xs
xsm
sm
md
lg

MOU 43 และ MOU 44 จุดเริ่มต้นและการยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

เมื่อตอนที่แล้วผมสัญญากับผู้อ่านไว้ว่าจะเขียน “คนโขนใส่หัวโขน ตอนที่ 2-3” และจะนำเสนอบทวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่แล้วก็ไม่สามารถจะทำการนั้นต่อเนื่องได้ เพราะเหตุมีเรื่องสำคัญที่ควรเขียนเสียก่อน ดังนั้นบทความในครั้งนี้และครั้งหน้าจะเป็นเรื่อง “MOU 43 แล ะMOU 44 จุดเริ่มต้นและการยอมรับ” ติดต่อกัน 2 ตอนแล้วจึงกลับไปเขียนเรื่อง “คนโขนใส่หัวโขน” ต่อให้จบตามสัญญา

จากการศึกษาเรื่อง MOU 43 และ MOU 44 โดยละเอียดกับทั้งหนังสือต้นร่างที่มีการประชุมตกลงกันระหว่างไทยกับกัมพูชา เราอาจมองเห็นภาพความต่อเนื่องกันของการทำ MOU 43 และ MOU 44 โดยที่ MOU ทั้งสองฉบับนี้ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) กับไม่ใส่ใจที่จะนำเรื่องนี้ไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตามที่ตราไว้ในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปีพุทธศักราช 2540 ผมจึงถือว่า MOU ดังกล่าว เป็น MOU เถื่อนทั้ง 2 ฉบับ แต่อย่างไรก็ดี MOU ต่างถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองทั้งสองประเทศไม่ว่าจะเป็นไทยหรือกัมพูชามากกว่าที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม

MOU 43 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำเขตแดนทางบก ส่วน MOU 44 เป็นเรื่องการแบ่งพื้นที่ทะเลและมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะโดยหลักการแล้วต้องจัดการกับเขตแดนทางบกให้จบเสียก่อน ก่อนที่จะจัดการผลประโยชน์ในพื้นที่ทะเล อย่างไรก็ดี การจัดทำ MOU ทั้งสองฉบับมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ทางฝ่ายกัมพูชาแทบทั้งสิ้น

MOU (Memorandum of Understanding) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “บันทึกความเข้าใจ” ฉบับที่จะกล่าวถึงก่อนได้แก่

1. MOU 43 “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก” ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ระหว่างม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และนายวาร์ คิม ฮง ภายใต้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หนังสือต้นร่างที่ระบุถึงเรื่องนี้ได้แก่

หนังสือลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นรายงานผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาอันเป็นที่มาของการจัดทำ MOU 43 โดยสาระสำคัญในเนื้อหาของหนังสือฉบับนี้ก็คือ

1. เป็นการนำเสนอนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ให้อนุมัติเพื่อดำเนินการจัดทำ MOU

2. เป็นการรายงานผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2543

3. เป็นการไปหยิบเอาแผนที่เก๊ 11 ระวาง ที่อ้างว่าจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามอินโดจีน (เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา) มาเป็นเอกสารที่ผูกพันไทยกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

4. เป็นจุดเริ่มต้นของ TOR 46 ที่เน้นย้ำแผนที่เก๊ทั้ง 11 ระวางว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก อันเป็นผลทำให้กัมพูชาเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารและแนวชายแดนไทย-กัมพูชาโดยรัฐบาลและทหารไทยนิ่งเฉย

5. เป็นที่มาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม ที่มีหน้าที่เป็นผู้กำหนด TOR (ซึ่งเป็นที่มาของ TOR 46 ซึ่งทำเสร็จสิ้นไปตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และทำการพิสูจน์หลักเขตแดนรวมถึงการกำหนดเขตแดนร่วมกันกับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผลงานที่มีปัญหาคือ รายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับที่ยังไม่ผ่านที่ประชุมของรัฐสภา (อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น