xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 7

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง

                                                                       ชวินทร์ ลีนะบรรจง 1

                                ชีวิตคนนั้นแสนสั้น แต่ผลงานของคนนั้นยืนยาว
                                 จะให้จดจำในฐานะอะไรขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้ทำไว้

วิถีในการสร้าง “คน” ของญี่ปุ่นนอกจากการศึกษาแล้ว ในทางหนึ่งก็มาจากการสร้างจริยธรรมของคนในสังคมผ่านการกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาสมัครเล่น

เพราะกีฬาสามารถสร้างสรรค์จริยธรรมให้เกิดขึ้นได้ทั้งผู้เล่นและผู้ดู เมื่อคนมีจริยธรรมมากขึ้นก็สามารถนำเอาการศึกษาที่มีอยู่ในตัวตนเองไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควร ก่อประโยชน์ให้กับสังคมในที่สุดนั่นเอง การกีฬาจึงเป็นการยกระดับจิตใจของมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว การเล่นกีฬาจึงมิได้มุ่งหมายแค่ให้คนมีสุขภาพดีด้วยการออกกำลังกายแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังสอนให้คนรู้จักแพ้รู้จักชนะที่อาจเป็นเป้าหมายที่เป็นนามธรรมที่สำคัญมากกว่าสุขภาพเสียอีก

ใครจะเชื่อว่าคนเอเชียจะได้แชมป์โลกฟุตบอล แต่ก็เป็นจริงแล้วเมื่อทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นเอาชนะสหรัฐฯ ในรอบชิงชนะเลิศด้วยลูกโทษหลังจากต่อเวลา นักฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นใช้เวลาเพียง 31 ปีก็สามารถคว้าแชมป์โลกเอาชนะคู่แข่งที่รูปร่างสูงใหญ่กว่าได้ ในขณะที่ฝ่ายชายใช้เวลามากกว่านั้นแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

คนทั่วไปชอบชัยชนะในทีมหรือนักกีฬาที่ตนเชียร์ แต่ใครจะรู้บ้างว่าชัยชนะที่ได้มิได้มาจากความสำเร็จชั่วข้ามคืนที่เพียงแต่มีความปรารถนาแล้วตื่นขึ้นมาก็ได้ชัยชนะก็หาไม่ ชัยชนะหรือความสำเร็จทุกอย่างมีต้นทุนของมันที่ต้องจ่ายทั้งนั้น ไม่มีใครได้มาฟรีอย่างแน่นอน

นักฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นชุดที่ได้แชมป์โลกส่วนใหญ่เป็นนักกีฬาตอนกลางคืน เพราะในตอนกลางวันต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นแคชเชียร์เก็บเงินในห้างฯ เป็นพนักงานต้อนรับในสปา เป็นสาวโรงงาน เมื่อเลิกงานแล้วจึงจะได้ซ้อมฟุตบอลในตอนกลางคืน ที่มาของรายได้จึงมิได้มาจากการเล่นกีฬาเหมือนเช่นนักกีฬาอาชีพทั่วไป แถมบางคนยังต้องเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะได้เล่นฟุตบอลเสียด้วยซ้ำเพราะมีค่าใช้จ่ายสโมสรที่ไม่ดังและยังจนอยู่ไม่สามารถแบกรับได้ ดังนั้นเป้าหมายของพวกเธอที่มาเล่นกีฬาฟุตบอลจึงมีมากกว่าเงินแน่นอน

ฮอมมาเระ ซาว่า (穂希 澤) กัปตันทีมที่ใช้เท้าพระเจ้า (ลองวาดภาพดูว่า จากการเตะมุมจากมุมซ้ายของสนาม ซาว่ายืนหันหน้าไปด้านมุมซ้ายเช่นเดียวกันแต่ใช้เท้าขวาดีดลูกจากการเตะมุมเข้าประตูโดยไม่พักลูกทำได้อย่างไร) ยิงลูกตีเสมอสหรัฐฯ เป็น 2-2 ก่อนที่จะได้ต่อเวลาในรอบชิงชนะเลิศกล่าวว่าตนเองเป็นส่วนน้อยที่ได้เป็นนักกีฬาเต็มตัว การได้ซ้อมในตอนกลางวันภายใต้แสงแดดที่มิใช่แสงไฟเป็นสิ่งวิเศษที่ทำให้ตนเองมีสุขภาพและจิตใจที่ดีขึ้น

ฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นจึงเกิดมาจากความไม่มีเพราะทีมส่วนใหญ่อาศัยผู้อุปถัมภ์จากบุคคลหรือธุรกิจในท้องถิ่นเป็นหลัก เป็นฝ่ายแพ้ในการแข่งขันระดับโลกมากกว่าชนะ ความสำเร็จดูเหมือนจะมาจากปัจจัยสองประการคือ ซาว่า และผู้จัดการทีม/โค้ช ซะซากิ โนริโอะ

ซาว่าอายุ 32 ปีแล้ว เป็นผู้เล่นที่เพื่อนร่วมทีมหลายคนดูเป็น “ตัวแบบ” เป็นแรงจูงใจในการหันมาเล่นฟุตบอลของคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อร่วมทีมที่เมื่อสมัยเป็นนักเรียนมัธยมชื่นชอบในตัวเธอ อาจกล่าวได้ว่าซาว่าอยู่คู่กับวงการฟุตบอลหญิงมาตั้งแต่ต้นก็ว่าได้ ส่วนโนริโอะที่เป็นผู้ชายแต่ถูกส่งเข้ามาทำทีมหญิงก็สามารถนำทีมได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่กวางเจาก่อนหน้าที่จะมาได้แชมป์โลก

ผลที่ติดตามจากการเป็นแชมป์โลกก็คือ จำนวนคนดูที่เพิ่มมากขึ้นและบรรดาสปอนเซอร์ที่ติดตามผู้ดูเข้ามาในสนามจากนัดละไม่กี่พันคนมาเป็นหลักหมื่นคน ฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นจะก้าวไปไกลได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมในความนิยมฟุตบอลหญิงให้นานเท่าใด เพราะหากขาดการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ เช่น จากนักเรียนมัธยมก็ไม่มีอนาคต

เมื่อเปรียบเทียบกับฟุตบอลไทยที่เอาแต่ต่อยอดทำทีมอาชีพแถมยังให้จ้างต่างชาติมาเล่นได้เป็นจำนวนมากในแต่ละทีม แต่กลับไม่สนับสนุนให้เท่าเทียมกันสำหรับคนรุ่นใหม่เช่นนักเรียนมัธยมให้มาเป็นฐานเป็นต้นน้ำแล้วจะมีอนาคตไปได้อย่างไร มักง่ายเกินไปหรือไม่

สมาคมกีฬาไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะคล้ายกับการเมืองที่พยายามในการผูกขาดทุกสิ่งไว้ให้อยู่ในอำนาจของตนเอง อำนาจผูกขาดจึงเป็นที่มาของความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่เห็นทุกวันนี้

ทุกๆ หน้าร้อนญี่ปุ่นมีกีฬาที่สำคัญอันหนึ่งนั่นคือ เบสบอลนักเรียนมัธยมปลาย หรือ โคโคยะคิ้ว (高校野球) ซึ่งเป็นการแข่งขันของโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศโดยเลือกทีมตัวแทนจากจังหวัดของตนเองแบบแพ้คัดออกมาแข่งชิงชนะเลิศที่สนามโคชิเอน(甲子園)ที่อยู่ที่โกเบ

ดังนั้น จะมีทีมเข้าร่วมแข่งชิงแชมป์ประเทศที่สนามโคชิเอน 49 ทีมจาก 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่นโดยมีโตเกียวและฮอกไกโดได้สิทธิส่ง 2 ทีมเนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่ การแข่งขันในรอบนี้ก็เป็นแบบแพ้คัดออกเช่นเดียวกันแต่มาจับสลากพบกันใหม่

เสน่ห์ที่เป็นที่มาของความนิยมก็คือจิตวิญญาณของกีฬาอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ทีมของโรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนจังหวัดมาแข่งที่โคชิเอนก็ถือเป็นเกียรติอย่างสูงแล้วเพราะเอาชนะทีมอื่นๆ ในจังหวัดตนเองมา แต่หากสามารถได้แชมป์ที่สนามโคชิเอนก็ยิ่งเป็นเกียรติและหน้าตาของทั้งตนเอง พ่อแม่เครือญาติ โรงเรียน และคนในจังหวัด เป็นอย่างยิ่ง แม้จะไม่มีเงินรางวัลเป็นเครื่องตอบแทนก็ตาม แต่ทีมเบสบอลอาชีพก็มาเฝ้ามองเพื่อคัดตัวเอาไปใช้ ดาราเบสบอลดังๆ หลายคนก็มีที่มาจากการแข่งขันนี้

ผู้เล่นจึงแบกความหวังของคนทั้งจังหวัดมาแข่งขันด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องราวของการได้มาแข่งขันเบสบอลที่โคชิเอนจึงมีสีสันและถูกนำมาเป็นท้องเรื่องของทั้งการ์ตูนและภาพยนตร์หลายเรื่องที่โด่งดัง เช่น ทัชจิ (Touch)

การแข่งขันจึงมีผู้เข้ามาชมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองเชียร์จากโรงเรียนของตนเองแม้จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ถึง 2 สถานีพร้อมๆ กันก็ตาม ทำให้ต้นสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมทุกปี ทีมเบสบอลอาชีพที่ใช้สนามนี้เป็น “โฮม” หรือทีมเหย้าอย่างทีมฮันชินไทเกอร์ ก็ยังต้องหลีกทางให้ใช้สนาม

แพ้ก็ร้องไห้ ชนะก็ร้องไห้ เพราะโรงเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่นมีแค่ 3 ชั้นปีผู้เล่นที่ได้รับการเลือกไปเล่นในหน้าร้อนจึงมีโอกาสมากที่สุดเพียง 3 ครั้งในชั่วชีวิตซึ่งมีน้อยมากที่นักเรียนปี 1 จะได้มาเล่น ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนปี 2 หรือ 3 ที่เมื่อจบการแข่งขันไม่ว่าแพ้ (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่) หรือชนะ (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ก็จะเป็นเพียงความทรงจำต่อไป วันเวลาไม่มีหวนคืนอีกแล้ว ประเพณีการนำดินสนามโคชิเอนกลับบ้านของทีมแพ้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกของความทรงจำเล่าให้ลูกตนเองฟังว่า ครั้งหนึ่งพ่อของเขาได้มาแสดงความสามารถที่สนามแห่งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีกองเชียร์รุ่นคุณปู่อายุกว่า 60-70 ปีมาเชียร์ร่วมกับรุ่นลูกหรือหลานเพื่อรำลึกถึงความหลัง

การแข่งขันเบสบอลนักเรียนมัธยมปลายในหน้าร้อนจึงเป็นการสร้างคนให้รู้จักกับคำว่า “แพ้” มากกว่า “ชนะ” ต้อง “แพ้” ให้เป็นเพราะกติกาแข่งขันทำให้มีผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ มีการปฏิญาณตนก่อนทำการแข่งขัน ทุกทีมต้องเข้าแถวทำความเคารพซึ่งกันและกันต่อหน้ากรรมการทั้งก่อนและหลังจบการแข่งขันเฉกเช่นมารยาทในการจับมือกับผู้เล่นและกรรมการในการแข่งขันเทนนิสอาชีพ ในขณะที่จะเรียนรู้ว่าการได้มาซึ่งชัยชนะนั้นได้มาด้วยต้นทุนของเหงื่อและน้ำตาที่ตนเองซ้อมมาทั้งปี บุญคุณของพ่อแม่ โรงเรียน และสังคมได้เสียสละให้ อย่างน้อยใครจะยอมนั่งตากแดดที่อุณหภูมิ 35 องศากว่า 3 ชั่วโมงคอยเชียร์

ผลแพ้ชนะของการแข่งขันจึงเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ในขณะที่ผลประโยชน์หลักก็คือการสร้าง “คน” ด้วยการปลูกฟังจริยธรรมในใจคนให้เจริญงอกงามด้วยการกีฬา ไม่มีแพ้แล้วพาล ไม่มีการยกพวกตีกันเพราะเกมแพ้แต่กองเชียร์ไม่แพ้ เพราะพวกเขาเหล่านั้นมิได้เล่นหรือมาดูเพื่อตนเองแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

เมื่อมารวมกลุ่มกันย่อมต้องมีกติกาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกฎหมายแต่ก็อยู่เหนือกว่า เพราะเมื่อต้องมาเป็น “ตัวแทน” ของคนที่บ้านที่โรงเรียนที่จังหวัดการจะชนะก็ต้องทำอย่างใสสะอาด จะไปโกงเพื่อชัยชนะได้อย่างไรมันไม่น่าภูมิใจเพราะจะไปทรยศต่อความไว้วางใจที่ได้มาได้อย่างไร

สังคมไทยถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องออกมาสนับสนุน “คนดี” และ “การกระทำความดี” ให้เป็นแบบอย่างกับคนรุ่นต่อไป เพราะชีวิตคนนั้นสั้นแต่ผลงานนั้นยืนยาว จะให้ประวัติศาสตร์บันทึกไว้อย่างไรก็อยู่ที่การกระทำของตนเองเป็นสำคัญ

ทำความเคารพเพื่อขอบคุณกองเชียร์เมื่อแข่งเสร็จ ภาพจาก google.com

เก็บดินสนามกลับบ้าน ภาพจาก google.com
--------------------------------------------------------

1 The Japan Foundation Fellow, บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วยแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น