xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหาร - ทักษิณ - นิติราษฎร์: ๓ คำเตือนที่คนไทยต้องรู้

เผยแพร่:   โดย: วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

ที่มา facebook.com/verapat.pariyawong

การปะทะความคิดที่เปิดฉากโดยคณะนิติราษฎร์นั้น ร้อนแรงยิ่งกว่าศึกแข้งกระชับมิตรที่ไทยชนะกัมพูชาไป ๑๐ ประตูต่อ ๗ ทั้งยังชิงพื้นที่ความคิดเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งดูจะขาดความเป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐไม่น้อยไปกว่า “การประหารประชารัฐ” อันเป็นหัวข้อของบทความนี้

ผู้ที่น่าจะร้อนตัวมากที่สุดเวลานี้ น่าจะได้แก่ ฝ่ายผู้ทำรัฐประหาร ฝ่ายระบอบทักษิณ และฝ่ายตุลาการ แต่หากสำรวจรอยปะทะที่ผ่านมา ตัวละครเอกกลับเป็นนักการเมืองและประชาชน ซึ่งนอกจากขาประจำยังรวมถึงนักกฎหมายระดับอดีตอธิการบดีไปถึงอธิการบดีและนักศึกษารุ่นใหม่ไฟแรง มีทั้งสภาทนายความและทนายความในสภา ไม่เว้นแต่พนักงานสอบสวนและพระคุณเจ้าในวัด นักการเมืองเองก็ยึดมาตรฐานคงที่ คือ ฟังแล้วเจ็บแต่จับใจความได้ไม่เกินครึ่งบรรทัดว่า ไม่เอาทักษิณ หรือ ไม่เอารัฐประหาร และไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น (ผู้สนใจโปรดดูตัวอย่างความเห็นที่ http://on.fb.me/qnvM3F)

เมื่อฟุ่นเริ่มจางหลังน้ำลายแตกฟองไปพักหนึ่ง ผู้เขียนพึงฉายคำเตือน ๓ ประการเพื่อต่อยอดความคิดที่ใหญ่และใกล้เสียจนอาจมองไม่ออก ดังนี้

เตือนข้อที่ ๑: ผู้ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ไม่จำเป็นต้องเกลียดทักษิณ ทักษิณต่างหากที่จะเกลียดนิติราษฎร์

การถกเถียงแทบทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ปฏิเสธ “ลัทธิรัฐประหาร” กับอีกฝ่ายที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” ที่จำใจยอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร” เพื่อโค่น “ระบอบทักษิณ” เพราะฝ่ายตนมองว่า “ระบอบทักษิณ” เป็นภัยต่อประชาธิปไตยไทยยิ่งกว่า “ลัทธิรัฐประหาร” เสียอีก

ในบทความนี้ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าอะไรชั่วร้ายกว่าอะไร แต่สมมติ (arguendo) ว่าหาก “ระบอบทักษิณ” ชั่วร้ายจริง “ระบอบทักษิณ” ย่อมไม่ต้องการให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์เกิดขึ้น เพราะหากล้างผลคำพิพากษาจาก “ลัทธิรัฐประหาร” (ซึ่งวันนี้ “ระบอบทักษิณ” อ้างได้เต็มปากว่าไม่ชอบธรรมหรือเป็นเผด็จการ ฯลฯ) แล้วไซร้ ข้อเสนอนิติราษฎร์ก็จะนำภัยมาสู่ “ระบอบทักษิณ” ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก

กล่าวคือ นิติราษฎร์เสนอให้ล้มล้างระบอบคำพิพากษาที่รับลัทธิรัฐประหาร และกล่าวในแถลงการณ์ ข้อ ๕ ว่า “หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้”

แม้นิติราษฎร์ใช้ถ้อยคำหลวมซึ่งฟังเหมือนจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่การประกันว่า “ระบอบทักษิณ” จะต้องถูกตรวจสอบว่าผิดหรือไม่อีกรอบนั้น นอกจากจะควรถูกบังคับตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขบังคับทางข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ หากไม่สามารถวางหลักประกันดังกล่าว กลุ่มอำนาจที่ต้าน “ระบอบทักษิณ” ก็จะไม่มีทางยอมให้ล้าง “ลัทธิรัฐประหาร” ได้ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เห็นว่าการประกันดังกล่าวจะเป็นปัญหาต่อนิติราษฎร์และผู้ไม่เอา “ลัทธิรัฐประหาร” แต่อย่างใด คือ สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ผลที่ตามมาก็คือ “ระบอบทักษิณ” จะถูกบังคับให้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยามปกติ และหาก “ระบอบทักษิณ” (ที่เชื่อกันว่าชั่วร้ายอย่างชัดแจ้ง) ได้ถูกตัดสินว่าผิดซ้ำอีกรอบ ย่อมเป็นการปิดฝาโลง “ระบอบทักษิณ” ถาวรว่าไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่าจะไม่รับโทษเพราะคำพิพากษาที่ไม่ยุติธรรม ฯลฯ

ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีข้อเสนอนิติราษฎร์ หนทางสู่ “การนิรโทษกรรม” ในคราบการปรองดองที่ปลอกและดองกติกาด้วยอำนาจในสภาของ “ระบอบทักษิณ” ก็จะคล่องสะดวก โดยอาจใช้วิธีนิรโทษกรรม “ระบอบทักษิณ” ผู้ถูกกระทำ พร้อมประกันว่า ผู้กระทำ “ลัทธิรัฐประหาร” (คมช. คตส. ฯลฯ) ก็ไม่ต้องรับผิดดังเดิม กล่าวคือ เข้าสู่ระบอบ “เกี้ยเซี้ย” ระหว่างที่ผู้มีอำนาจไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่ผิด หรือยิ่งกว่านั้นคือ “ระบอบทักษิณ” ล่อให้รัฐประหารอีกรอบโดยรอสวนหมัดล้มอำนาจเสี้ยนหนามให้เด็ดขาด ส่วนประชาชนที่ล้มตายจากการชุมนุม หรือที่อดอยากจากการโกงกิน ก็แค่ไปเลือกตั้งใหม่ครั้งต่อไปตามที่เทวดาท่านใคร่ให้ไปเวียนว่ายในนรกตามเดิม

ดังนั้น ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” จึงพึงพิเคราะห์ให้ดีว่า การที่คุณทักษิณและคนใกล้ตัวกลับเงียบและไม่ออกมาเห็นดีเห็นงามกับนิติราษฎร์นั้นเพราะอะไร และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ไม่จำเป็นต้องเกลียดทักษิณ แต่ทักษิณต่างหากที่อาจจะเกลียดนิติราษฎร์เป็นที่สุด!

เตือนข้อที่ ๒: ผู้ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ไม่ได้แปลว่ายอมรับรัฐประหารเสมอไป

ข้อเสนอกลุ่มนิติราษฎร์มีลักษณะกล้าหาญและน่านับถือ และถูกต้องแล้วที่ทางนิติราษฎร์กล่าวว่าเป็นข้อเสนอเชิงหลักการให้นำไปถกเถียงกันต่อ แต่พึงระวังว่าผู้ใดจะเห็นด้วยกับนิติราษฎร์โดยทันทีหรือไม่นั้น โดยตรรกะแล้วไม่ได้ตัดสินว่าผู้นั้นเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่

ที่ผ่านมามีผู้สนับสนุนกลุ่มนิติราษฎร์ปล่อยคำทำนองว่า หากท่านไม่เห็นด้วยกับเรา ก็แสดงว่าท่านเห็นด้วยกับรัฐประหาร ซึ่งนอกจากจะเป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนแล้ว ยังเป็นการด่วนสรุปให้ร้ายทางความคิดที่ขาดความเยือกเย็นทางวิชาการ ซ้ำยังส่งผลร้ายแบ่งฝ่ายว่าการต่อสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร” จะมีเฉพาะฝ่ายเห็นด้วย กับฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นการทำลายพันธมิตรจำเป็นของนิติราษฎร์เสียเอง

หากจะอธิบายตรรกะให้ชัด ก็ขอยกตรรกะของสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ท่านหนึ่งที่กล่าวในการแถลงว่า ตนนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ในคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ตนก็มิได้ออกไปต่อสู้กับรถถัง เพราะรู้ว่าสู้ตอนนั้นย่อมสู้ไม่ได้ แต่บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้สิ่งที่ผิดให้กลับมาถูก ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับตรรกะดังกล่าว คือ การต่อสู้ใดๆ ไม่ได้อยู่แค่ที่หลักการ แต่ต้องอยู่ที่จังหวะและโอกาส การยอมจำนนใน “สนามรบ” เพื่อเก็บโอกาสไปชนะใน “สงคราม” ไม่ใช่เรื่องแปลก

ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทันที ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการสู้ “สงคราม” เดียวกันเคียงข้างนิติราษฎร์ เพียงแต่อาจยังไม่แน่ใจใน “สนามรบ” เฉพาะหน้า ว่าสบโอกาสให้ชนะ “สงคราม” ได้หรือไม่ เช่น

- หลักประกันการตรวจสอบ “ระบอบทักษิณ” หลังการลบล้างคำพิพากษานั้น มั่นคงชัดเจนเพียงใดที่จะไม่กลายเป็นช่องโอกาสในการล้างผิดหรือลอยนวลอันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงอีกรอบ?

- จังหวะเวลาของกระบวนการปรองดองที่เน้นการค้นหาความจริงและเยียวยาผู้เสียหายที่ดำเนินการอยู่นั้น จะถูกกระทบหรือไม่อย่างไร?

- ขุมพลังทางอำนาจและปัญญาอันจำเป็นต่อการปฏิรูปสถาบันทหารและสถาบันตุลาการนั้นมีเพียงพอแล้วหรือไม่ และเสี่ยงต่อการถูกตอบโต้ (backlash) โดยสถาบันตัวแทนอำนาจเหล่านี้หรือไม่อย่างไร?

- แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักประวัติศาสตร์ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเงื่อนไขและจังหวะในการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อล้าง “ลัทธิรัฐประหาร” นี้ สอดรับกับปัญหาเศรษฐกิจโลกหรือการสืบราชบัลลังก์หรือไม่อย่างไร?

ฯลฯ

กล่าวอีกทางก็คือ ข้อเสนอนี้สุกงอมด้วย สาระ วาระและโอกาสเพียงใดที่จะไม่ถูกฉวยไปใช้เป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงทหารกล้าผู้ตีดาบขึ้นเสียเอง!

ผู้สนับสนุนนิติราษฎร์โปรดมีกำลังใจเถิดว่า ยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ยอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร” และพร้อมจะสู้สงครามเคียงข้างท่านเพื่อทำลายกรงขังทางความคิด แต่กรงนี้ไม่ได้มีเพียงชั้นเดียว และประตูกรงก็อาจมีหลายประตู หากรีบออกผิดช่อง ก็อาจไปติดในอีกชั้นที่ออกยากขึ้น

ดังนั้น ประชาชนคนไทยที่ประสงค์ร่วมสงครามสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร” จึงควรจัดเรียงภารกิจใหม่ว่า “สนามรบ” ที่สำคัญอย่างน้อยในสองสามปีข้างหน้า (ซึ่งอาจพ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว) คือการประคับประคองขัดเกลาข้อเสนอนิติราษฎร์ให้ตกผลึกและรอบด้านยิ่งขึ้น มีพันธมิตรยิ่งขึ้น และผู้ที่ต่อต้าน “ลัทธิรัฐประหาร” เองจะต้องไม่กลายมาเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าโดยการตะเบ็งน้ำเสียงแห่งเหตุผลจนอู้อี้และเหือดแห้ง หรือโดยความถือตัวหมั่นไส้ริษยาไร้ไมตรีจิต อันเป็นต้นเหตุที่ทำลายกลุ่มปัญญาชน-พลังประชาชนมาแล้วนักต่อนัก

เตือนข้อที่ ๓: เลิกเถียงกันเสียทีว่า “ลัทธิรัฐประหาร” กับ “ระบอบทักษิณ” อันไหนชั่วร้ายกว่ากัน เพราะหากชั่วทั้งคู่เราต้องไม่เลือกทั้งคู่

ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ “ทำใจไม่ได้” (คือคิดไม่ตกผลึก) ว่าจะเลือกทางแก้ปัญหาแบบใด จะแก้แบบผู้ที่ยังไงก็ไม่เอา “ระบอบทักษิณ” (ข้อ ๑.) หรือจะแก้แบบผู้ที่ยังไงก็ไม่เอา “ลัทธิรัฐประหาร” (ข้อ ๒.)

นอกจากนี้นักการเมือง นักวิชาการและปัญญาชนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่แทบทั้งหมดต่างใช้เวลามานำทฤษฎีและหลักการทั้งปวงมาหักล้างกันว่าทางเลือกของตนนั้นดีกว่าทางเลือกอีกฝ่ายอย่างไร

ผู้เขียนเตือนว่า จงอย่าปล่อยให้ผู้ใดตีกรอบให้เราถูกติดกับทางความคิดดังกล่าว เพราะ “ระบอบทักษิณ” กับ “ลัทธิรัฐประหาร” ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง! แต่ต้องไม่เลือกทั้งคู่!

ผู้เขียนเสนอให้ประชาชนคนไทยจัดกรอบความคิดใหม่เพื่อมองให้ถึงแก่นว่า “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้ถูกโค่นล้มโดย “ลัทธิรัฐประหาร” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ตรงกันข้าม “ระบอบทักษิณ” ต่างหากที่เป็นผลพวงจาก “ลัทธิรัฐประหาร”! ดังที่อธิบายเป็นขั้นดังนี้

ขั้นที่ ๑. ความหมายของ “ระบอบทักษิณ”

“ระบอบทักษิณ” (ที่บทความนี้สมมติ arguendo ว่าชั่วร้ายจริง) นั้น ไม่ได้รวมแค่เฉพาะคุณทักษิณ ชินวัตรและระบอบการโกงกินรวบอำนาจที่ทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หมายถึงระบอบของผู้มีอำนาจในสังคมไทยในอดีตและอนาคตที่เคยทำหรือจะทำเหมือนแบบที่คุณทักษิณทำ

เช่น แม้ในสมัยก่อนจะไม่มีการขายหุ้นโทรศัพท์มือถือปลอดภาษีหรืออนุมัติให้ภรรยาประมูลที่ดินจากหน่วยงานของรัฐ แต่ก็อาจมีการอนุมัติสัมปทานโทรศัพท์บ้านให้เอกชนและอนุมัติตัดถนนผ่านที่ดินซึ่งซื้อไว้แล้ว ฯลฯ

สภาพแวดล้อมทางสังคมรวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีและสื่อมวลชนทำให้เราเห็นภาพการทำงานของ “ระบอบทักษิณ” ยุคนี้ชัดกว่ายุคก่อน และวันนี้หากเรามองไปรอบๆ บนท้องถนน ตามมหาวิทยาลัย หรือในสำนักงาน เราก็อาจเห็น “ตัวเก็ง” สมาชิก “ระบอบทักษิณ” ที่กำลังจะเข้าไปใช้อำนาจเพื่อตนและพวกพ้องโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการรุนแรงแยบคายอย่างไร แต่ก็ชั่วร้ายเหมือนกันทั้งหมดทุกยุคสมัย

ขั้นที่ ๒. สาเหตุของ “ระบอบทักษิณ” คือ “ลัทธิรัฐประหาร”

หากกล่าวอย่างรวบรัด “ระบอบทักษิณ” (arguendo) เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญสองประการ คือ

เหตุที่ ๑. ประชาชนส่วนใหญ่เลือกคนไม่ดีมาบริหารประเทศ

เหตุที่ ๒. คนดีส่วนน้อยที่ถูกเลือกเข้ามาไม่อาจต่อสู้กับคนไม่ดีที่เป็นข้างมาก จนในที่สุด ก็ยอมกลายเป็นคนไม่ดีหรือออกไป และคนอื่นที่ดีก็จะไม่เสนอตนให้ประชาชนเลือก สุดท้ายประชาชนก็จำใจเลือกคนที่เลวน้อยกว่าอีกคน แม้จะเลวทั้งคู่ก็ตาม

สาเหตุ ของ “ระบอบทักษิณ” ทั้งสองข้อนี้มีต้นตอจาก “ลัทธิรัฐประหาร” ซึ่งก็คือ “ลัทธิอำนาจนิยม” ที่ประกันว่าผู้ที่มีอำนาจย่อมทำอะไรก็ได้หรือแทบทั้งหมด กล่าวคือ

ต้นตอของเหตุที่ ๑. ที่ประชาชนไม่เลือกคนไม่ดีมาบริหารประเทศ ไม่ใช่เพราะประชาชนจงใจ แต่เป็นเพราะประชาชนหลงเชื่อหรือตัดสินใจผิด ไม่ว่าจะเพราะถูกหลอก หรือถูกซื้อเสียง แต่ประชาชนจะไม่มีทางรู้ตัวเลยว่าตนได้ตัดสินใจผิด เพราะ “ลัทธิรัฐประหาร” ได้ทำการบังคับตัดตอนให้แทนแล้วว่า คนที่ตนเลือกนั้นเป็นคนไม่ดี แม้ประชาชนต้องจำยอมกับอำนาจ “ลัทธิรัฐประหาร” แต่ก็ยังฝังใจเชื่อว่าตนเลือกคนดีเข้ามาแล้ว และคนที่ตนเลือกย่อมไม่เป็น “ระบอบทักษิณ” ตามที่ถูกกล่าวหา

ในทางกลับกัน หากไม่มี “ลัทธิรัฐประหาร” เข้าแทรก สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ประเทศชาติเกิดความเสียหายจาก “ระบอบทักษิณ” แต่เมื่อความเสียหายนั้นปรากฏชัดและกระทบถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศ ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น กล่าวคือ ประชาชนรู้ทันและจับได้ว่าถูก “ระบอบทักษิณ” หลอก ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาความยากจน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่ตนหลงเชื่อ และเป็นเหตุบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องตัดสินใจได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา

ต้นตอของเหตุที่ ๒. ที่คนดีข้างน้อยไม่อาจต่อสู้กับคนไม่ดีข้างมาก จนในที่สุด ก็จะกลายเป็นคนไม่ดีหรือยอมจากไปนั้น ก็เพราะ “ลัทธิรัฐประหาร” ฝังรากว่าใครมีอำนาจผู้นั้นย่อมชนะ คนดีไม่มีอำนาจย่อมไม่อาจสู้ด้วยหลักการหรือกติกา และคนไม่ดีย่อมต้องปกป้องตนเองโดยดิ้นรนสร้างตนให้กลายเป็น “ระบอบทักษิณ” เพื่อมีอำนาจรวบรัดเพียงพอที่จะต่อสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร” ก็คืออำนาจอื่นที่จะมาโค่นล้มตน ส่วนคนดีที่รู้ตัวว่าตนไม่มีอำนาจ ก็จำใจเลือกสองอย่าง ระหว่างเข้าร่วมกับอำนาจที่ชั่วร้าย หรือเลือกที่จะแสวงหาความสุขโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจการเมือง จนไม่มีคนดีเหลือให้ประชาชนเลือก

ในทางกลับกัน หากไม่มี “ลัทธิรัฐประหาร” เข้าแทรก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผลที่เกิดในข้อแรก คือ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเจ็บตัวและรู้ทัน “ระบอบทักษิณ” และแสวงหาตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า ย่อมเป็นแรงจูงใจให้คนดีข้างน้อยต่อสู้ต่อไปเพื่อได้เป็นรัฐบาล อีกทั้งยังจูงใจให้คนดีคนอื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวเลือกแทนที่ “ระบอบทักษิณ”

ขั้นที่ ๓. การกำจัด “ระบอบทักษิณ-ลัทธิรัฐประหาร” ต้องอาศัย “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย”

ประเด็นสำคัญที่สุดของบทความนี้ คือ “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย” ซึ่งอธิบายว่า “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้ถูกโค่นล้มโดย “ลัทธิรัฐประหาร” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ตรงกันข้าม “ระบอบทักษิณ” ต่างหากที่เป็นผลพวงจาก “ลัทธิรัฐประหาร” ดังนั้น หากเราเลือกกำจัด “ระบอบทักษิณ” โดยใช้ “ลัทธิรัฐประหาร” ก็จะไม่สามารถกำจัด “ระบอบทักษิณ” ได้

ในทางกลับกัน วิธีเดียวที่จะกำจัด “ระบอบทักษิณ” ก็คือการกำจัด “ลัทธิรัฐประหาร” ซึ่งเป็นโคนรากของปัญหา โดยมีหลักการอธิบายดังนี้

หลักที่ ๑. ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่สันนิษฐานว่า เสียงส่วนใหญ่ย่อมตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง

หลักที่ ๒. แต่การตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ ต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงส่วนน้อย

หากหลักดังกล่าวเป็นจริง คำถามก็คือ เหตุใดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนคนไทยจึงได้เลือกผู้แทนและรัฐบาลที่คดโกงและนำมาสู่ “ระบอบทักษิณ” หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ “ระบอบทักษิณ” (arguendo) ได้โกงกินรวมอำนาจและทำลายประชาธิปไตยอันเป็นภัยต่อเสียงส่วนใหญ่เสียเอง

คำตอบอันแสนตื้นเขินที่มักได้ยินก็คือ เพราะเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยังโง่เขลาและไร้การศึกษา เข้าไม่ถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะทำให้เขาหล่านั้นเลือกคนดีมาบริหารประเทศ อีกทั้งยากจนแร้นแค้นจนยึดปากท้องตนเองในระยะสั้นเป็นหลัก

คำตอบนี้หากสมมติ (arguendo) ว่าถูก ก็ถูกได้แค่ครึ่งเดียว เพราะคำตอบที่ครบถ้วนนั้น ต้องอาศัย “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย” ซึ่งอธิบายหลักการเพิ่มว่า

หลักที่ ๓. แม้เสียงส่วนใหญ่ย่อมตัดสินใจเลือก “สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับตนเอง แต่การจะค้นพบว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” คืออะไรนั้น ไม่อาจข้ามขั้นตอนของเวลาและประสบการณ์ทางประชาธิปไตยที่ลองผิดลองถูก ไม่มีใครเกิดมาฉลาดทันทีหรือวิ่งได้โดยไม่เคยล้ม และความล้มเหลวผิดพลาดของตนเอง (โดยไม่มีผู้ใดมาตัดตอนคิดและตัดสินใจแทน) ย่อมเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้เรียนรู้ จำ และ เข้าใจ แม้จะต้องใช้เวลา

เช่น ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกคนไม่ดีจนเกิด “ระบอบทักษิณ” นั้น เมื่อถูกหลอกจึงจำต้องเรียนรู้ให้ทันไม่ให้ถูกหลอก และคนดีอื่น (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน นักการเมืองหน้าใหม่ หรือแม้แต่คนดีที่แฝงตัวอยู่ในรัฐบาลที่พร้อมจะชิงอำนาจจากหัวหน้า “ระบอบทักษิณ”) ก็จะสบโอกาสเสนอตัวเข้ามาแทน ผ่านการคัดค้านโจมตีและใช้เวลาพิสูจน์ความไม่ดีของ “ระบอบทักษิณ”

ในทางตรงกันข้าม หากรัฐประหารตัดตอนโค่น “ระบอบทักษิณ” เสียงส่วนใหญ่ก็จะยังปักใจยึดมั่นในการตัดสินใจของตน เพราะยังไม่ทันได้ทราบกับตนว่า “ระบอบทักษิณ” ชั่วอย่างไร และยังเพิ่มความชอบธรรมหรือความเห็นใจที่จะเลือก “ระบอบทักษิณ” กลับเข้ามาอีกครั้ง

หลักที่ ๔. เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในประเทศไม่อาจรู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ดีที่สุดในทันที เสียงส่วนใหญ่จึงย่อมไม่อาจออกกฎหมายเพื่อกำหนด “สิ่งที่ดีที่สุด” ได้ กฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) จึงต้องมุ่งเป็นเครื่องสนับสนุนกลไกการเรียนรู้และตัดสินใจเพื่อให้เสียงส่วนใหญ่สามารถค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองด้วยตนเอง

เช่น กฎหมายไม่อาจกำหนดลักษณะ “ความดี-ความชั่ว” ของนักการเมืองได้ แต่ต้องแก้ปัญหาโดยการสนับสนุนและคุ้มครอง “กระบวนการการเรียนรู้” ที่เอื้อการตรวจสอบ ทบทวน และตีแผ่ “ความอาจดี-อาจชั่ว” ของนักการเมือง เพื่อให้ผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป “กระบวนการ” เหล่านี้ย่อมได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือประท้วงรัฐบาล สิทธิการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร สิทธิในการมีวิทยุชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมและสิทธิทางศาล ตลอดจนสิทธิในสวัสดิการที่เป็นธรรม ฯลฯ

หลักการนี้คือหัวใจของทฤษฎี กล่าวคือ สมมติฐานของหลักทั้งหมดก็คือ การเชื่อว่าประชาชนคนไทยไม่ได้โง่เง่าและแผ่นดินไทยย่อมไม่สิ้นพลังความดี (โดยไม่อาศัย “ลัทธิรัฐประหาร”) ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรวบรัดสถาปนา “ระบอบทักษิณ” อย่างเบ็ดเสร็จต่อเนื่องนานจนประชาชนอดอยากล้มตายหรือชาติล่มสลายได้ และหลักสำคัญที่จะประกันความเชื่อมั่นดังกล่าว ก็คือ การอาศัยกฎหมายที่คุ้มครองและสนับสนุน “กระบวนการการเรียนรู้” ที่กล่าวมานี้เอง

หากสงสัยว่าเหตุใดต้องให้ประเทศชาติเสี่ยงต่อการเรียนรู้ที่เจ็บตัว ตอบในขั้นแรกก็คือ หากสำรวจประชาธิปไตยทั่วโลกจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญย่อมแลกด้วยบทเรียนที่ประชาชนได้มาอย่างแสนแพง อาทิ เมื่อสหรัฐฯ รบชนะอังกฤษ แต่ฝ่ายเหนือกับใต้ก็กลับมาสังหารกัน ประชาชนในฝรั่งเศสอดอยากจนลากกษัตริย์มาตัดหัว สงครามโลกได้เปลี่ยนขั้วความคิดของเยอรมันนีและญี่ปุ่น หรือแม้แต่ความขุ่นหมองของชนเผ่าที่เป็นรากฐานของรัฐในแอฟริกา ฯลฯ และในขั้นที่สอง ไม่มีอะไรประกันว่า “ลัทธิรัฐประหาร” จะไม่สร้างความรุนแรงหรือสูญเสียน้อยไปกว่าการยอมเจ็บตัวจากการเรียนรู้ตามกระบวนการ อีกทั้งความฉลาดและปัญญาของคนไทยก็อาจทำให้การเรียนรู้ไม่แย่อย่างที่คิด

หลักที่ ๕. การอาศัยเสียงส่วนน้อย (ที่ไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน) มาตัดตอนกระบวนการเรียนรู้และการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ แม้จะอ้างว่าถูกต้องหรือมีคุณธรรมกว่าก็ตาม (เช่น การชี้นำว่าคุณธรรมของนักการเมืองที่ดีต้องเป็นแบบใด ฯลฯ) ย่อมเป็นการทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยที่มุ่งรักษาประโยชน์ของเสียงส่วนใหญ่และส่วนน้อยในที่สุด และก็จะนำไปสู่ “ลัทธิรัฐประหาร” และ “ระบอบทักษิณ” ในที่สุด

เช่น กฎหมายไม่อาจให้อำนาจเสียงส่วนน้อยมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แม้รัฐบาลนั้นจะแย่หรือชั่วเพียงใด ตราบใดที่รัฐบาลนั้นไม่พ้นจากอำนาจตามกฎหมายหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงส่วนน้อย (เช่น กฎหมายจะยอมให้เสียงข้างมากออกกฎหมายละเมิดสิทธิในร่างกาย อาทิ บังคับให้ชาวไทยที่แปลงเพศทุกคนต้องแปลงเพศกลับไม่ได้)

ในทางตรงกันข้าม หากเรายอมให้เสียงส่วนน้อยมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ก็เท่ากับเปิดช่องให้ “ลัทธิรัฐประหาร” เกิดขึ้นต่อไป เช่น ขอเพียงให้มีคนกลุ่มน้อยในประเทศที่ยึดถือว่าตนมีคุณธรรมสูงกว่าเป็นผู้ใช้อำนาจโค่นผู้ที่ถูกเลือกมาโดยเสียงข้างมาก ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ถูกเลือกมาโดยเสียงข้างมาก ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากสร้างตนให้เป็น “ระบอบทักษิณ” เพื่อต่อต้านไม่ให้ตนถูกยึดอำนาจโดย “ลัทธิรัฐประหาร”

ขั้นที่ ๔. อำนาจตุลาการต้องยึด “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย”

“ลัทธิรัฐประหาร” หรือ “ลัทธิอำนาจนิยม” นี้ไม่ได้อาศัยเพียงความชั่วหรือความโลภ หรือ วัฒนธรรมอำนาจอุปถัมภ์ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยโครงสร้างของสถาบันอำนาจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทหาร หรือ สถาบันตุลาการซึ่งเอื้ออำนวยให้ “ลัทธิรัฐประหาร” สืบพันธุ์มาอยู่ได้ถึงวันนี้

ที่ว่าตุลาการเอื้อ “ลัทธิรัฐประหาร-อำนาจนิยม” นั้น ต้องให้ความเป็นธรรมในขั้นต้นว่า ตุลาการไทยไม่ใช่ผู้ที่หลับหูหลับตายอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร” ว่าเป็นพระเจ้าผู้ชอบธรรม หากแต่ตุลาการไทยได้สร้างบรรทัดฐานทางคุณค่าบางประการขึ้นมา เช่น ศาลฎีกาแต่ในอดีตเคยปฏิเสธอำนาจผู้ทำรัฐประหารว่าขัดต่อจารีตรัฐธรรมนูญ เพราะก้าวล่วงความเป็นอิสระของตุลาการอันทำให้เกิดการยึดทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๑/๒๕๓๕) แต่หากตุลาการพอใจ ก็ดำเนินการได้ และหลักการดังกล่าวก็สืบทอดต่อมาในสมัยปัจจุบัน แม้จะมีเสียงข้างน้อย เช่น ท่านกีรติ กาญจนรินทร์ที่อาจหาญปฏิเสธลัทธิดังกล่าวก็ตาม (ผู้สนใจโปรดดู http://on.fb.me/peaZtY)

สภาพของตุลาการไทยดังกล่าวจะมองว่าดีหรือชั่วอย่างไรนั้น ไม่อาจอภิปรายให้ครบ ณ ที่นี่ และต้องนำไปพิจารณาให้ตกผลึก เช่น อาจมองว่าเป็นการตีความที่ยึดตุลาการเป็นสำคัญ คือ ใครจะโค่นล้มฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารอย่างไรก็ทำได้ ตราบที่ไม่มายุ่งกับศาล กระนั้นหรือ? ฯลฯ แต่สภาพปัญหาของตุลาการไทย คือสิ่งที่นิติราษฎร์ต้องการจะแก้ไขยิ่งไปกว่าเพียงแค่ผลคำพิพากษา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าการแก้ค่านิยมความเชื่อของสถาบันที่ประกอบด้วยตุลาการผู้มีใจอันเป็นธรรมและสติปัญญานั้น ย่อมมีทางสำเร็จได้

สรุปคำเตือน: การกำจัด “ระบอบทักษิณ” และ “ลัทธิรัฐประหาร” ต้องโค่นที่ “ลัทธิรัฐประหาร”

การละเมิดกระบวนการทางประชาธิปไตย (โดย ทหาร ตุลาการ ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม ฯลฯ) คือการเสริมพลังให้ “ลัทธิรัฐประหาร” ซึ่งเป็นต้นเหตุของ “ระบอบทักษิณ” และเมื่อ “ระบอบทักษิณ” เกิดขึ้น ก็จะต้องสลับแย่งชิงอำนาจกับ “ระบอบทักษิณถัดไป” หรือผู้ทำรัฐประหารชั่วคราวอย่างไม่มีสิ้นสุด การใช้ “ลัทธิรัฐประหาร” โค่น “ระบอบทักษิณ” ไม่เพียงแต่เป็นการตัดหญ้าที่ปลายใบ แต่ยังเป็นการฝังรากปัญหาโดยการตัดตอนกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยจนผู้คนเกิดความชินชาที่จะเรียนรู้หรือเรียกร้องสิทธิในที่สุด

ซ้ำร้ายคนดีก็จะไม่เสียสละเข้ามายุ่งเกี่ยวกับลัทธิอำนาจนิยมดังกล่าว หรือแม้ยอมเข้ามา ก็เข้ามาในลักษณะที่จำกัด เช่น เป็นตุลาการที่ไม่เคยได้รับเลือกจากประชาชน หรือ เป็นสมาชิกสภาหรือคณะกรรมการพิเศษชั่วคราวที่เพียงแต่เสนอแนะความรู้โดยไม่ต้องปฏิบัติจริง หรือแบบใหม่ล่าสุด คือ การเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่ยึดอำนาจไว้ชั่วคราวเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใหม่แต่ไม่รับผิดชอบใดๆ ไม่ว่าประเทศชาติจะขัดแย้ง ประชาชนจะล้มตาย หรือ “ระบอบทักษิณ” จะกลับมา

ส่วนประชาชนก็จะพบกับ “ระบอบทักษิณ” สลับกับ “ลัทธิรัฐประหาร” ในรูปแบบที่ทันสมัยแปลกตาแต่ต่ำช้าไม่ผันแปร จึงสมแก่โอกาสสำหรับทั้งคนไม่ชอบ “ระบอบทักษิณ” และ “ลัทธิรัฐประหาร” ที่จะนำข้อเสนอนิติราษฎร์มาถกเถียงให้ลึกซึ้งและถูกประเด็นมากขึ้น และเน้นที่ “กระบวนการ” มากกว่า “คุณธรรมค่านิยม” เพื่อประชาชนจะได้ชม “ปฏิวัติ” นัดจริงกันเสียที

บทส่งท้าย

ประการแรก บทความนี้เสนอแนวคิดที่ไม่สมบูรณ์แบบบนข้อสันนิษฐานเชิงสมมติ (arguendo) เพื่อเป็นทางเลือกของแนวคิดอื่นที่พูดกันมากแต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นกัน และหากคุณทักษิณไม่ใช่ “ระบอบทักษิณ” ที่สมมติ ก็มิพักต้องกังวลในความบริสุทธิ์และความนิยมชมชอบแต่อย่างใด ทั้งนี้ แนวคิดที่เสนอมีฐานจากการศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนขอน้อมรับฟังทุกความเห็นไปพัฒนาความคิด ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดเพิ่มที่ Thesis (LL.M.)--Harvard Law School ที่ http://discovery.lib.harvard.edu/?q=verapat และตำราสำคัญชื่อ Democracy and Distrust โดย John Hart Ely


ประการที่สอง การแก้ปัญหาประชาธิปไตยต้องเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิดไม่น้อยไปกว่าการย้อนหลังเพื่อรักษาสิ่งที่ถูก สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอนั้นเป็นการกลับไปรักษาสิ่งที่ถูก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิด แต่มีหลายสิ่งที่ประชาชนคนไทยร่วมกันเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิดได้แม้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะยังไม่บรรลุ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยเริ่มจากการสำรวจข้อบกพร่องของ “ความเป็นไทย” อันเป็นรากฐานของลัทธิอำนาจนิยม รวมไปถึงการปฏิรูปทหารให้ฟังผู้บังคับบัญชาที่มาจากประชาชน และปฏิรูปให้ตุลาการต้องอธิบายกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจ ตลอดจนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบหน้าที่การนำอภิปราย ศึกษา ค้นคว้าปัญหาอย่างเป็นระบบมากไปกว่าการยิ้มเยาะหรือชินชาต่อกลุ่มอาจารย์เพียงเจ็ดคน

ส่วนการเอาผิดกับผู้ทำรัฐประหารนั้น แม้อาจยังทำไม่ได้ในทางกฎหมาย แต่วันนี้ก็ทำได้ในทางข้อเท็จจริง เช่น ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อาศัยช่องทาง อาทิ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ และ ๕๖ จัดให้มีกระบวนการ “ศึกษาและตีแผ่ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับกระบวนการรัฐประหารยึดอำนาจ ตรวจสอบทรัพย์สินหลังการพ้นตำแหน่งและบทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยแม้ยังไม่มีนัยทางกฎหมายจะลงโทษได้ แต่ผู้กระทำการเหล่านี้จะหลุดพ้นจาก “กระบวนการการจดจำและรับรู้” ของประชาชนไม่ได้ ฯลฯ

ประการสุดท้าย ผู้เขียนจบบทความด้วยความคาดหวังว่าสังคมไทยกำลังก้าวออกจากยุคมืดทางนิติศาสตร์ แม้เรายังขาดนักกฎหมายที่ผสานหลักการและความเป็นจริงพร้อมเชื่อมโยงตนกับประชาชนได้อย่างลงตัว แต่อย่างน้อยกลุ่มนิติราษฎร์ที่ชำนาญทฤษฎีภาคพื้นยุโรปย่อมทราบดีถึงวลีอมตะที่ว่า การค้นหากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมนั้น พึงแสวงจาก “มนุษย์ดังที่เป็นและกฎหมายดังที่ควรเป็น” (en prenant les hommes tels qu'ils sont, et les lois telles qu'elles peuvent être) วันนี้นิติราษฎร์ได้จุดประกาย “กฎหมายดังที่ควรเป็น” แต่งานสำคัญที่เราประชาชนทุกคนต้องร่วมทำพร้อมกันก็คือ การค้นพบและทบทวนตัว “มนุษย์ดังที่เป็น” เพื่อแสวงหาว่ากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมของเราอยู่ที่ใด!
กำลังโหลดความคิดเห็น