xs
xsm
sm
md
lg

ไต่เต้าคว้าดาวบันไดสังคม ลดความเสี่ยง ‘ความดันสูง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – ผลศึกษาพบ คนที่ไม่สามารถไต่เต้าบันไดสังคมมีแนวโน้มมากกว่าคนที่บ้านช่องมีอันจะกิน ในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
รายงานที่เผยแพร่ในวารสาร เจอร์นัล ออฟ เอพิเดมิโอโลจี้ แอนด์ คอมมิวนิตี้ เฮลธ์ แสดงให้เห็นว่าคนที่มีสถานะสังคมดีกว่าพ่อแม่ มีความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงน้อยลงประมาณ 1 ใน 5 ส่วนคนที่ตกต่ำกว่าพ่อแม่มีความเสี่ยงสูงขึ้น 42%
ตัวอย่างคนที่ไต่เต้าสูงขึ้นไปที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ เคต และปิ๊ปปา มิดเดิลตัน ที่ถูกเรียกขานกันว่า ‘พี่น้องวิสเทอเรีย’
แครอล แม่ของสองสาว เคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตส ขณะที่บรรพบุรุษรุ่นก่อนเป็นชนชั้นแรงงานและชาวเหมืองในมณฑลเดอแรม
งานศึกษาระบุว่า การไต่เต้าทางสังคมดีต่อสุขภาพ เพราะลดโอกาสในการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
นักวิจัยจากสถาบันคาโรลินสกาในสต็อกโฮล์ม สวีเดน ศึกษาภูมิหลังและประวัติการรักษาพยาบาลของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นฝาแฝดเพศเดียวกัน 12,030 คนที่เกิดระหว่างปี 1926-1958 โดยมีการส่งแบบสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิตทางไปรษณีย์ในปี 1973 และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ระหว่างปี 1998-2002
แบบสำรวจประกอบด้วยคำถาม อาทิ การเข้ารับการบำบัดโรคความดันโลหิตสูง ขณะที่นักวิจัยค้นหาอาชีพของพ่อแม่จากสูติบัตรของกลุ่มตัวอย่าง
ผลศึกษาพบว่าคนที่มีงานที่ถือว่าต่ำกว่าพ่อแม่หรือไม่มีงานทำ มีโอกาสมากขึ้นที่จะมีความดันโลหิตสูง โดยอาการนี้ยังเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่และดื่มเหล้ามากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีเกลือสูง
“โดยสรุปก็คือ การศึกษานี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่าพ่อแม่กับความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง มันบ่งชี้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อความดันโลหิตตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของชีวิต
“อย่างไรก็ตาม การไต่เต้าทางสังคมเชื่อมโยงกับความเสี่ยงความดันโลหิตที่ลดลง หรืออีกนัยหนึ่งคือความเสี่ยงความดันโลหิตสูงที่เชื่อมโยงกับสถานะทางสังคม สามารถแก้ไขได้ด้วยสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นในเวลาต่อมา”
นั่นหมายถึงการที่หน่วยงานรัฐทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น ควรหาวิธีอุดช่องว่างด้านสุขภาพระหว่างคนรวยกับคนจน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีประชากรกลุ่มใดถูกทอดทิ้งอยู่เบื้องหลัง
เคที รอสส์ พยาบาลอาวุโสแผนกโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจของมูลนิธิหัวใจอังกฤษ แสดงความเห็นว่า การศึกษานี้ตอกย้ำหลักฐานที่ว่าความแตกต่างด้านเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อสุขภาพของคนเรา
“สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับต่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง
“ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลักฐานเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า การยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอาจช่วยยกระดับการตื่นตัวด้านสุขภาพ และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวโยงกับสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานรัฐทั้งระดับชาติและท้องถิ่นควรเข้ามาดูแลจัดการในเรื่องนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น