xs
xsm
sm
md
lg

ชาติศาสนาประชาชนหม่นหมอง เพราะการปกครองวิปลาส

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

“เมื่อผู้ปกครองประเทศสุจริตและยุติธรรม เสนาบดีก็จะสุจริตและยุติธรรม เมื่อเสนาบดีสุจริตและยุติธรรม ข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะสุจริตและยุติธรรม เมื่อข้าราชการผู้ใหญ่สุจริตและยุติธรรม ข้าราชการผู้น้อยก็จะสุจริตและยุติธรรม เมื่อข้าราชการผู้น้อยสุจริตยุติธรรม ราษฎรก็จะสุจริตและยุติธรรม สังคมก็จะเป็นสุขสวัสดี”

(อังคุตตรนิกาย)

นานมาแล้วในสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณเรืองอำนาจ ผมเขียนบทความเรื่อง “พระพุทธศาสนากับรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม” เพื่อแก้ความเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธไม่ควรยุ่งกับการเมือง การล้มล้างรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมเป็นหน้าที่ของชาวพุทธตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ

บัดนี้ความวิปลาสขาดความชอบธรรมทางการเมืองกำลังพุ่งสูงขึ้นเคียงกับสมัยทักษิณ 2 ผมไม่อยากให้ผู้ใดนำศาสนาพุทธมาอ้างผิดๆ เพื่อปกป้องอำนาจของตนและพวกพ้อง

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ มีจุดเน้นอยู่ที่ความล่วงรู้เพื่อจะให้มนุษย์พ้นบ่วงทุกข์ และวางจุดหนักไว้ที่ตัวบุคคลซึ่งจะต้องเป็นผู้เรียนเอง รู้เองและทำเอง เป็นศาสนาที่แยกอาณาจักรและศาสนจักรออกจากกัน โดยกำหนดความสัมพันธ์ที่ต่างก็มีอิสระแบบเชื่อมโยง

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก ยังทันสมัยและเป็นพื้นฐานทางการเมืองมาถึงยุคปัจจุบัน คือ (1) ความเท่าเทียมกันและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนเอง (2) ทรงเน้นคุณค่าของความร่วมมือกันอย่างแข็งขันในสังคมและชุมชนเหมือนกับ participative democracy ในปัจจุบัน (3) ไม่ทรงตั้งทายาท แต่ส่งเสริมให้ใช้พระธรรมวินัยหรือ Rule of Law เป็นพื้นฐานของการปกครองสงฆ์และสังคม (4) ทรงส่งเสริมการประชุมปรึกษาหารือและการตัดสินปัญหาในที่ประชุมเยี่ยงบัณฑิต ไม่ต่างกับหรือด้อยกว่าสภาผู้แทน

ธรรมและคำสั่งสอนในรูปอื่นๆ ของศาสนาพุทธก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของการสร้างครอบครัว ชุมชนและบ้านเมืองโดยใช้ความรอบรู้และธรรมเป็นเครื่องชี้ทาง ปรัชญาของพุทธมิได้ด้อยไปกว่าศาสนาอื่น หรือแม้กระทั่งปรัชญาการเมืองของตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย การปกครองและความเป็นผู้นำ ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำตัวอย่าง โดยนำชาดกมาประกอบเป็นพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ผมแปลกใจและเสียดายที่รัฐบาลทุกรัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯ ไม่ทุ่มเทเผยแพร่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นชาดกอย่างจริงจัง เพราะจะมีประโยชน์ยิ่งกว่าตำราหน้าที่พลเมืองในอดีต หรือกิจกรรมประชาสังคมหลายๆ อย่างที่เคลื่อนไหวกันอยู่ ที่เกิดจากรากฐานทางความคิดและรหัสของตะวันตก ขาดการเชื่อมโยงที่แยบคายกับความเป็นไทย

เบอทรัล รัสเซล นักมนุษยนิยมและปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่กับไอน์สไตน์ กล่าวถึงลักษณะพิเศษอันเป็นจุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือนของศาสนาพุทธ ถึงกับทำนายว่า จะเป็นศาสนาแห่งอนาคต ปาฐกถาของไอน์สไตน์ที่มหาวิทยาลัยปรินซตัน ปี 1947 มีข้อความว่า ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาแห่งจักรวาล (cosmic religion) ในบรรดาศาสนาที่มีอยู่ ศาสนาพุทธมีความใกล้เคียงกับความเป็นศาสนาจักรวาลมากที่สุด

เราทราบดีว่า พุทธศาสนาแยกออกเป็น 2 กระแสใหญ่ คือ หินยานหรือเถรวาทแบบของไทย ลาว เขมร พม่าและศรีลังกากับมหายาน คือ ทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ผมได้เห็นการแพร่ขยายอย่างมีระบบของพุทธศาสนาในตะวันตก โดยเฉพาะจากวัดบ้านป่า สายท่านอาจารย์ชา ผมคิดว่า ในไม่ช้านี้ เราจะมีพุทธศาสนากระแสตะวันตก ซึ่งมีความเป็นพุทธที่สามารถท้าทายความคิดกระแสเดิมที่อ้างความเป็นยอดของตะวันตกได้อย่างดีเยี่ยม ถ้าจะให้สำเร็จ เมืองไทยจะต้องรักษาความเป็นพุทธ ความเป็นธรรมและความเป็นประชาธิปไตยไว้ให้ได้เสียก่อน

     ในมหายานนั้นความสัมพันธ์กับชุมชนและการเมืองมีลักษณะเปิดเผย จริงจังและแข็งขันกว่าในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิเบตซึ่งถ้าหากไม่ถูกจีนทำลาย จะเป็นตัวอย่างของบูรณาการและการผนึกรวมเป็นอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนากับการปกครอง

เราคงไม่ลืมว่าการต่อสู้ของชาวพุทธในเวียดนาม จนกระทั่งถึงกับมีพระภิกษุถึง4 องค์เผาตัวเองประท้วง เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่อวสานของรัฐบาลเผด็จการโง ดิน เยียม

     ในพุทธศาสนามีการพูดถึงการแก้ปัญหาการเมืองโดยการล้มล้างรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ก่อนปรัชญาเมธีตะวันตกตั้งหลายร้อยปีเสียอีก

     สำหรับทัศนะพุทธในบทความนี้ ผมจะจำกัดอยู่ที่ธรรมและคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสังเขปเท่านั้น หวังว่าท่านผู้รู้คงจะช่วยกันอธิบายขยายความกันต่อๆ ไป

     อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าฟ้ากว่าพระองค์จะสละอำนาจการเมืองออกบวชก็เมื่อมีพระชนมชีพถึง 29 พรรษา หลังจากศึกษาศิลปะวิทยาการทางโลกได้อย่างแจ้งจบแล้ว ทำไมพระองค์จึงทรงสั่งสอนให้แยกทางโลกออกจากทางธรรม หรือแยกการเมืองออกจากศาสนา พวกเราต้องคิดดูเอาเอง แต่จะเป็นการผิดอย่างฉกรรจ์ หากพวกเราคิดว่าพระองค์ไม่รู้จักการเมือง และไม่ทรงพร่ำสอนให้พุทธบริษัทที่มิใช่พระสงฆ์ให้เข้าใจและเป็นพลังที่ดีทางการเมือง

     พระพุทธเจ้าไม่ส่งเสริมสงครามหรือการสู้รบด้วยกำลัง แม้แต่ “ธรรม-อธรรมสงคราม” พระองค์ก็ทรงแนะให้หลีกเลี่ยง เพราะผู้ชนะจะเป็นผู้ก่อกรรมและผู้แพ้จะคุมแค้นทุกข์ทรมาน พระองค์ทรงห้ามทัพและป้องกันสงครามระหว่างขุนศึกด้วยพระองค์เองหลายครั้ง เช่น สงครามระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ที่แย่งใช้แม่น้ำโรหิณีกัน ทรงห้ามพระเจ้าอชาตศัตรูมิให้โจมตีแคว้นวัชชี เป็นต้น

     ใน “มิลินทปัญหา” พระนาคเสน อรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าลงมาเสวยชาติ ตอบพระเจ้ามิมิลินท์ว่า

“หากบุคคลขาดคุณสมบัติที่ดี ไร้ความสามารถ ไร้ศีลธรรมจรรยา ไม่เหมาะสม ได้ขึ้นบัลลังก์มาเป็นใหญ่ มีอำนาจมากเพียงใด เขาจะถูกฉีกเนื้อ และลงฑัณฑ์โดยประชาชน เพราะเขามิได้ขึ้นมาและมิได้อยู่ในอำนาจด้วยความชอบธรรม ผู้ปกครองเยี่ยงนี้ เหมือนผู้ปกครองทั้งหลายที่ฝ่าฝืน ทำลายศีลธรรมจรรยา และกฎเกณฑ์ของสังคม ก็จะถูกประชาทัณฑ์เยี่ยงเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองที่ประพฤติตนเหมือนโจรปล้นสมบัติของแผ่นดิน”

     พระพุทธองค์ทรงเปรียบผู้ปกครองว่า “คนพาลผู้สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ปกครองหมู่คณะ ตกอยู่ในอำนาจจิตของตนแล้ว พึงนอนตาย เหมือนลิงจ่าฝูง นอนตายอยู่ ฉะนั้น”

     พระพุทธเจ้าทรงแสดงความแตกต่างของรัฐบาลที่กดขี่คดโกงกับรัฐธรรมาภิบาล และทรงบรรยายถึงขบวนการที่รัฐบาลเสื่อมทรามเพราะหัวหน้ารัฐบาลเกิดความโลภและเบียดเบียน พระองค์ตรัสว่า

“เมื่อผู้ปกครองประเทศสุจริตและยุติธรรม เสนาบดีก็จะสุจริตและยุติธรรม เมื่อเสนาบดีสุจริตและยุติธรรม ข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะสุจริตและยุติธรรม เมื่อข้าราชการผู้ใหญ่สุจริตและยุติธรรม ข้าราชการผู้น้อยก็จะสุจริตและยุติธรรม เมื่อข้าราชการผู้น้อยสุจริตยุติธรรม ราษฎรก็จะสุจริตและยุติธรรม สังคมก็จะเป็นสุขสวัสดี” (อังคุตตรนิกาย)

มหาอุทกภัยที่ทำให้ชาติศาสนาและประชาชนไทยหม่นหมองอยู่ขณะนี้ เป็นเพราะ “การเมืองกาลี ผู้นำไม่ดี อัปรีย์กินประเทศ” หรือมิใช่ อ่านต่อฉบับหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น