xs
xsm
sm
md
lg

"ข้าวสาร-น้ำพริก"หมดอายุโผล่บางบัวทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค.) ชาวบ้านหมู่บ้านบัวทอง 4 อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่าในวันเดียวกันนี้ นายวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้นำถุงยังชีพ มาแจกให้กับประชาชนภายในหมู่บ้าน 600 ชุด โดยภายในถุงยังชีพประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาทิ ข้าวสาร น้ำปลา และน้ำพริกตาแดง เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด กลับพบว่า ข้าวสารและน้ำพริกตาแดง หมดอายุ โดยถุงข้าวสารระบุว่า ผลิตเมื่อปี 2008 และควรบริโภคก่อนปี 2010
เมื่อพบเช่นนั้นชาวบ้านบางส่วนจึงนำถุงยังชีพดังกล่าวไปคืน แต่นายวันชัย ได้พยายามอธิบายว่า ข้าวสารไม่ได้หมดอายุ เป็นเพียงอายุของถุงที่บรรจุข้าวสารที่หมดอายุเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เชื่อคำชี้แจงของนายวันชัย บางส่วนได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่อีกหลายคนแสดงความไม่พอใจ และโยนถุงยังชีพทิ้งต่อหน้านายวันชัย
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อ นายวันชัยทางโทรศัพท์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง โดยนายวันชัยชี้แจงเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านได้เรียกร้องเข้ามา โดยกล่าวว่า ถุงที่บรรจุข้าวสาร มีระบุวันที่หมดอายุจริง แต่ความเป็นจริงข้าวสารไม่ได้หมดอายุ เป็นเพียงถุงที่บรรจุเท่านั้นที่ระบุวันหมดอายุ คาดว่าคนที่บรรจุ คงไม่ทันคิด
เมื่อถามต่อถึงกรณีของน้ำพริกตาแดง ที่หมดอายุเช่นกัน นายวันชัย ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยแนะนำให้ไปสอบถามกับทาง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นผู้จัดเตรียมถุงยังชีพดังกล่าว ส่วนตนเป็นแค่ผู้ที่มาแจกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนจะเก็บถุงยังชีพไว้เป็นหลักฐาน เพื่อตรวจสอบต่อไป
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้แจ้งไปยังนายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษก ศปภ. ถึงกรณีนี้ โดยนายวิม กล่าวว่า ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้ตรวจสอบไปยังนายวันชัย ก็ทราบข้อมูลเดียวกับสื่อมวลชน ที่นายวันชัย บอกว่าไม่ได้มีส่วนในการจัดซื้อ เป็นคนมาแจกอย่างเดียว จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป
ด้านนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผวจ.นนทบุรี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่ถุงยังชีพพดังกล่าว ไม่ใช่ของทาง จ.นนทบุรี หรือหน่วยงานราชการอย่างแน่นอน เนื่องจากก่อนที่จะนำสิ่งของไปแจกจ่าย ทางจังหวัดจะต้องมีการตรวจสอบของที่บรรจุอยู่ในถุงเสียก่อน อีกทั้งไม่เคยได้รับการประสานงาน หรือสั่งการให้ ส.ส.คนดังกล่าวนำถุงยังชีพไปบริจาค แต่อาจจะเป็นไปได้ที่ ส.ส.คนนั้น ได้ประสานกับภาคเอกชน นำของไปแจกเอง
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ยังมีพื้นที่ประสบภัยหลายจุด ซึ่งก็ได้มีหลายหน่วยงานนำสิ่งของเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งจากกลุ่มมูลนิธิต่างๆ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่มีจิตศรัทธา นำของมาบริจาคเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า ถุงยังชีพเหล่านั้นบางครั้งอาจจะเกิดการเน่าเสีย
ด้านพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. นิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องนี้ ก่อนจะบอกว่า ยังไม่ได้รับข้อมูล ว่ามีการกระทำดังกล่าว แต่จะตรวจสอบตามข้อเท็จจริงแน่ โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมระบุว่า ขณะนี้ทาง ศปภ.ไม่ได้มีหน้าที่แจกจ่ายถุงยังชีพแล้ว และได้มอบหมายให้ทางผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ไปดำเนินการแจกจ่ายกันเอาเอง

** ผู้ว่าฯกทม.ห่วงฝั่งตะวันตกยังอ่วม

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯว่า ขณะนี้ยังมีอีก 3-4 พื้นที่ ที่ยังมีน้ำท่วมขัง แต่มั่นใจว่าภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จะระบายน้ำออกได้หมด โดยเฉพาะชุมชนแอนเนกซ์ เขตสายไหม ที่ระดับน้ำยังสูง แต่ขณะนี้น้ำในคลอง 2 เริ่มลดลงแล้ว จึงเตรียมสูบน้ำลงคลองได้
"ยอมรับว่ายังมีความเป็นห่วงหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค เพราะมีพื้นที่กว้าง อีกทั้งน้ำในคลองทวีวัฒนา และคลองมหาสวัสดิ์ ยังมีระดับสูง ทางกทม.ได้นำเครื่องสูบน้ำและเครื่องดันน้ำไปติดตั้งตามแนวคลองด้านตะวันแล้ว ซึ่งหากน้ำในคลองพร่องลง ก็จะสามารถระบายน้ำในหมู่บ้านเศรษฐกิจลงคลองได้ทันที สำหรับเส้นทางหลัก ถ.บรมราชชนนี กับ ถ.วิภาวดีรังสิต บางแห่งนั้น หากไม่มีน้ำใหม่ลงมาก็คาดว่าภายใน 3-4 วัน น้ำจะแห้ง แต่หากมีน้ำใหม่ลงมาก็คาดว่า 2 สัปดาห์ น้ำจะแห้งได้"
ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 4 ธ.ค. 54 แจ้งการคลี่คลายสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กทม.รวม 11 เขต ประกอบด้วย จตุจักร ลาดพร้าว หลักสี่ บึงกุ่ม จอมทอง บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางพลัด ภาษีเจริญ บางขุนเทียน และบางบอน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนสามารถกลับเข้าพักอาศัยในบ้านเรือนของตนได้ตามปกติแล้ว

**พุทธมณฑลสาย 4 เปิดการจราจรแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านย่านพุทธมณฑลสาย 4 จำนวนกว่า 100 คน รวมตัวกันชุมนุมปิดถนน บริเวณถนนพุทธมณฑล สาย 4 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วมขังมาเป็นเวลานาน
ต่อมาได้มีการเจรจาร่วมกันโดยเจ้าหน้าเสนอจะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากซอยกระทุ่มล้ม 21 และจุดอื่นๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากชุมชนบริเวณดังกล่าว รวมไปถึงจัดรถรับส่งในการเดินทางเข้า - ออกหมู่บ้าน
ส่วนชาวบ้านเสนอให้มีการนำอีเอ็มบอลไปหย่อน เพื่อไม่ให้น้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้สลายการชุมนุมแล้ว

**สธ.ฟื้นฟู 7 อำเภอ จ.ปทุมฯ

วันเดียวกัน ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน 5 ธันวามหาราช รวมพลังคนไทย รวมหัวใจ ถวายพระพร เพื่อฟื้นฟู เยียวยาพื้นที่หลังประสบภัยน้ำท่วม ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธ.ค. 54 และปล่อยขบวนรถเพื่อทำกิจกรรมในพื้นที่ 7 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.สามโคก อ.หนองเสือ อ.ลำลูกกา อ.ลาดหลุมแก้ว และอ.คลองหลวง มีรถพ่นสารเคมีกำจัดยุง กำจัดแมลงวัน 10 คัน รถฉีดน้ำบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเน่าเหม็น 1 คัน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 6 ทีม หน่วยจิตแพทย์คลายเครียด สร้างพลังใจ สู้ภัยหลังน้ำลด 7 ทีม
นอกจากนี้ สธ. ได้กำหนดรณรงค์พร้อมกันใน 6 จังหวัด ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 1-5 ธ.ค.54 ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรสาคร และนครปฐม โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ในการกำจัด ยุง แมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรค เพื่อป้องกันโรคหลังน้ำลด เช่น โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง

**คมนาคมตั้งงบ 1 หมื่นล.ซ่อมถนน

กระทรวงคมนาคมจะเริ่มซ่อมแซม และฟื้นฟูเส้นทางสายต่างๆ ตั้งแต่เดือนธ.ค.ไปจนถึงเดือนก.พ.โดยกรมทางหลวงมีแผนจะเข้าซ่อมแซมในถนนสายหลัก และโครงข่ายสำคัญจำนวน 21 ทาง รวม 31 โครงการ คิดเป็นมูลค่าซ่อมบำรุงกว่า 1,879 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังคงมีโครงข่ายต่อเนื่องทั่วประเทศ 677 โครงการ ที่จะเริ่มเข้าซ่อมแซมและฟื้นฟู ไปจนถึงเดือนส.ค.ปีหน้า โดยกำหนดงบประมาณดำเนินการประมาณ 10,000 ล้านบาท
ขณะที่กรมทางหลวงชนบท จะฟื้นฟูเส้นทางสายหลัก และเส้นทางเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรม 4 สายทางวงเงิน 78 ล้านบาท และเส้นทางสายรองที่ได้รับผลกระทบ 454 สายทาง ใช้งบประมาณ4,500 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 10 เดือน นับจากหลังน้ำลด
สำหรับการซ่อมแซมรางรถไฟ และระบบอาณัติสัญญาณ คาดว่า จะต้องใช้งบประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท

**ศาสนสถาน จ.อยุธยาท่วม542 แห่ง
นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายของโบราณสถานทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 313 แห่ง โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีถึง 130 แห่ง ในส่วนของศาสนสถานของศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ได้รับความเสียหายจำนวนมาก และยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู วัด มัสยิด โบสถ์ และศาลเจ้า โดยดำเนินงานโครงการ “ทำดีถวายพ่อ ฟื้นฟูอยุธยา” เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการทำให้สังคมไทย เป็นสังคมที่มีความรักความสามัคคี ความเอื้ออาทร และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามหลักศาสนา ประกอบด้วย วัด 470 วัด มัสยิด 49 มัสยิด โบสถ์คริสต์ 11 โบสถ์ ศาลเจ้า 12 ศาลเจ้า รวม 542 แห่ง โดยจัดสมทบทุน ศาสนสถานแห่งละ 1 แสนบาท รวมเป็นเงิน 54,200,000 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่รับเป็นเจ้าภาพในการฟื้นฟูศาสนสถานที่ประสบอุทกภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น