xs
xsm
sm
md
lg

วันวิสาขบูชาโลก

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

สัปดาห์ที่ผ่านมา จวบจนเมื่อวานนี้ เรียกว่าเป็น “เทศกาลส่งเสริมพระพุทธศาสนา” เนื่องด้วยเมื่อวานนี้เป็น “วันวิสาขบูชา” ที่ทั่วโลกต่างยอมรับนับถือให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชาโลกกันถ้วนทั่ว

บ้านเมืองเรามีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาไม่แพ้ประเทศอื่นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสนาพุทธ” ที่มักให้ความสำคัญกับพระราชกิจกรรมของ “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่เริ่มตั้งแต่ “ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน” ตลอดจนคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เรื่อยยาวจนมาถึง พระสาวกทั้งหลายที่มาร่วมชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งว่าไปแล้ว นับว่า “วิจิตรพิสดาร” แทบทั้งสิ้น

ตลอดระยะเวลา 2,553 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จสวรรคต แต่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่เคยมีใครมั่นใจมากมายนักว่าได้เริ่มตั้งแต่เมื่อใด ทั้งนี้น่าเชื่อว่า น่าจะเริ่มได้ประมาณเกือบๆ 1,000 ปีที่ผ่านมา โดยเราอาจจะได้ทั้ง “รับรู้-เรียนรู้” จากทั้งประเทศอินเดีย และศรีลังกา

ชาวไทยหรือแม้กระทั่งชาวอินเดีย ชาวศรีลังกา และตลอดจนชาวสหภาพพม่า กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.) หรือชาวพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลกต่างร่วมเฉลิมฉลองวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

เมื่อวานนี้เป็น “วันวิสาขบูชา” เป็น “วันวิสาขบูชาโลก” ที่พระพุทธองค์ทรง “ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน” ในวันเดียวกัน เพียงแต่วันเวลาแตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งต้องนับว่ามีความแปลกอย่างมากที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งในโลกจะมีวันเดียวกัน แต่ต่างปีที่เพียบพร้อมกันดังที่กล่าวไว้แล้ว ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลกจึงต้องให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของโลก

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ครั้งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระพุทธองค์ได้เวียนมาบรรจบพบกันได้นั้น ขอย้ำว่า “วิเศษพิสดาร” อย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการในครั้งนี้ได้มีบันทึกไว้ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

คำว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ดังนั้น “วิสาขบูชา” จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6

แต่การกำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสคือมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน

จริงๆ แล้ว “แสงแดด” ไม่ค่อยมั่นใจเท่าใดนักว่า ตลอดช่วงหลากหลายฤดูฝนห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้เคยประสบพบเจอ “วันวิสาขบูชา” เดือนมิถุนายนหรือไม่ ต้องขอสารภาพว่า “น่าจะไม่เคยเจอ!”

อย่างไรก็ตาม ในบางปีบางประเทศจะกำหนดวันวิสาขบูชาไม่ตรงกับของไทยเลย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้น น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนจนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหมายความว่า “วันวิสาขบูชา” อาจจะไม่ตรงกันเลยในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับ วัน เดือน ปี และการตั้งปฏิทินวันเดือนปีของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว “วันวิสาขบูชา” จึงไม่น่าจะกำหนดว่าเป็นวันขึ้นและเดือนใดได้เลย ทั้งนี้ น่าจะอยู่ในช่วงของกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงต้นเดือนมิถุนายน

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ความสำคัญของวันวิสาขบูชา เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ คือ “ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน” ที่เหตุการณ์ประสูตินั้น พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ได้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระองค์ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช (พ.ศ.) 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมปรารถนา”

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ออกผนวช 6 ปี จนมีพระชนมายุ 35 พรรษา พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ซึ่งสถานที่ที่ทรงตรัสรู้ในปัจจุบันคือ “พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

และวันสำคัญสุดท้ายคือ “วันปรินิพพาน” เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และแสดงธรรมเทศนาเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระพุทธองค์ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ซึ่งระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงพระประชวรอย่างหนัก ครั้งเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระพุทธองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายเกิดอาพาธลง แต่ก็ทรงอดกลั้นเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละเพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

การที่ “วันวิสาขบูชา” เป็น “วันวิสาขบูชาโลก” นั้น เราต้องยินดีที่ “สหประชาชาติ” ให้เป็น “วันสำคัญ” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542 โดยเรียกตามภาษาของชาวศรีลังกาเรียกว่า วัน “Vesak Day”

เพราะฉะนั้น “วันวิสาขบูชา” จึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธทุกคนสมควรน้อมรับ รำลึกถึง “พระวิสุทธิคุณ-พระปัญญาคุณ-พระมหากรุณาธิคุณ” ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พร้อมทั้งนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น