xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละนโยบาย 23-24 ส.ค. “ปชป.”จัดเต็ม หวังนายกฯปูตอบเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17 ส.ค) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบเวลาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า ตามกรอบที่รัฐบาลได้วางไว้คือวันที่ 22 ส.ค.นี้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แต่ก็จะให้แถลงวิปทั้ง 2 ฝ่ายมาประชุมร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ส่วนตัวเห็นว่าถ้าใช้เวลาการแถลงออกไปถึงช่วงดึก เพื่อให้รัฐบาลใช้เวลาในการแถลงนโยบายอย่างเต็มที่ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นแถลงนโยบายนั้น ในวันที่ 25 ส.ค.รัฐบาลจะเชิญผู้บริหารรระดับสูงของหน่วยงานต่างๆรับทราบถึงนโยบายด้วย

**สรุปชำแหละนโยบาย 23-24 ส.ค.
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมตัวแทนระหว่างพรรคการเมืองและวุฒิสภาว่า ที่ประชุมได้กำหนดวันอภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาไว้ 2 วันคือวันที่ 23-24 ส.ค. โดยจะแบ่งเวลาอภิปรายให้พรรคร่วมรัฐบาล 11 ชม. พรรคร่วมฝ่ายค้าน 11ชม. และวุฒิสภา 6 ชม. ส่วนหัวหน้าฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรค และ นายกฯ ไม่จำกัดเวลาอภิปราย สำหรับการอภิปรายในวันที่ 23 ส.ค. จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 09.00 น. ส่วนจะเลิกเวลาใดนั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา แต่คาดว่าจะอภิปรายจนถึงประมาณ 24.00 น. สำหรับรูปแบบการอภิปราย จะเป็นการอภิปรายในภาพรวมนโยบายทั้งฉบับจะไม่อภิปรายไล่ทีละหัวข้อ ส่วนที่เป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวายจากการประท้วงของสมาชิกนั้น ในฐานะประธานจะดูแลการประชุมโดยใช้ข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้คาดว่าจะมีกาปรระสานไปทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเพื่อถ่ายทอดสดการประชุมทั้งสองวัน

**แมลงสาบพร้อมจัดหนักนโยบาย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคได้เตรียมการอยู่ 3 เรื่องคือ เรื่องการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยฝ่ายค้านจะเตรียมตัวในวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ให้ส.ส.แสดงความจำนงว่าจะอภิปรายในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญนโยบายเร่งด่วนกับนโยบาย 3-4 ปีที่จะต้องเชื่อมโยงกับความคาดหวังกับประชาชน ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่จะมีการวิเคราะห์และอภิปราย โดยทางพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมในการจัดเตรียมระบบที่จะอภิปราย
ส่วนกรอบการอภิปรายจะถือเอาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าได้มีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ รวมทั้งดูความเหมาะสมในนโยบายด้านอื่นๆ ที่อาจจะไปเกี่ยวพันกับนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยผลักดันหรือไม่ ในเบื้องต้นที่ต้องพูดก่อนแถลงนโยบาย รวมถึงการดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งถือว่าอยู่ในความสนใจของประชาชน
“อยากให้ผู้นำรัฐบาลเป็นผู้ตอบ เพราะนโยบายหลายเรื่องไม่ได้อยู่ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพราะเรื่องที่ตัดสินใจส่วนใหญ่คาบเกี่ยวหลายกระทรวง รัฐบาลจึงต้องมีท่าทีที่ชัดเจน ส่วนจะโยนให้รองนายกฯ หรือรมต.คนอื่นตอบแทนนั้น ก็คงจะไปบังคับนายกฯ ไม่ได้ แต่ก็คิดว่าคนเป็นหัวหน้ารัฐบาลควรสร้างความมั่นใจในแง่ของทิศทางด้วยการตอบคำถามด้วยตัวเอง”
พรรคมีความพร้อมที่จะอภิปรายนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ และเห็นว่าวันเวลาการอภิปรายนโยบาย น่าจะกำหนดไว้ที่ประมาณ 3 วัน เนื่องจากการอภิปรายครั้งนี้ นอกจาก ส.ส. แล้ว ยังมี ส.ว.ด้วย ทั้งนี้เห็นว่านายกรัฐมนตรี ควรที่จะเป็นผู้อภิปรายด้วยตนเองในส่วนของพรรคจะอภิปรายบนหลักความเหมาะสม ในนโยบายรัฐบาล เช่นก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี เผย ระบุว่าจะทำเพื่อประชาชนไทยทั้งชาติ แต่วันนี้บางเรื่องกลับทำเพื่อพวกพ้อง

**แฉล๊อบบี้เร่งวันหวังฝ่ายค้านเตรียมไม่ทัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า การแถลงนโยบายนั้น ตอนแรกเข้าใจว่าจะเป็นวันที่ 24 ส.ค.นี้ และจะเปิดโอกาสให้มีการพูดกัน แต่ไปๆมาๆ กลับบีบเหลือ 2 วัน และ พยายามที่จะให้อภิปรายวันจันทร์ให้ได้ ตนคิดว่าไม่มีความจำเป็น เพราะเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 15 วันนั้นก็ยังมีเวลาอยู่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปประชุมตั้งแต่วันจันทร์ และหากมีการประชุมจริง ก็จะเป็นปัญหา เพราะรัฐบาลพูดทำนองเหมือนกับว่า จะส่งเอกสารให้ตั้งแต่วันศุกร์ จะทำให้ฝ่ายค้านหรือสภาฯไม่มีเวลาพอที่จะดูเอกสาร และเตรียมข้อมูลสำหรับการพูดได้ ทำให้การทำงานในการควบคุมการทำงานและตรวจสอบรัฐบาลทำงานได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่านโยบายถูกต้องเป็นประโยชน์ ก็ไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องมากังวลว่าจะมีการอภิปรายตรวจสอบนโยบาย

**กอร์ปฯซัดค่าแรง 300 ทำไม่ได้ใน 1 ปี
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก รัฐบาลควรใช้เม็ดเงินในการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้เข้ากับประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน การสร้างท่าเรือ เพราะปัจจุบันขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีต้นทุนในการดำเนินการธุรกิจต่ำที่สุด ขณะที่นโยบายประชานิยมนั้นแม้เป็นเรื่องที่ดีแต่ก็มีความเสี่ยงต่องบประมาณ เนื่องจากไม่ได้เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ
นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน อาจไม่สามารถดำเนินการได้จริงภายใน 1 ปี เพราะในบางพื้นที่นายจ้างต้องปรับเพิ่มค้าจ้างให้ลูกจ้างกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานและเงินเฟ้อยังปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

**ปชป.ค้านรัฐบาลเลิกรถเมล์-รถไฟฟรี
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงคัดค้านแนวคิดของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะยกเลิกโครงการรถเมล์-รถไฟฟรีเพื่อประชาชน การที่พล.อ.อ.สุกำพลอ้างว่าโครงการดังกล่าวมีผู้ใช้บริการไม่มาก เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อมูลปัจจุบันโครงการรถไฟฟรี มีผู้ใช้บริการกว่า 30 ล้านคนต่อปี หรือ 2.8 ล้านคนต่อเดือน ส่วนโครงการรถเมล์ฟรีมีจำนวน 9 แสนตั๋วต่อวัน หรือ 30 ล้านตั๋วต่อเดือน โดยใช้รถ 800 คันใน 73 เส้นทาง ดังนั้นตนจึงเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ที่เป็นสวัสดิการบริการคนจน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัชระยังได้นำโมเดลรถเมล์จำลองที่ติดสติกเกอร์ “อย่าเลิกรถเมล์ฟรีของประชาชน” มาแสดง พร้อมอธิบายว่ารถเมล์คันนี้มีโชเฟอร์ชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และมีคนนั่งข้างๆคือ พ.ต.ท.ทักษิญ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยบอกว่าจะคืนความสุขให้แก่ประชาชน แต่พอเข้ามาทำหน้าที่กลับมาขูดรีดกับประชาชน โดยยึดค่าโดยสาร 7 บาทของคนหาเช้ากินค่ำ เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว อยากให้รัฐบาลสำนึกในบุญคุณของประชาชนที่ทำให้มีโอกาสเข้ามาดำรงตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น