xs
xsm
sm
md
lg

ค้าชายแดนสระแก้ววูบกว่า 30% เหตุผู้ผลิตขึ้นราคาสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สระแก้ว-ค้าชายแดนไทย-กัมพูชาด้านจังหวัดสระแก้ว วูบแล้วกว่า 30% หลังคู่ค้าในประเทศกัมพูชาหันไปซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคจากประเทศจีน และเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า แทน เหตุเพราะผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทยแห่ขึ้นราคาสินค้ารับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาล ขณะที่รองประธานหอฯสระแก้วหวั่นตัวเลขการค้าเมื่อถึงสิ้นปี 2554 อาจไม่ถึง 2 หมื่นล้าน

นายวันชัย เกียรติดำรงวงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว เผยถึงภาวะการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ด้านอ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนไม่น้อยกว่า 30% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทให้แก่แรงงานของรัฐบาล ทำให้เจ้าของสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค แห่ปรับราคาลองเชิงตลาด โดยราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ทำให้คู่ค้าในประเทศกัมพูชาชะลอคำสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค- บริโภคจากประเทศไทย แต่หันไปซื้อสินค้าจากจีน และเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า แม้จะด้อยคุณภาพก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้คำสั่งซื้อสินค้าอุปโภค- บริโภคจากไทยจะลดน้อยลง แต่ในส่วนของสินค้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้างยังคงมียอดการสั่งซื้อที่ดี จากการขยายตัวทางการลงทุนในประเทศกัมพูชา

“การประกาศนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันของรัฐบาล มีผลต่อการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อผู้ผลิตสินค้าลองเชิงตลาดด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อรอรับการปรับขึ้นค่าแรง ก็ทำให้ต้นทุนสินค้าจากไทยสูงขึ้น ผลที่ตามมาก็คือคู่ค้ากัมพูชาไม่สั่งซื้อสินค้าจากเรา ซึ่งหากไตรมาสที่ 4 ตัวเลขการค้ายังชะลอตัวเช่นนี้ก็อาจมีผลต่อมูลค่าการค้ารวมในช่วงสิ้นปีที่อาจไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาทอย่างที่ผ่านๆ มา”

นายวันชัย ยังเผยถึงความผันผวนจากราคาทองคำในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยใหญ่ที่ทำให้คู่ค้ากัมพูชา ยังไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าล็อตใหญ่จากไทย เพราะคู่ค้ายังคงจับตาทิศทางราคาทองคำเพื่อตัดสินใจซื้อสินค้าเช่นกัน

ขณะนี้หอการค้าสระแก้ว พยายามที่จะเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชาให้แล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาถนนหนทาง ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรถยนต์เข้าไปในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าของไทยในอนาคต แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากหน่วยงานราชการ และหน่วยที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน ในการผลักดันโครงการดังกล่าวอย่างแท้จริง จึงทำให้แผนพัฒนาระบบลอจิสติกส์จากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น