ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ประธานสภาอุตสาหกรรมจ.ขอนแก่น ดันตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว รับกระแสโรงงานถูกน้ำท่วมย้ายฐานผลิต และทุนญี่ปุ่น/ไต้หวันขยายฐานผลิต ตั้งเป้ารองรับอุตฯผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาและเวชภัณฑ์ ที่ไม่ก่อมลพิษเข้ามาลงทุน เผยพ่อเมืองขอนแก่นเห็นด้วย เตรียมอนุมัติคำสั่งตั้งคณะทำงานเร็ววันนี้ วางกรอบจัดหาพื้นที่รองรับในรัศมีไม่เกิน 40 กิโลเมตร
นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กำลังผลักดันให้เกิดการตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มุ่งรองรับอุตสาหกรรมสะอาดไร้มลพิษ หรือนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ที่ไม่ก่อมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ปัญหาอุทกภัยในจังหวัดภาคกลาง เกิดน้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้โรงงานผลิตอย่างรุนแรง ทำให้หลายโรงงานมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตออกจากพื้นที่ถูกน้ำท่วม ทั้งมีผู้ประกอบการรายใหม่ กำลังจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผลักดันให้ SMEs ย้ายฐานผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงนักลงทุนไต้หวัน
“ประเทศไทยเป็นพื้นที่เป้าหมายอันดับต้น เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญตั้งโรงงานจะต้องไม่เป็นพื้นที่ประสบภัยอุทกภัย หรือภัยพิบัติธรรมชาติอื่น ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นมีศักยภาพโดดเด่นมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ผู้ประกอบการสนใจย้ายฐานผลิตเข้ามาลงทุน”นายวิฑูรย์ กล่าวและว่า
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะไต้หวัน ได้เข้ามาหารือ ถึงศักยภาพพื้นที่ ซึ่งล้วนแสดงเจตจำนง ที่จะขยายฐานการผลิตเข้ามายังจังหวัดขอนแก่น แต่ข้อจำกัดพื้นที่ ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ และได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ผู้ประกอบการจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีความประสงค์จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาด้วย
เตรียมตั้งคณะทำงานหาพื้นที่
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ โดยมีนายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นรองประธาน พร้อมด้วยคณะทำงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นคณะทำงานประมาณ 20 คน คาดว่าจะอนุมัติคำสั่งแต่งตั้งเร็ววันนี้
พื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ไม่ควรต่ำกว่า 1,000 ไร่ ที่ตั้งไม่ควรห่างจากอ.เมืองขอนแก่นในรัศมีไม่เกิน 40 กิโลเมตร บทบาททำงานจะเร่งหาพื้นที่มารองรับ เน้นการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หากมีการต่อต้านจากมวลชนในพื้นที่ จะไม่มีการผลักดันต่อโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะกรณีพื้นที่โคกหินขาว อ.น้ำพอง ที่เกิดการต่อต้านมาเป็นระยะเวลานานจะไม่นำมาเป็นทางเลือกต่อการผลักดันครั้งใหม่นี้
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องเร่งผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวจังหวัดขอนแก่นให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับการย้ายฐานผลิตและขยายการลงทุนเข้าในภาคอีสาน ส่วนแนวทางการลงทุนมี 3 ทางเลือกประกอบด้วย ให้รัฐลงทุนเอง 100% โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งต้องจัดหาที่ดินผืนใหญ่จากที่ราชพัสดุมารองรับ แนวทางต่อมาให้เอกชนที่สนใจลงทุนเองทั้งหมด และแนวทางสุดท้าย ให้รัฐและเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด
“ที่ผ่านมา การผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ประสบปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้เรื่องที่เคยผลักดันไว้ล้มเหลว แต่การผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จังหวัดขอนแก่น ตนจะผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ในสมัยการบริหารของตน”ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวอย่างมั่นใจ
ทั้งนี้ศักยภาพพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้เปรียบจังหวัดอื่นในภาคอีสาน ด้วยทำเลพื้นที่จุดศูนย์กลางของภาคอีสาน ได้เปรียบทั้งด้านลอจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ รถไฟ ไปสู่ตลาดเป้าหมายทั่วภาคอีสาน และภูมิภาคอื่น ทั้งสามารถใช้การขนส่งทางอากาศที่ต้องการความรวดเร็วได้ ผนวกศูนย์กลางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนเป็นอันดับต้น