจมตีการเมืองการปกครอง โดยทรงใช้พระนามแฝง เช่น อัศวพาหุ รามจิต รามสูร ราม ณ กรุงเทพฯ เขียนโต้ตอบแสดงความคิดเห็นผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์เยี่ยงอย่างนักประชาธิปไตย 

และประจักษ์พยานสำคัญก็คือ ทรงจัดสร้างนครจำลองขึ้น เรียกชื่อว่า ดุสิตธานี เพื่อวางแนวทางให้ข้าราชการและข้าราชบริพารของพระองค์ได้เรียนรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ภายในดุสิตธานี จะจำลองสถานที่สำคัญต่างๆ ไว้ เช่น ที่ทำการรัฐบาล วัดวาอาราม บ้านเรือนราษฎร ที่ทำการไปรษณีย์ การไฟฟ้า การประปา โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครบทั้งหมด

ในนครจำลองนี้ จัดให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีประชาชนอาศัยอยู่เรียกว่า ทวยนาคร โดยทวยนาครจะทำการเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรเข้าไปเป็นกรรมการในคณะนคราภิบาล เรียกว่า “เชษฐบุรุษ” แล้วเชษฐบุรุษจะเลือกตั้งคณะรัฐบาลบริหารนคร เรียกว่า “คณะนคราภิบาล” มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ทวยนาครในดุสิตธานี ซึ่งเรียกว่า “ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล พุทธศักราช 2461”  มีการประกาศใช้ “กฎธานิโยปการ” เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการเก็บภาษีอากร ภาษีที่ดิน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อนำไปทำนุบำรุงนครดุสิตธานี

นั่นคือรากฐานที่กลุ่มคนเสื้อแดงควรจะได้รับรู้ไว้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ไทยทันการณ์ทันสมัย และได้วางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไว้ให้ตั้งแต่ประชาชนชาวไทยยังไม่เรียกร้องด้วยซ้ำไป

และเมื่อต่อเนื่องมาถึงรัชสมัย รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงริเริ่มทดลองการปกครองแบบเทศบาล เพื่อให้ราษฎรได้เรียนรู้การปกครองตนเอง ทรงตราพระราชบัญญัติการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก เมื่อ พ.ศ. 2469 โดยจัดตั้งสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลตะวันตก มีอาณาเขตตั้งแต่ตำบลชะอำไปถึงหัวหิน เป็นการฝึกหัดให้ประชาชนได้เรียนรู้การปกครองตนเองให้เกิดความชำนาญ อันเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในอนาคต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปเยือนสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2474 ปรากฏเป็นหลักฐานถึงแนวพระราชดำริที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ก็ได้ทรงมอบหมายให้ พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอนต์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชุม อภิรัฐมนตรีสภา และพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์กราบบังคมทูลคัดค้านว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควรเพราะราษฎรไทยยังไม่มีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยดีพอ รัชกาลที่ 7 จึงทรงเลื่อนการพระราชทานรัฐธรรมนูญออกไป จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติโดยคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยนับแต่นั้นมา

และในครั้งกระนั้นเอง ได้เกิดพระราชหัตถเลขาสำคัญถึงคณะรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ที่มีความตอนหนึ่ง อันเป็นอมตะสะกิดเตือนใจ ประชาชนคนไทยในระบอบประชาธิปไตยทุกๆ คนมาโดยตลอด ตราบเท่าทุกวันนี้

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

ผมย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยในอดีต เพื่อจะบอกต่อคนเสื้อแดงว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ล้วนเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ยึดเหนี่ยวได้ และล้วนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อประชาอาณาราษฎรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครองในระบอบใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น