xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมใหม่แว่นตาชีวกลไก ช่วยคนตาบอด‘มองเห็น’อีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - นักวิจัยเชื่ออีกไม่ช้าไม่นานนี้จะสามารถนำแว่นตาชีวกลไกออกวางจำหน่ายได้ เพื่อให้คนตาบอดนับแสนนับล้านมองเห็นได้อีกครั้ง

ขณะนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ กำลังพัฒนา ‘แว่นตาอัจฉริยะ’ ที่ใช้กล้องและคอมพิวเตอร์จิ๋วเตือนผู้สวมว่ามีวัตถุหรือคนอยู่ข้างหน้า

แว่นตาอัจฉริยะจะช่วยนำทางคนตาบอดในศูนย์การค้าและสถานีรถไฟที่คนพลุกพล่าน หรือกระทั่งช่วย ‘อ่าน’ หมายเลขรถโดยสารประจำทาง และหน้าจอเครื่องกดเงินสด

แว่นตาราคาไม่สูงนักและเบาหวิวนี้คาดว่าจะนำออกจำหน่ายได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2014 หากการทดสอบประสบความสำเร็จด้วยดี

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมนี้มากที่สุดน่าจะเป็นผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

ความพยายามในอดีตในการสร้างอุปกรณ์ลักษณะนี้ได้ผลลัพธ์เพียงแว่นตาดำขนาดเทอะทะพร้อมกล้องที่ทำงานเชื่องช้า และคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ แต่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเพิ่มความเป็นไปได้ในการพัฒนาแว่นตาชีวกลไกที่ดูแทบไม่ต่างจากแว่นตาทั่วไป ที่สำคัญราคายังอาจต่ำกว่า 1,000 ปอนด์

ดร.สตีเฟน ฮิกส์ นักวิจัยด้านประสาทวิทยาคลิกนิกของออกซ์ฟอร์ด ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ เผยว่าได้เสร็จสิ้นการวิจัยพื้นฐานแล้วและขณะนี้กำลังพัฒนาแว่นตาต้นแบบ

แว่นตาชีวกลไกจะติดตั้งเลนส์ที่มีไดโอดเปล่งแสง (LED) ขนาดเล็ก และกล้องขนาดเท่าหัวเข็มหมุดที่มุมบนสุดด้านนอกของกรอบแว่น

กล้องจะส่งข้อมูลที่ดวงตาควรมองเห็นผ่านสายเคเบิลไปยังคอมพิวเตอร์ขนาดพอๆ กับโทรศัพท์มือถือในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของผู้สวม

จากนั้น คอมพิวเตอร์จะประมวลผลข้อมูลและจัดข้อมูลเป็นรูปแบบจุด และ LED ในเลนส์จะสว่างขึ้นในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ผู้สวมได้รับข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า

แสงกะพริบอาจหมายถึงมีคนอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าเป็นรูปทรงแท่งอาจหมายถึงวัตถุ เช่น บันได แม้ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้สร้างภาพที่ชัดเจน แต่ช่วยให้ผู้ที่สูญเสียความสามารถในการมองเห็นสามารถออกไปซื้อของหรือขึ้นรถโดยสารประจำทางตามลำพังได้อีกครั้ง

นอกจากนั้น การสวมหูฟังยังช่วยในการถ่ายทอดข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ตัวอย่างเช่น กล้องอาจจับหมายเลขรถโดยสารประจำทางหรือข้อมูลตารางเดินรถไฟ เพื่อส่งให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ก่อนส่งเป็นเสียงผ่านหูฟังไปยังผู้สวม

นักวิจัยยังใช้หลักการเดียวกันนี้เพื่อช่วยให้คนตาบอด ‘เห็น’ หน้าจอเครื่องกดเงินสดหน้าแบงก์ หรือเครื่องกดตั๋วโดยสารในสถานีรถไฟ

อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของแว่นตาชีวกลไกขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้แสงของผู้สวม ดังนั้น จึงอาจไม่เหมาะสำหรับคนตาบอดสนิท

ดร.ฮิกส์ทิ้งท้ายว่า มีแผนทำการทดสอบขนาดเล็กในห้องปฏิบัติการกับคนตาบอดในปีนี้ ก่อนเปิดรับอาสาสมัคร 120 คนทำการทดสอบนาน 2 ปี เพื่อศึกษาประโยชน์ในการใช้แว่นตาชีวกลไกในห้องสรรพสินค้าและภายในบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น