xs
xsm
sm
md
lg

นครพนม-อุบลฯวิกฤตสุดรอบ30ปี น้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน-แพร่ผวาอ่างแตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค - นครพนมวิกฤตน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 30 ปีนาข้าวเสียหายกว่า 1 แสนไร่ หลายหน่วยงานระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ขณะที่โขงเจียม อุบลฯ ก็วิกฤตหนักในรอบ 10 ปีเช่นกันหลังน้ำโขงทะลักท่วมบ้านจนมิดหลังคา ชาวบ้านต้องเร่งอพยพหนีน้ำวุ่น ด้านชาวแพร่ผวา "อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยาก" เขตอำเภอลองเมืองแพร่แตก หลังฝนตกหนัก สัญญาณเตือนภัยดังเป็นระยะ "ปู"สั่ง รมต.ลงพื้นที่ดูน้ำท่วม ช่วยเหลือชาวบ้าน

หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานยังคงถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะที่ จ.นครพนม วานนี้ (11 ส.ค.) นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) จังหวัดนครพนม เปิดเผยถึงสถานณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครพนมที่ผ่านมาจากอิทธิพลของพายุ “นกเตน”ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.จนถึงปัจจุบันว่า ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันระดับโขงจะขึ้นลงในละดับ 12 เมตร เพราะมีร่องมรสุมพัดผ่านเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระดับน้ำที่หนุนเนื่องและเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตรตลอดจนบ้านเรือนประชาชนตามแนวลำน้ำโขง เช่น อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง อ.อำเภอธาตุพนม

ส่วนอำเภอตอนใน คือ อ.ศรีสงคราม อ.นาทม และ อ.นาหว้า อ.โพนสวรรค์ จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลน้ำในลำน้ำสงครามที่มีน้ำป่าจากเทือกเขาภูพานเขตสกลนครไหลตามลำน้ำอูนมาสมทบกันที่ลุ่มน้ำศรีสงครามแต่ระบายลงสูงแม่น้ำโขงปลายทางคือปากน้ำสองสีตำบลไชยบุรีไม่ได้ จนทำให้น้ำสงครามหนุนขึ้นสูงขึ้นท่วมถนนและบ้านเรือนริมน้ำสงครามในเขตเทศบาลศรีสงคราม เช่น บ้านปากอูน บ้านท่าบ่อ บ้านปากยามฯ พื้นที่การเกษตรนาข้าวเสียหาย สัตว์เลี้ยงวัวควายก็เดือดร้อน

ทั้งนี้ จากสรุปผลพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้ง 12 อำเภอมี 97 ตำบล 1,507 หมู่บ้าน 63,522 ครัวเรือน 26,1468 คน ถนนชำรุด 652 สาย สะพาน 2 แห่ง วัดโรงเรียน 5 แห่งหนักที่สุด คือ นาข้าว 233,849 ไร่ ฯลฯ รวมมูลค่าเสียหายเบื้องต้น 30,107,530 บาท มีประชาชนเสียชีวิต 2 รายจากน้ำเชี่ยวพัดจมน้ำในเขตบ้านนาขาม ต.หนองแวง อ.บ้านแพง คือ 1.นางนิทรา ชมชนะกูล อายุ 40 ปี 2.น.ส.นัยนา บุญตาท้าว อายุ 38 ปี โดยนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ตายคนละ 2.5 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมหลายอำเภอจำนวน 3,440 ชุด หญ้าแห้งสัตว์เลี้ยง 52,700 ชุด

ด้านนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้คือความเสี่ยงที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจะจมน้ำเสียชีวิต แต่ก็ได้กำชับทุกหน่วยงานระดับหมู่บ้านตำบลเตือนประชาชนดูแลบุตรหลาน ตลอดจนผู้ใหญ่ระมัดระวัง ตั้งแต่การออกไปหาปลาหรือเด็กเล่นน้ำอาจจะถูกกระแสน้ำเชี่ยวพัดจมน้ำได้

นายเริงศักดิ์ ระบุอีกว่า ความเสียหายหนักที่สุดจะเป็นนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมกว่า 2 แสนไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้ประเมินเสียหายแน่นอนที่สุด คือ กว่า 1 แสนไร่ ซึ่งน้ำท่วมนครพนมปีนี้จะแตกต่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา คือเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาน้ำจะท่วมเร็วและลดเร็วไม่เกิน 1 อาทิตย์

น้ำท่วมจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นาข้าวของเกษตรกรมีลำต้นแข็งแรงทนน้ำท่วมได้ไม่ต่ำกว่า 15 วัน แต่ปีน้ำท่วมตั้งแต่ก่อนต้นเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาปลูกข้าวใหม่ลำต้นเพิ่งติดดิน เมื่อถูกน้ำท่วมไม่กี่วันก็จะเน่าตายทันที ในขณะเดียวกันขณะนี้นำโขงสูงขึ้น และมีฝนตกตลอดต้นข้าวถูกน้ำท่วมอยู่นี่คือสาเหตุที่ปีนี้ข้าวจะเน่าตายมากที่สุด

**โขงเจียมวิกฤตรอบ10ปีทะลักมิดหลังคา

ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี แม่น้ำโขงได้เอ่อล้นไหลเข้าท่วมชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านด่าน อ.โขงเจียม อย่างหนัก โดยระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้หลายชุมชนบ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำ โดยบ้านชั้นเดียวไม่สามารถพักอาศัยอยู่ได้แล้ว เพราะระดับน้ำไหลท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ชาวบ้านจำนวน 144 ครอบครัวต้องอพยพสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นมาอยู่ในจุดที่สำนักงานเทศบาลนำเต้นท์มากางให้พักอาศัยชั่วคราว

น้ำท่วมครั้งนี้มีระดับน้ำสูงเกือบเท่ากับน้ำท่วมเมื่อปี 2543 ซึ่งครั้งนั้นแม่น้ำโขงขึ้นสูงสุด 16.28 เมตรทำให้ชาวบ้านในชุมชนและหน่วยงานต้องเฝ้าติดตามดูสถานการณ์น้ำตลอดเวลา ส่วนการช่วยเหลือสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านด่าน ได้นำถุงยังชีพเป็นของกินและเทียนไขใช้ส่องแสงสว่างตอนกลางคืน มอบให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากในจุดที่ถูกน้ำท่วมสูงมีการตัดไฟฟ้าทั้งหมดแล้ว

สำหรับผู้ประกอบการแพอาหาร รวมทั้งร้านจำหน่ายของที่ระลึก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณจุดชมวิวริมแม่น้ำโขงบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ ก็ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ทำให้แพอาหาร ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของที่ระลึกต้องปิดกิจการเกือบ 100 เจ้า

ขณะเดียวกันร้านอาหารที่อยู่สูงขึ้นไป แต่ระดับน้ำเริ่มจ่อจะไหลเข้าท่วม เจ้าของร้านต้องนำกระสอบทรายวางปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมตัวอาคาร แต่ก็ได้เก็บข้าวของเครื่องใช้ไปไว้ที่สูง เพราะยังไม่มั่นใจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่ยังหนุนสูงขึ้นต่อไปอีกในระยะนี้

**ชาวแพร่ผวาอ่างฯห้วยแม่ยากแตก

ส่วนทางภาคเหนือหลายจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบน้ำท่วมต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ จ.แพร่ หลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อล้างแร่ของเหมืองวูลแฟลม ที่หมู่ 3 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ ทะลักส่งผลให้มีน้ำป่าท่วมในหมู่ 8 หมู่ 5 และหมู่ 3 พร้อมทั้งท่วมทางรถไฟสายเหนืออีกครั้งในรอบสัปดาห์ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่ในชุมชนอย่างมากเพราะนอกจากอันตรายที่มากับความแรงของน้ำแล้ว ยังอาจมีสารพิษปนเปื้อนติดมากับน้ำไหลลงสู่ลำธารสาธารณะด้วย

นอกจากนี้ ในขณะนี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เส้นทางของน้ำป่าดังกล่าวกำลังหวั่นวิตกว่า น้ำฝนที่ตกลงมาทุกวันมีปริมาณสูงมาก อาจทำให้อ่างเก็บน้ำอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอ่างขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน ชื่อว่า“อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยาก”ที่มีน้ำล้นสปิลเวย์ในปริมาณมากและมีรอยรั่วซึมของน้ำที่ฐานของสันเขื่อน อาจทำให้แนวสันเขื่อนซึ่งเป็นดินเหนียวอัด พังทลายเสียหาย จนเกิดน้ำทะลักครั้งใหญ่ก็เป็นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลา 09.00 น.วานนี้เป็นต้นมา มีฝนตกหนักติดต่อกันในบริเวณหมู่ 8 ต.เวียงต้า และเสียงสัญญาณเตือนภัยดังเป็นระยะๆ ทำให้คนชุมชนหวั่นว่าปริมาณน้ำฝนที่มีมากอาจทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยากพังลงมาเวลาใดเวลาหนึ่งได้

นายมนูญ กฤษฏามงคล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 กล่าวว่า ฝนตกหนักอย่างนี้ไม่น่าไว้ใจ ถ้าเขื่อนห้วยแม่ยากพัง ชุมชนในหมู่ที่ 3 หมู่ 8 และหมู่ 5 เขตเทศบาลบ้านปิน ก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเครือข่ายฟื้นฟูต้นน้ำ จ.แพร่ได้เข้าไปยังพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและหาทางรองรับการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว พบว่า อ่างเก็บน้ำล้างแร่-อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยาก อยู่ในลักษณะที่วิกฤตจริงๆ แต่ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้าไปหาทางป้องกัน

พระยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น เปิดเผยว่า ได้เดินทางเข้าไปดูพื้นที่แล้วพบว่าการทำเหมืองดังกล่าวไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนและอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ไม่มีระบบชลประทานที่ดีพอ น้ำเต็มจนล้นและมีรอยรั่วซึมจากสันอ่าง ถือว่าอันตรายมาก จึงอยากให้นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ตั้งคณะทำงานสำรวจอ่างเก็บน้ำและเหมืองแร่ที่มีอยู่ใน จ.แพร่ ทั้งหมด เพื่อประเมินความปลอดภัยและความพร้อมในการป้องกัน เพราะเหมืองบางแห่งยังอาจมีการกักเก็บน้ำที่เป็นน้ำล้างแร่ที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน โดยเฉพาะใน อ.ลอง และ อ.วังชิ้น

“องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดแพร่จะเฝ้าติดตามการทำงานของจังหวัดแพร่อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าจังหวัดแพร่จะไม่ทำงานแบบสองมาตรฐาน ถ้าพบมีการเปิดเหมืองที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นของนักการเมืองคนใด ก็ต้องสั่งหยุดและดำเนินการให้ถูกต้องก่อน อาตมาคิดว่ายุคนี้คงหมดแล้วนะเรื่องสองมาตรฐาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่เอาไว้แน่เพราะหาเสียงมาแบบไม่เอาสองมาตรฐาน จังหวัดคงต้องเร่งดำเนินการ”

**"ปู"สั่งรมต.ลงพื้นที่ดูแลน้ำท่วม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนัดแรกว่า นายกฯได้ยกปัญหาอุทกภัยจากผลกระทบพายุนกเต็น ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างทั้ง จ.สุโขทัย แพร่ น่าน และ อุตรดิตถ์ ที่เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบ เป็นวาระเร่งด่วน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ของตัวเองครบทุกพื้นที่ ทั้งนี้ นายกฯได้มอบหมายให้สำนักปลัดนายกฯ ดำเนินการตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 เพื่อบูรณาการรับเรื่อง และแจ้งสถานการณ์อุทกภัย อีกทั้งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์รายงาสถานการณ์อุทกภัย ประสานกับสื่อมวลชนทุกแขนง มอบหมายคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและพื้นทีเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือ

นายอำพน กล่าวว่า นอกจากนี้นายกฯยังมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย และประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ให้สามารถดำเนินออกประกาศได้อย่างรวดเร็ว ส่วนกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ให้ทำรายงานสถานการณ์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงพื้นที่ของรัฐมนตรี ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำและการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น