xs
xsm
sm
md
lg

2 องค์กรสื่อย้ำก.วัฒนธรรม ยุติแก้พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 7 ธ.ค.) นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึง นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม คัดค้าน และเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรม ยุติการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่มีเนื้อหาเป็นเผด็จการ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน
หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาหลายประการ ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และสื่อมวลชน อีกทั้งขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดแจ้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยในการเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดกรมศิลปากร พนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัด ต้องไปจดแจ้ง ณ สำนักงานศิลปากรเขต ให้เป็นการจดทะเบียนต่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด จึงมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หาได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพสื่อมวลชนไม่
แต่เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแก้ไขร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ไม่เพียงหลักการที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” และถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากยังเป็นความพยายามที่จะตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิ และเสรีภาพนั้นมิได้ ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และให้กระทรวงวัฒนธรรมทบทวนอีกครั้งก็ตาม
สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลไม่มีเหตุผล ความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ เลย ที่จะแก้ไข พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ โดยหนังสือฉบับนี้ องค์กรสื่อทั้งสองจึงขอคัดค้าน และขอให้กระทรวงวัฒนธรรม ยุติการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ที่มีเนื้อหาเป็นการคุกคาม และลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในทุกรูปแบบและ ทุกกรณี
ขณะเดียวกันตัวแทนองค์กรสื่อทั้งสอง และตัวแทนรมว.วัฒนธรรม ได้หารือร่วมกันในประเด็นปัญหา การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ และประชาชน โดยตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรม รับว่าจะไม่มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ และจะจัดให้มีการสอบถามความเห็นสื่อมวลชนอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น