คุณอาเสมของผม คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎา 2554 นับจากวันเกิด 31 พฤษภาคม 2454 เป็นเวลา 100 ปีกับอีก 8 วัน
ท่านเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถึงแม้จะมิใช่บิดาหรือผู้บุกเบิกการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ก็เป็นผู้ที่ทำให้การสาธารณสุขในรูปแบบที่ควรจะในคติสุขภาพทั่วถ้วนหน้า คือยุติธรรมทั่วถึง มีคุณภาพได้ขยายตัวและหยั่งรากลงในจิตสำนึก กระบวนการและปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งเคยเน้นและทุ่มเทให้การรักษาพยาบาลมากกว่าการป้องกัน อันเป็นเหตุให้กรมการแพทย์และโรงพยาบาลกลายเป็นแหล่งของอำนาจ และสัญลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นเวลาช้านาน
จนกระทั่งมีการเปลี่ยนมามุ่งเน้นการสาธารณสุขและป้องกัน ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขในยุคของนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี 2517 ด้วยการริเริ่มของ 2 กัลยาณมิตร นิสิตแพทย์ร่วมรุ่น คือ ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ รมว. และศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รมช.กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น
แน่ละ ทั้งในและนอกสภานิติบัญญัติเป็นความสำเร็จที่ใช่ว่าจะปราศจากการต่อสู้ การคัดค้านต้านทานจากอำนาจเดิมและสมุนบริวารกับพวกพ้องที่เห็นดีเห็นงามเพราะผลประโยชน์ก็ดี เครือข่ายสายใยสัมพันธ์อื่นตามวัฒนธรรมไทยก็ดีเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งในแบบและนอกแบบ ทั้งในและนอกสภานิติบัญญัติ กว่าจะสำเร็จได้ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าหืดขึ้นคอ
ท่านที่สนใจอาจจะไปอ่านรายงานการประชุมสภานิติบัญญัติเรื่องนี้ได้ ผมกับคุณอาเสมได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ คุณอาในคณะรัฐมนตรีซึ่งก็มีด่านสำคัญอยู่บางด่าน และผมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีป้อมปราการอันแน่นหนาของอนุรักษนิยมที่น่ารักน่าหยิก อาทิ กลุ่มดุสิต 99 ของพี่เษมของผมอีกคน คือคุณเกษม จาติกวณิช ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพยิ่ง หากผมล็อบบี้พี่เษมไม่สำเร็จงานนี้ก็คงพัง เพราะฝ่ายคัดค้านล้วนแต่ลำหักลำโค่นทั้งนั้น ได้แก่ นายแพทย์เชิด โทณะวณิก อธิบดีกรมการแพทย์ และสมัคร สุนทรเวช นักอภิปรายฝีปากกล้า เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีหมอวิทูรย์ แสงสิงแก้ว เลขานุการกรมของคุณอาหมอเชิด วิทูรย์อยู่จุฬาฯหลังผม 1 ปี แต่คุ้นเคยกันมาแต่เด็ก เพราะพ่อวิทูรย์คืออาฝนเพื่อนรักของพ่อผม เป็นสองหนุ่มอีสานที่มาเรียนแพทย์รุ่น 1 และ 2 ด้วยกัน นพ.ฝน แสงสิงแก้ว ได้เป็นอธิบดีหลายกรมและสุดท้ายเป็นปลัดกระทรวง วิทูรย์ เจริญรอยตามพ่อ ในที่สุดได้เป็นปลัด อาฝนเป็นที่เคารพของแพทย์คู่ต่อสู้ทั้ง 2 ค่าย เมื่อผมเล่าให้อาฝนฟังว่าวิทูรย์ขู่เพื่อนแพทย์คนหนึ่งในสภานิติบัญญัติว่าหากกฎหมายถูกตีตกเมื่อไรก็จะย้ายมาอยู่หน้าห้อง อาฝนหัวเราะบอกว่า “โมดอย่าไปถือวิทูรย์มัน ทำตามที่โมดเชื่อ อาเอาใจช่วย” ทำให้อาเสมมีกำลังใจเป็นอันมาก
ท่านที่ไม่เคยรู้จัก รู้จักบ้างและอยากรู้จักอาเสมของผม ขอให้ไปเปิด www.google.co.th ดู กดชื่อท่านลงไปเป็นภาษาไทย หรือจะหาหนังสือ “กระบวนการสานต่อหนึ่งศตวรรษยืนหยัดเพื่อสังคมเสม พริ้งพวงแก้ว” ดูไปพลางก่อน จนกว่าจะมีหนังสือดีๆ สักเล่มเกี่ยวกับอาเสมออกมา ซึ่งอาจจะต้องรอไปถึงชาติหน้า
ผมอยากจะบอกว่าผมอยากเขียนแต่คงหาโอกาสเขียนไม่ได้แน่ๆ ปัญหาก็คือตัวผมเองและสังคมไทยประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องเดียวกัน
ความจริงผมอาจจะเป็นคนที่รู้จักคุณอาเสมนานกว่าทุกคนที่เป็นสานุศิษย์และเขียนถึงคุณอาเสมในเล่มนั้นหรือที่อื่นๆ ส่วนคุณอาเสมนั้นต้องนับว่ารู้จักผมมาตั้งแต่เกิดทีเดียวก็ว่าได้ และรู้จักครอบครัวผมมาเกือบหนึ่งศตวรรษเต็มๆ ทีเดียว ลูกชาย 2 คนเรียกอาหมอเสมว่าปู่เสม คนโตดีใจมากที่เกิดวันเดือนดียวกับคุณปู่ ทั้งสองคนคุณปู่เป็นผู้ใหญ่แต่งงานให้
พ่อผมชื่อ อ้วน แม่ผมชื่อ อรุณ พ่อเป็นนิสิตแพทย์รุ่น 1 แม่เป็นนักเรียนพยาบาลคนแรกที่สอบได้ทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ แต่แม่รักพ่อมากกว่าจึงสละทุนขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ด้วย เมื่อพ่อเรียนจบ ภริยาคุณอาเสมคือคุณอาแฉล้ม เป็นพยาบาลเหมือนกันแต่คงจะรุ่นหลังแม่ผมมาก เพราะคุณอาเคยเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อตอนอยู่เชียงใหม่แม่ผมเคยสอนภาษาอังกฤษให้ ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคุณลุงขุนสมาน พี่ชายของคุณอาแฉล้มเป็นคนทำคลอดผม (บ้านไม้สักหลังใหญ่ที่สุดบนถนนช้างม่อย ต.ช้างคลาน อ.เมือง เชียงใหม่)
สมเด็จพระราชบิดาซึ่งสวรรคตไปก่อนทรงสั่งพ่อผมไว้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วแกต้องไปทำงานเชียงใหม่ พ่อผมจึงเป็นแพทย์ปริญญาคนแรกของเชียงใหม่ เป็นหมอประจำโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2471-78 ในปี 2478 พ่อขอย้ายไปดูแลคุณปู่ที่อุดรฯ กระทรวงไม่ยอมแถมย้ายไปเป็นสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ่อเลยลาออกในปี 2479 และสมัครได้เป็นผู้แทนราษฏรในปี 2480
คุณอาเสมเป็นรุ่นน้องพ่อผม 7 รุ่นเพราะคุณอาเป็นนิสิตแพทย์รุ่น 8 อาหมอเสมเล่าว่าสนิทกันมาก่อนตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียม เพราะพ่อผมเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิต แม้แต่ “ยาขอบ” ก็ยังยกย่องให้เป็นครูการประพันธ์ คุณอาเสมจบปี 2478 กว่าจะได้ย้ายขึ้นไปภาคเหนือก็ปี 2480 ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าคุณอาไปสนิทสนมกับพ่อผมและเล่าว่ารู้จักผมมาแต่เกิดได้อย่างไร ผมเดาเอาว่าในขณะที่เป็นนักเรียนแพทย์คุณอาเสมอาจจะตามขึ้นไปจีบนักเรียนพยาบาลแฉล้ม และไปพักที่บ้านหมออ้วน เช่นเดียวกับเพื่อนแพทย์และลูกหลานคนอื่นๆ ที่ขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่ก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้กระมัง ตั้งแต่รัฐบาลสัญญาเป็นต้นมา คุณอาเสมจึงเรียกใช้ผม และผมเองก็ได้พึ่งคุณอาในการทำงานต่างๆ เพื่อรับใช้สังคมตลอดชีวิตคุณอา (ยังมีต่อ)
ท่านเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถึงแม้จะมิใช่บิดาหรือผู้บุกเบิกการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ก็เป็นผู้ที่ทำให้การสาธารณสุขในรูปแบบที่ควรจะในคติสุขภาพทั่วถ้วนหน้า คือยุติธรรมทั่วถึง มีคุณภาพได้ขยายตัวและหยั่งรากลงในจิตสำนึก กระบวนการและปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งเคยเน้นและทุ่มเทให้การรักษาพยาบาลมากกว่าการป้องกัน อันเป็นเหตุให้กรมการแพทย์และโรงพยาบาลกลายเป็นแหล่งของอำนาจ และสัญลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นเวลาช้านาน
จนกระทั่งมีการเปลี่ยนมามุ่งเน้นการสาธารณสุขและป้องกัน ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขในยุคของนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี 2517 ด้วยการริเริ่มของ 2 กัลยาณมิตร นิสิตแพทย์ร่วมรุ่น คือ ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ รมว. และศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รมช.กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น
แน่ละ ทั้งในและนอกสภานิติบัญญัติเป็นความสำเร็จที่ใช่ว่าจะปราศจากการต่อสู้ การคัดค้านต้านทานจากอำนาจเดิมและสมุนบริวารกับพวกพ้องที่เห็นดีเห็นงามเพราะผลประโยชน์ก็ดี เครือข่ายสายใยสัมพันธ์อื่นตามวัฒนธรรมไทยก็ดีเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งในแบบและนอกแบบ ทั้งในและนอกสภานิติบัญญัติ กว่าจะสำเร็จได้ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าหืดขึ้นคอ
ท่านที่สนใจอาจจะไปอ่านรายงานการประชุมสภานิติบัญญัติเรื่องนี้ได้ ผมกับคุณอาเสมได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ คุณอาในคณะรัฐมนตรีซึ่งก็มีด่านสำคัญอยู่บางด่าน และผมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีป้อมปราการอันแน่นหนาของอนุรักษนิยมที่น่ารักน่าหยิก อาทิ กลุ่มดุสิต 99 ของพี่เษมของผมอีกคน คือคุณเกษม จาติกวณิช ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพยิ่ง หากผมล็อบบี้พี่เษมไม่สำเร็จงานนี้ก็คงพัง เพราะฝ่ายคัดค้านล้วนแต่ลำหักลำโค่นทั้งนั้น ได้แก่ นายแพทย์เชิด โทณะวณิก อธิบดีกรมการแพทย์ และสมัคร สุนทรเวช นักอภิปรายฝีปากกล้า เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีหมอวิทูรย์ แสงสิงแก้ว เลขานุการกรมของคุณอาหมอเชิด วิทูรย์อยู่จุฬาฯหลังผม 1 ปี แต่คุ้นเคยกันมาแต่เด็ก เพราะพ่อวิทูรย์คืออาฝนเพื่อนรักของพ่อผม เป็นสองหนุ่มอีสานที่มาเรียนแพทย์รุ่น 1 และ 2 ด้วยกัน นพ.ฝน แสงสิงแก้ว ได้เป็นอธิบดีหลายกรมและสุดท้ายเป็นปลัดกระทรวง วิทูรย์ เจริญรอยตามพ่อ ในที่สุดได้เป็นปลัด อาฝนเป็นที่เคารพของแพทย์คู่ต่อสู้ทั้ง 2 ค่าย เมื่อผมเล่าให้อาฝนฟังว่าวิทูรย์ขู่เพื่อนแพทย์คนหนึ่งในสภานิติบัญญัติว่าหากกฎหมายถูกตีตกเมื่อไรก็จะย้ายมาอยู่หน้าห้อง อาฝนหัวเราะบอกว่า “โมดอย่าไปถือวิทูรย์มัน ทำตามที่โมดเชื่อ อาเอาใจช่วย” ทำให้อาเสมมีกำลังใจเป็นอันมาก
ท่านที่ไม่เคยรู้จัก รู้จักบ้างและอยากรู้จักอาเสมของผม ขอให้ไปเปิด www.google.co.th ดู กดชื่อท่านลงไปเป็นภาษาไทย หรือจะหาหนังสือ “กระบวนการสานต่อหนึ่งศตวรรษยืนหยัดเพื่อสังคมเสม พริ้งพวงแก้ว” ดูไปพลางก่อน จนกว่าจะมีหนังสือดีๆ สักเล่มเกี่ยวกับอาเสมออกมา ซึ่งอาจจะต้องรอไปถึงชาติหน้า
ผมอยากจะบอกว่าผมอยากเขียนแต่คงหาโอกาสเขียนไม่ได้แน่ๆ ปัญหาก็คือตัวผมเองและสังคมไทยประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องเดียวกัน
ความจริงผมอาจจะเป็นคนที่รู้จักคุณอาเสมนานกว่าทุกคนที่เป็นสานุศิษย์และเขียนถึงคุณอาเสมในเล่มนั้นหรือที่อื่นๆ ส่วนคุณอาเสมนั้นต้องนับว่ารู้จักผมมาตั้งแต่เกิดทีเดียวก็ว่าได้ และรู้จักครอบครัวผมมาเกือบหนึ่งศตวรรษเต็มๆ ทีเดียว ลูกชาย 2 คนเรียกอาหมอเสมว่าปู่เสม คนโตดีใจมากที่เกิดวันเดือนดียวกับคุณปู่ ทั้งสองคนคุณปู่เป็นผู้ใหญ่แต่งงานให้
พ่อผมชื่อ อ้วน แม่ผมชื่อ อรุณ พ่อเป็นนิสิตแพทย์รุ่น 1 แม่เป็นนักเรียนพยาบาลคนแรกที่สอบได้ทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ แต่แม่รักพ่อมากกว่าจึงสละทุนขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ด้วย เมื่อพ่อเรียนจบ ภริยาคุณอาเสมคือคุณอาแฉล้ม เป็นพยาบาลเหมือนกันแต่คงจะรุ่นหลังแม่ผมมาก เพราะคุณอาเคยเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อตอนอยู่เชียงใหม่แม่ผมเคยสอนภาษาอังกฤษให้ ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคุณลุงขุนสมาน พี่ชายของคุณอาแฉล้มเป็นคนทำคลอดผม (บ้านไม้สักหลังใหญ่ที่สุดบนถนนช้างม่อย ต.ช้างคลาน อ.เมือง เชียงใหม่)
สมเด็จพระราชบิดาซึ่งสวรรคตไปก่อนทรงสั่งพ่อผมไว้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วแกต้องไปทำงานเชียงใหม่ พ่อผมจึงเป็นแพทย์ปริญญาคนแรกของเชียงใหม่ เป็นหมอประจำโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2471-78 ในปี 2478 พ่อขอย้ายไปดูแลคุณปู่ที่อุดรฯ กระทรวงไม่ยอมแถมย้ายไปเป็นสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ่อเลยลาออกในปี 2479 และสมัครได้เป็นผู้แทนราษฏรในปี 2480
คุณอาเสมเป็นรุ่นน้องพ่อผม 7 รุ่นเพราะคุณอาเป็นนิสิตแพทย์รุ่น 8 อาหมอเสมเล่าว่าสนิทกันมาก่อนตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียม เพราะพ่อผมเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิต แม้แต่ “ยาขอบ” ก็ยังยกย่องให้เป็นครูการประพันธ์ คุณอาเสมจบปี 2478 กว่าจะได้ย้ายขึ้นไปภาคเหนือก็ปี 2480 ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าคุณอาไปสนิทสนมกับพ่อผมและเล่าว่ารู้จักผมมาแต่เกิดได้อย่างไร ผมเดาเอาว่าในขณะที่เป็นนักเรียนแพทย์คุณอาเสมอาจจะตามขึ้นไปจีบนักเรียนพยาบาลแฉล้ม และไปพักที่บ้านหมออ้วน เช่นเดียวกับเพื่อนแพทย์และลูกหลานคนอื่นๆ ที่ขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่ก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้กระมัง ตั้งแต่รัฐบาลสัญญาเป็นต้นมา คุณอาเสมจึงเรียกใช้ผม และผมเองก็ได้พึ่งคุณอาในการทำงานต่างๆ เพื่อรับใช้สังคมตลอดชีวิตคุณอา (ยังมีต่อ)