xs
xsm
sm
md
lg

สลัดความกลัวและใช้ vote no เป็นกุญแจไขศักราชใหม่แห่งการปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปัญญาพลวัตร”
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หลังจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอแนวทางการ vote no หรือ การกากบาทบัตรเลือกตั้งในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้ใดเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเลือกตั้ง กระแสของการ vote no ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกปริมณฑลของสังคมไทย ทำให้ประชาชนแทบทุกกลุ่มทุกพื้นที่เกิดการอภิปราย ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันก็สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงใจแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจและระบบการเมืองแบบเก่า

กลุ่มผู้ที่หวาดหวั่นกระแส vote no มีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเลือกตั้งบางพรรค กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มประชาชนบางส่วน พรรคการเมืองที่มีความหวาดกลัวกระแสโหวตโนมากที่สุดเห็นจะได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ อาการของความหวาดกลัวที่นักการเมืองพรรคนี้แสดงออกมาคือ การดิ้นรนอย่างสิ้นหวัง ร้องขอต่อประชาชนในสื่อสาธารณะไม่ให้โหวตโน รวมทั้งการหยิบยกวาทกรรมการเมืองเก่า ๆขึ้นมาข่มขู่ประชาชน

ตัวอย่างการหยิบยกวาทกรรมการเมืองชุดเก่าที่เคยใช้ได้ผลในการเลือกตั้งครั้งก่อนขึ้นมาใช้อีกครั้ง คือ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” “เลือกคนหรือพรรคที่เลวน้อยที่สุด” และ “เลือกพรรคหรือคนที่ดีที่สุด” วาทกรรมการเมืองเหล่านี้ อาศัยความกลัวของผู้เลือกตั้งชนชั้นกลางที่มีต่อพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร เป็นรากฐาน ซึ่งเป็นการใช้กรอบในการวิเคราะห์การเมืองแบบเก่าอันมีฐานคติหรือความเชื่อพื้นฐานว่าผู้เลือกตั้งชนชั้นกลางมีความหวาดหวั่นเกรงว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับขึ้นมามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก ดังนั้นในการเลือกตั้งประชาชนจึงลงคะแนนแบบที่เรียกว่า “ลงคะแนนเพื่อกีดกันพรรคที่ไม่ชอบ มากกว่าเลือกพรรคที่ชอบ”

แต่ผู้ใช้กรอบคิดนี้ลืมไปว่าสรรพสิ่งมีการพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันแบบแผนความคิดของผู้เลือกตั้งไทยส่วนใหญ่มิได้เป็นดังเดิมอย่างที่พวกเขาคิดและอยากให้เป็นแล้ว ประชาชนหาได้กลัวทักษิณอีกต่อไป เพราะพวกเขาเคยจัดการกับทักษิณและพรรคพวกจนอยู่หมัด ทำให้ทักษิณไม่มีแผ่นดินจะอาศัยต้องร่อนเร่พเนจรไปที่ต่างๆรอบโลก ดังนั้นหากพรรคที่ทักษิณสนับสนุนชนะเลือกตั้งมีอำนาจและทำอะไรไม่ชอบมาพากล ประชาชนก็พร้อมที่จะออกมาจัดการอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นวาทกรรมการเมืองชุดเดิมที่นักการเมืองหยิบเอามาปัดฝุ่นเพื่อกลบกระแสโหวตโนจึงใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

นอกจากวาทกรรมการเมืองชุดที่กล่าวมาข้างต้น เครือข่ายของผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจำนวนหลายคนออกโรงดาหน้ามาช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดโหวตโน และพยายามวาดภาพที่น่ากลัวให้เกิดขึ้นกับผลของการโหวตโน บ้างก็ว่านำไปสู่การรัฐประหาร บ้างก็ว่าสร้างความสับสนแต่ประชาชน บ้างก็ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย บ้างก็ว่าเป็นความคิดวิตถาร

การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ของเครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล เพราะว่าพวกเขาบางคนกลัวจะสูญเสียผลประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาลหากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ บางคนก็กลัวทักษิณจะเล่นงาน แก้แค้นเอาคืน บางคนก็กลัวเงาของทักษิณจนเป็นการสะกดจิตตนเอง และไม่อาจยกระดับจิตให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของความกลัวที่ไร้เหตุผลได้ แต่พึงระวังไว้หากกลัวมากๆก็อาจทำให้จิตตกและเกิดความแปรปรวน อันนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ป่าเถื่อนและไร้อารยะธรรมได้

ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์และตรรกะที่สมเหตุสมผลใดเชื่อมโยงระหว่างการ vote no กับการรัฐประหาร ดังนั้นผู้ใดที่กล่าวเช่นนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงแบบเอาสีข้างเข้าถู เพื่อหลอกคนบางคนที่อาจคิดไม่ทันเขา อันที่จริงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และตำแหน่งของฝ่ายทหารกับรัฐบาล ส่วนเงื่อนไขประกอบที่ผู้ก่อการรัฐประหารมักใช้ในการอ้างความชอบธรรมคือการทุจริตของรัฐบาล หรือ การเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันสูงสุด

ทั้งที่การทุจริตของนักการเมืองเป็นข้ออ้างซึ่งคณะรัฐประหารใช้บ่อยที่สุด แต่ทำไมนักวิชาการและสื่อมวลชน และนักเคลื่อนไหวมวลชนบางส่วน จึงยังยอมสยบสมยอมนักการเมือง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ การยอมเป็นสมุนรับใช้นักการเมืองเพื่อแลกกับเศษเนื้อที่พวกนี้โยนไปให้ และมีไม่น้อยที่ชอบมาแว้งกัดและกล่าวหาพันธมิตรว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร

สำหรับการกล่าวหาว่าโหวตโนไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นความคิดวิตถารโดยนักวิชาการบางคนนั้น ผมก็อยากถามกลับว่า การยอมจำนนต่อระบบการเมืองและการเลือกตั้งที่ทุจริต ฉ้อฉล และยอมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบบที่พิกลพิการเช่นนี้ดำรงอยู่ ซึ่งนำไปสู่การสร้างปัญหาและความขัดแย้งให้แก่คนทั้งประเทศจนมีผู้เสียชีวิตและพิการหลายสิบคน รวมทั้งบาดเจ็บอีกนับพันคน ไม่เป็นการวิปริต วิตถาร และวิปลาสเสียยิ่งกว่าหรือ

อันที่จริงมิได้มีเพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายของพวกเขาเท่านั้นที่กลัวโหวตโน พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงบางส่วนก็กลัวโหวตโนเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าสาเหตุของการกลัวโหวตโนของพวกเขาต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลัวโหวตโนเพราะโหวตโนมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงช่วงเลือกตั้งโดยทำให้คะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ลดลงจากเดิมเป็นอย่างมาก และทำให้โอกาสได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งก็ริบหรี่ลง ส่วนพรรคเพื่อไทยมิได้กลัวโหวตโนในช่วงเลือกตั้งเพราะพรรคนี้มีคะแนนจัดตั้งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แกนนำพรรคเพื่อไทยย่อมสามารถประเมินได้ว่าโหวตโนมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคน้อย จึงไม่ออกอาการดิ้นกระสับกระส่ายเฉกเช่นพรรคประชาธิปัตย์

ความหวาดกลัวโหวตโนของแกนนำพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดง เป็นการหวาดกลัวในช่วงหลังเลือกตั้ง เพราะหากคะแนนโหวตโนมีมากพวกเขาย่อมเผชิญหน้ากับปัญหาความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจ พวกเขาจะไม่สามารถใช้อำนาจอย่างสะดวก และหากพวกเขาดันทุรังออกกฎหมายนิรโทษกรรมทักษิณ พวกเขาย่อมต้องเผชิญหน้ากับประชาชนที่โหวตโน และความยากลำบากในการรักษาอำนาจเป็นสิ่งที่รอคอยพวกเขาอยู่ข้างหน้า ดังนั้นพวกเขาจึงได้ออกมารณรงค์ต่อต้านการโหวตโน โดยใช้การ “โหวตเยส” เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง และหากเลือกพรรคเพื่อไทยก็ยิ่งดี

การรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนแก่นักและพรรคการเมืองของแกนนำเสื้อแดงหรือของนักวิชาการสื่อมวลชนเครือข่ายประชาธิปัตย์ หรือ นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ไร้เดียงสา ไม่ประสีประสา ไม่เข้าใจโครงสร้างอำนาจของนักเลือกตั้งและระบบสืบทอดอำนาจทางสายเลือดแบบครอบครัวของนักการเมือง จึงเป็นการโน้มน้าวจูงใจให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือและจำนนต่อนักการเมืองผู้เป็นนักค้าอำนาจที่ฉ้อฉลต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และบุคคลเหล่านี้จึงเป็นผู้สร้างความชอบธรรมให้กับระบบการเมืองที่ล้มเหลว ทุจริตไร้ประสิทธิภาพ และไร้คุณธรรม เพื่อพันธนาการประชาชนไทยต่อไป

ประชาชนผู้มีจิตแห่งเสรีภาพ รักความเป็นธรรม รักชาติ ผู้ต้องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม ผู้ต้องการให้เกิดการบริหารประเทศที่เป็นธรรมาภิบาล ผู้ต้องการให้ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มทางสังคม ทุกเพศ ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ประชาชนเหล่านี้ย่อมไม่ยอมจำนนกับระบบการเมืองเก่าอีกต่อไป พวกเขาพร้อมสลัดโซ่ตรวนที่นักการเมืองผู้ค้าอำนาจพันธนาการพวกเขาไว้

ขอให้ประชาชนพลเมืองผู้มีจิตสำนึกทางการเมือง เริ่มต้นด้วยการรณรงค์ให้เกิดการโหวตโนขึ้นทั่วแผ่นดิน เพื่อปิดฉากปิดม่านระบบการเมืองที่ชั่วร้าย และใช้การโหวตโนเป็นกุญแจไขศักราชใหม่ของการปฏิรูปการเมืองเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น