xs
xsm
sm
md
lg

ภาระหนัก 5 เสือ กกต. โอกาส “แก้ตัว” อีกหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่านมา 1 สัปดาห์เต็มฝุ่นควันการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งเริ่มสร่างซาลง แต่อีกด้านกลับเกิดมหกรรม “วิ่งเต้น” จับจองเก้าอี้รัฐมนตรี ของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคเพื่อไทยผู้ชนะการเลือกตั้งที่แต่กลุ่มก๊วนเริ่ม “วางบิล” ทวงถามผลตอบแทนที่ได้ลงทุนลงแรงไปกับต้นสังกัดในศึกที่ผ่านมา

ทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีที่มีอยู่เพียง 35 ที่นั่ง กลายเป็น “เกมเก้าอี้ดนตรี” ที่ใครสายไม่แข็งพอ ก็อาจตกขบวนได้ในวินาทีสุดท้าย

แม้ทุกสายตาจะหันไปจับจ้องการตั้งคณะรัฐมนตรีว่าจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการประกาศรับรองผลผู้ผ่านการตรวจสอบรับรองการเป็น ส.ส. ซึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ หรือครบกำหนด 7 วัน ภายหลังจากที่ กกต.ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา

ภาระหนักและชะตากรรมของว่าที่ ส.ส.ทั้ง 500 คน จึงอยู่ในมือของ 5 เสือ กกต.

ซึ่งเบื้องต้น กกต.ได้กำหนดว่าจะประกาศรับรองผู้สมัครที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนตามกฎหมายก่อนเป็นลำดับแรก พร้อมรายงานด้วยว่า ผู้สมัครหรือว่าที่ ส.ส.รายใดมีเรื่องร้องเรียนและร้องคัดค้านที่มีมูลต้องรอรับการตรวจสอบต่อไป

และก็เป็นไปตามคาดเมื่อนับถึงขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายัง กกต.ไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง จน สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ยอมรับว่า มีการร้องเรียนเข้ามามากผิดปกติ ภายหลังทราบผลคะแนนแล้ว จนอาจไม่สามารถรับรอง ส.ส.ได้ถึงร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

หมายความว่าจะยังเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ ให้มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 จึงสามารถเปิดประชุมสภาฯได้ หรือหมายความว่า กกต.ต้องรับรอง ส.ส.ให้ได้ 475 จาก 500 คน

หากในวันที่ 12 ก.ค.นี้ กกต.ไม่สามารถรับรองได้ตามที่กฎหมายกำหนด ก็ยังมีเวลาดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับจากการเลือกตั้ง หรือก่อนวันที่ 3 ส.ค. โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติในอดีต หากใกล้ครบกำหนดแล้ว แต่การสอบสวนบุคคลที่ถูกร้องเรียนยังไม่เสร็จสิ้น กกต.ก็สามารถประกาศรับรองผลไปก่อน หากคดีใดมีหลักฐาน กกต.จะพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิ์ได้

หรือรับรองไปก่อน เชือดทีหลังนั่นเอง

ตรงนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่ถือเป็นสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดให้ กกต.สามารถกระทำได้ เพราะหากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถเปิดสภาฯได้ใน 30 วัน กกต.ก็ย่อมหนีไม่พ้นการถูกเล่นงานฐานละเว้นารปฏิบัติหน้าที่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำหน้าที่ของ กกต.ชุดนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ที่มักมีข้อบกพร่องเปิดช่องให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด โดยเฉพาะในการเลือกตั้งหนนี้ที่ต้องยอมรับว่า กกต.จัดการเลือกตั้งได้ “แย่” อย่างน่าตำหนิในหลายเรื่อง

นับตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดความสับสนอลหม่านจนทำให้ประชาชนต้องอดใช้สิทธิ์อย่างมากมาย หรือการควบคุมการหาเสียงเลือกตั้งที่ไร้ประสิทธิภาพจนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ยังไม่รวมการยกโขยงเดินทางไปต่างประเทศก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นาน

จนถูกตำหนิว่าเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และอาจเข้าข่าย “โมฆะ” ตามที่ถูกร้องเรียนอยู่หลายกรณีขณะนี้

ยิ่งหันมาดูในส่วนของรายละเอียดสำคัญอย่าง “บัตรเลือกตั้ง” ที่ชี้ให้เห็นว่า กกต. ออกอาการ “เอียง” เอื้อประโยชน์กลายเป็นเรื่องมือของพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะการวางตำแหน่งช่องลงคะแนนของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคให้อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ โดยที่บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบกลับมีการวางรูปแบบที่ต่างกัน สร้างความสับสนและชี้ให้เห็นเจตนาอย่างชัดเจน

ซ้ำร้ายเมื่อ กกต.ประกาศผลนับคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ กลับพบว่าบัตรเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขตไม่ตรงกัน มีส่วนต่างมากถึง 8.3 หมื่นใบ ซึ่งโดยตรรกะแล้วไม่น่าจะเป้ฯไปได้ เพราะทุกคนย่อมได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่าๆกัน กลายเป็น “ปมร้อน” ที่ กกต.ต้องไขให้กระจ่าง

แม้กระทั่งเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนอย่างการแจกใบแดงให้แก่ผู้สมัคร ส.ส.ที่เขต 2 จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอการใช้เงินซื้อเสียง และ กกต.ศรีสะเกษสอบสวน พร้อมส่งความเห็นถึง กกต.ส่วนกลางลงดาบ ตั้งแต่ก่อนการหย่อนบัตรร่วมเดือน แต่มาถึงวันนี้ก็ทำได้เพียงยื้อให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมเท่านั้น

ทั้งหมดเป็นเพียงข้อผิดพลาดเพียงบางส่วนของ กกต.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้นการประกาศรับรอง ส.ส.ที่จะเริ่มในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จึงเป็นโอกาสดีในการ “แก้ตัว” อีกครั้ง โดยหวังว่า กกต.จะมุ่งทำหน้าที่อย่างหนักแน่น ไม่หลงทิศไปตามกระแสอย่างที่ผ่านมา รวมทั้งพิจารณาด้วยว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามามากมายนั้น เข้าข่ายกระบวนการใส่ร้ายป้ายสีหรือไม่

เพราะรู้กันดีว่า เรื่องร้องเรียนส่วนมากมาจากฝ่ายที่พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ที่ต้องการยืมมือ กกต.เพื่อพลิกผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ กกต.ส่วนกลาง ที่ต้องพินิจพิจารณาเรื่องที่ กกต.ท้องถิ่นชงเรื่องขึ้นมาอย่างถี่ถ้วน เพราะมีข่าวหนาหูว่าการวางตัว กกต.ในแต่ละพื้นที่นั้นมีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยวางตัวของคนของตัวเองให้ทำหน้าที่ และเมื่อแพ้การเลือกตั้งก็สั่งให้ชงเรื่องเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ยืมมือให้ กกต.ส่วนกลางเป็นผู้ลงดาบแทน เพื่อหวังให้มีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น

อย่างในกรณี “ผัดหมี่โคราช” ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องมีการตัดสินและให้เหตุผลทางกฎหมายรองรับว่า “ถูก” หรือ “ผิด” ให้ชัดเจน มิใช่เพียงออกมาแสดงความเห็นอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้

หรือแม้แต่กรณีของ “ไอ้ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้ออกมาเลือกตั้ง มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ กกต.ก็ต้องออกมาชี้ให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมา กกต.มักออกมาให้ความเห็นไปคนละทิศละทาง เมื่อสื่อนำไปตีเป็นข่าวว่า กกต.รับรองสถานะของ “จตุพร” แล้ว จนเกิดกระแสตำหนิต่อว่า กกต.ก็ออกออกมาปฏิเสธพัลวันว่า ยังไม่เคยนำเข้าที่ประชุมเพื่อออกมาเป็นมติ

ชี้ให้เห็นว่า กกต.มักทำงานตาม “กระแส” ที่เมื่อถูกท้วงติงก็จะหันไปสนใจในประเด็นนั้นอย่างไร้ทิศทางหรือวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ทำให้ถูกมองว่าทำงาน “ห่วยแตก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้การประกาศผลรอบนี้ อาจจะหมดห่วงได้บ้าง เมื่อคาดว่าคงไม่มี “ใบแดง-ใบเหลือง” ปลิวว่อน 50-60 ใบเพื่อพลิกผลเลือกตั้ง อย่างที่กังวลกันก่อนวันหย่อนบัตร แต่หาก กกต.ในฐานะผู้ชี้ขาดยังทำหน้าที่ไม่โปร่งใสและเป็นกลาง

ก็อาจเป็น “ชนวน” สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น