xs
xsm
sm
md
lg

คอมพ์จ่อขึ้นราคาจากพิษ’น้ำท่วมไทย’ ขาด’ฮาร์ดดิสก์’แถมตลาดRAMก็ป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์/รอยเตอร์ - ราคาคอมพิวเตอร์จ่อปรับตัวสูงขึ้น หลังจาก เอเซอร์ และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ สองผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ค่ายใหญ่ของโลก ออกมาเตือนว่า วิกฤตน้ำท่วมครั้งร้ายแรงของไทยจะส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อภาคการผลิตคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งนั่นอาจทำให้พวกเขาจำเป็นต้องผลักภาระต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นไปให้แก่ผู้บริโภคแทน นอกจากนี้ซัมซุง ยังเตือนว่า ผลจากการที่ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีได้น้อยลงนี้ จะส่งผลร้ายโดยตรงต่อดีมานด์ของอุปกรณ์หน่วยความจำที่ใช้ในพีซีอีกด้วย

คำเตือนดังกล่าวนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ล่าสุดจากกลุ่มภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ถึงผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษของไทย โดยเฉพาะการกระทบกระเทือนต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ในช่วงเวลาที่ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงปลายปีเช่นนี้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ (HDD) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตคอมพิวเตอร์ ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด โดยเวลานี้ราคาอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์พุ่งพรวดขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว นับตั้งแต่ที่วิกฤตน้ำท่วมอุบัติขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น โตโยต้า, ฮอนด้า และนิคอน ก็ได้รับความเสียหายหนักไม่แพ้กัน ส่วน โซนี่ ก็ประกาศเลื่อนเปิดตัวผลิตภัณฑ์กล้องรุ่นใหม่ของพวกเขาออกไป สืบเนื่องจากโรงงานผลิตจมใต้บาดาล

เอเซอร์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) อันดับ 4 ของโลก (พิจารณาจากยอดการผลิต) คาดการณ์ว่า ผลจากวิกฤตน้ำท่วมในไทยอาจฉุดยอดขายในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ลดฮวบลงราว 5-10 เปอร์เซ็นต์จากไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากไต้หวันรายนี้ สามารถครองส่วนแบ่งในตลาดคอมพิวเตอร์พีซีทั่วโลกได้ 10.6 เปอร์เซ็นต์ โดยนับจนถึงสิ้นสุดไตรมาสที่ 3

เจที หวัง ประธานและซีอีโอของบริษัทเอเซอร์ ระบุว่า "ภาคการผลิตคอมพิวเตอร์พีซีต้องหยุดชะงักลงกลางคัน" เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะนำมาประกอบเป็นสินค้า

"นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เราจะแก้กันเองได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเริ่มปรับราคาคอมพิวเตอร์ให้สูงขึ้น" เพื่อผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภค เขากล่าว

ด้าน ซัมซุง ซึ่งมียอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์พีซีสูงแต่ยังไม่ติด 5 อันดับแรกของโลก ก็ระบุว่า อุทกภัยในไทยจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนหรืออะไหล่คอมพิวเตอร์ขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาคาดว่าพิษน้ำท่วมจะไม่ทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทตกจนขี้เหร่นัก ขณะที่ เลอโนโว และ เอซุสเทค ก็ออกมาเตือนว่าอุตสาหกรรมผลิตพีซีจะ ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน

ข้อมูลจากไอซัปพลาย บริษัทสำรวจอุตสาหกรรม ระบุว่า ไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดไดรฟ์ราว 1 ใน 4 ของโลก และคาดว่าภัยพิบัติครั้งนี้จะกระทบต่อปริมาณสินค้าในตลาดไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2012 เป็นอย่างน้อย

ล่าสุด เวสเทิร์น ดิจิตอล ผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดไดรฟ์รายใหญ่ที่สุดของโลก ก็สั่งปิดโรงงานทุกแห่งในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี เหตุที่ตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โลกได้รับผลกระทบอย่างหนักมิใช่เพราะ เวสเทิร์น ดิจิตอล เป็นเจ้าเดียวที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยเท่านั้น หากแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยอื่นๆ ต่างก็ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไทยที่ถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้ในการผลิตคอมพิวเตอร์แล้ว ภาวะอุทกภัยรุนแรงในไทยยังส่งผลกระทบต่อดีมานด์การผลิตหน่วยความจำชั่วคราวประเภท “ไดนามิก แรนดอม แอคเซส เมมโมรี (Dynamic random access memory / DRAM)” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ไดนามิกแรม หรือ ดีแรม ซึ่งใช้ในพีซีทั่วๆ ไป โดยเวลานี้อุตสาหกรรมผลิตหน่วยความจำประเภทดังกล่าวต่างกำลังปวดเศียรเวียนเกล้า เนื่องจากอุปสงค์ดีแรมในตลาดเบาบางลง ขณะที่ยอดการผลิตกลับเกินความต้องการอยู่ในขณะนี้

จุน ดองซู ประธานบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตดีแรมรายใหญ่ที่สุดของโลก ออกมาเตือนว่า พิษน้ำท่วมซึ่งส่งผลให้การผลิตคอมพิวเตอร์พีซีหยุดชะงักลง จะกระทบกระเทือนต่อจำนวนการผลิตดีแรมไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าเลยทีเดียว

“มีปัจจัยความไม่แน่นอนมากมายในตลาดดีแรม การหยุดชะงักของการผลิตคอมพิวเตอร์พีซี จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการอุปกรณ์ไดนามิกแรม โดยบางที (ตลาดแรมดังกล่าว) อาจเลวร้ายลงเรื่อยๆ ด้วย” จุน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (29) ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น