xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : ความกล้า(หาญ) ของรัฐบาลนารีขี่ม้า

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

ถ้าเปรียบเทียบ มหาวาตภัย ครั้งร้ายแรงที่สุดในไทยเมื่อตุลาคม 2505 ที่ ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช ด้วยฤทธิ์พายุโซนร้อน “แฮเรียต” กวาดบ้านเรือนหายทั้งตำบล ผู้คนล้มตายสูญหายกว่าพันคน ประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยนับหมื่นคนเศษแล้ว มหาอุทกภัยที่เริ่มจากพายุโซนร้อน “นกเตน” ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เสียหายรุนแรงกว่าก็ว่าได้ ตัวเลขจาก ปภ.ประมาณว่าประชาชนไม่น้อยกว่า 3 ล้านสามแสนครัวเรือนหรือกว่า 11 ล้านคนเศษใน 64 จังหวัด 660 อำเภอได้รับความเดือดร้อน ไม่เพียงแต่สูญเสียด้านทรัพย์สินเงินทองหรือสิ่งสาธารณประโยชน์เท่านั้น แต่ความทุกข์ยากแสนสาหัสที่จะตามมาคือการทำมาหากินของประชาชนหลังเข้าสู่ภาวะปกติ

มูลค่าความเสียหายวาตภัยแหลมตะลุมพุกกว่า 370 ล้านบาทครั้งนั้น ไม่อาจเทียบได้กับความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากกว่าจากมหาอุทกภัยครั้งนี้

ความจริงประการแรก การฟื้นฟูอุทกภัยคราวนี้ ต้องหาและใช้งบประมาณอย่างมากมายแน่นอน

เมื่อการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน ได้กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ อบจ. เทศบาล อบต. หรือรูปแบบการปกครองพิเศษอย่าง กทม.และเมืองพัทยา องค์กรท้องถิ่นเหล่านี้ล้วนมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่งเสริมการทำมาหากิน สังคมสงเคราะห์ แก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ แม้กระทั่งการป้องกันบรรเทาและระงับสาธารณภัย อย่างอุทกภัยตอนนี้ เป็นต้น

มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงเป็นทั้งงานและหน้าที่โดยตรงที่สำคัญยิ่งของท้องถิ่นที่ต้องแอ่นอกรับผิดชอบ

ความจริงประการที่สอง องค์กรท้องถิ่นทุกรูปแบบในพื้นที่ประสบภัยต้องเสียสละ ผนึกกำลังคนและงบประมาณที่มีอยู่ทั้งหมด เข้าฟื้นฟูความเสียหายให้คืนกลับโดยเร็ว

ข้อมูลปี 2553 ที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,852 แห่ง ได้งบประมาณสูงถึง 351,179 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายประจำพนักงานเจ้าหน้าที่ 40% แล้ว มีงบเหลือทำโครงการพัฒนาท้องถิ่นคร่าวๆ ไม่น้อยกว่า 210,000 ล้านบาท งบนี้สิ้นปีก็ใช้เกลี้ยงและจำนวนไม่น้อยที่ใช้เพื่อความผาสุก สร้างบารมีแก่นักการเมืองท้องถิ่น เช่น ใช้จ่ายไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ ปีหนึ่งๆ ไม่รู้เท่าไร ยังต้องเบียดบังกันไว้เพื่อจ่ายเป็นโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานท้องถิ่นอีกไม่น้อยกว่าสามเท่าของเงินเดือน ลองคำนวณกันเองว่าเม็ดเงินที่จะพัฒนาท้องถิ่นจริงๆ จะเหลือเท่าใด ยังไม่รวมถึงการชักเปอร์เซ็นต์จากงบประมาณของนักการเมืองท้องถิ่นในบางแห่งอีกด้วย

เช่นนี้แล้วผู้บริหารท้องถิ่นที่ดี พึงต้องปรับแผนงานที่ไม่จำเป็น นำงบประมาณไปจัดทำโครงการฟื้นฟูอุทกภัยก่อนเป็นลำดับแรก ให้สมกับที่อาสาเป็นตัวแทนดูแลทุกข์สุขคนในท้องถิ่น อย่ามัวแต่รองบอื่นๆ จากทางการ

ความจริงประการที่สาม เมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งคราใด นักการเมือง พนักงานท้องถิ่นทั้งหลายมักปฏิเสธก่อนว่าไม่มีงบประมาณที่จะไปช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาภัยพิบัตินั้น จะร้องของบช่วยเหลือฉุกเฉินจากอำเภอและจังหวัด ทั้งๆ ที่ระเบียบกฎหมายให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ สามารถยกเลิก เปลี่ยนแปลงโครงการที่ยังไม่ได้ทำ แล้วนำงบประมาณที่ตั้งไว้นั้นไปแก้ไขภัยพิบัติได้ แต่ที่ไม่ยอมทำอาจเป็นเพราะห่วงผลประโยชน์ที่จะได้จากโครงการที่ตั้งไว้

อันว่าเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินของจังหวัดนั้น กระทรวงการคลังให้จังหวัดละ 50 ล้านบาทต่อภัยพิบัติแต่ละภัย ไม่คำนึงว่าจังหวัดเล็ก จังหวัดใหญ่ได้เท่ากัน การใช้จ่ายก็มีข้อกำหนดเข้มงวดเช่นเป็นภัยที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน จำเป็นต้องแก้ไข จะเอาไปเตรียมการล่วงหน้าไม่ได้

ภัยใดที่ความเสียหายรุนแรง เมื่อท้องถิ่นไม่ยอมใช้เงินที่มีอยู่ เงินจังหวัดที่มีก็ไม่เพียงพอ จึงต้องส่งไปของบกลางจากรัฐบาล ประชาชนต้องรอรับการช่วยเหลือที่ล่าช้าโดยไม่ทราบว่าจะได้รับการชดเชยเยียวยาแก้ไขเมื่อใด

ในขณะที่องค์กรท้องถิ่นทั้งหลายยังมีความสุขกับการใช้งบประมาณไปตามปกติ ไม่นำพาต่อการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามหลักการข้างต้น ส่วนจังหวัดและอำเภอก็ต้องรอรับกับปัญหาการเดินขบวน การร้องเรียน ความไม่พอใจของประชาชนในการรับความช่วยเหลืออยู่เสมอ

วันนี้ประเทศเข้าสู่วิกฤตภัยธรรมชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลใจดีสู้เสือประกาศแผนฟื้นฟูประเทศ 3 ด้านที่ต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล รัฐบาลไม่สมควรก่อหนี้ให้มากขึ้น ทุกฝ่ายต้องเสียสละร่วมกัน ฟื้นฟูประเทศตามหลักประชาธิปไตยแบบพึ่งพาตนเอง จากงบประมาณของตนเองและแก้ปัญหาของตนเองเป็นปฐม

หนึ่ง กล้าพอที่จะให้ อปท.ทุกแห่งปรับข้อบัญญัติฯ เทศบัญญัติฯ ข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่ ยกเลิกโครงการที่รอได้ทิ้งไปก่อน เทงบประมาณเหล่านั้นเข้ามากู้ความเสียหายในพื้นที่ของตน ขาดเหลือเท่าไรจึงค่อยจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจเติมลงไป งดโบนัส งดทัศนะศึกษาดูงาน สัก 1 ปี

สอง กล้าพอที่จะชะลอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ต้องจัดสรรสำหรับท้องถิ่นในปีนี้บางรายการไว้ก่อน เปลี่ยนแปลงจัดสรรใหม่ให้นำไปทำโครงการฟื้นฟูอุทกภัยที่ได้รับแทน

สาม กล้าพอที่จะปรับระบบงบประมาณประเทศเป็นกรณีพิเศษ งบยุทธศาสตร์จังหวัด งบผู้ว่าฯ งบกระทรวง กรม ให้เน้นแผนงานฟื้นฟูอุทกภัยการสร้างงานและรายได้ให้ประชาชนในส่วนที่ทำได้เป็นหลัก

จะออกกฎหมายพิเศษหรือ พ.ร.ก.เพื่องานนี้ก็ได้ ยังดูดีกว่าการจะออก พ.ร.ก.อภัยโทษในเวลานี้ อย่างน้อยผู้คนได้รับประโยชน์มากกว่า 10 ล้านคนไม่ใช่หลักหมื่น จะติดขัดอยู่ที่รัฐบาลว่าจะมีความกล้าทำพอหรือไม่ เพราะตัว ครม.และบรรดา ส.ส.ทั้งหลายล้วนเป็นนักการเมืองการ ที่ยังต้องอาศัยพึ่งพานักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นหัวคะแนนให้

ความหวังที่จะฟื้นฟูอุทกภัยแบบพึ่งพาตนเองอย่างว่า จึงเป็นเรื่องของการฝันกลางฤดูหนาว

กัดฟันดูลิเกเรื่อง “นารีขี่ม้า....” ให้จบๆ ไปก่อนก็แล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น