xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้'พท.'แซงปชป.ทุกด้าน เว้นความซื่อสัตย์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "เอแบคโพลล์"เผยผลสำรวจปชช.พบ"เผาไทย"พุ่งแซง"ปชช."ทุกด้าน เว้นเรื่องเดียว "ความซื่อสัตย์" พร้อมระบุการสำรวจพบเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์"ปชป."ลด แนะเพื่อไทยอยากจะเอาชนะศึกเลือกตั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นความโปร่งใส ส่วน"ประชาธิปัตย์"ต้องทำงานให้หนัก และต้องสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้จริง "นิด้าโพล"ระบุให้จับตาพลังเงียบ 52% ตัวแปรสำคัญถือหางใครมีสิทธิชนะเลือกตั้ง ส่วนพรรคหน้าใหม่ “รักษ์สันติ” มาแรง ตามมาด้วย “การเมืองใหม่” ส่วน"สวนดุสิตโพลล์" ระบุอยากให้นักการเมือง คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หวั่นมือที่สามทำให้เกิดความรุนแรง

วานนี้(8 พ.ค.)นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตราด สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พังงา ปัตตานี และสงขลา จำนวน 2,143 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 - 7 พ.ค. 2554 ที่ผ่านมา

ผลสำรวจพบว่าจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และพรรคเพื่อไทย(พท.) ในสายตาของสาธารณชน พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเหนือพรรคประชาธิปัตย์เกือบทุกตัวชี้วัด ยกเว้นเรื่องเดียว คือ ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต โดยพบว่า ร้อยละ 51.6 ระบุความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต เป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 48.4 ระบุเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่ค้นพบในเรื่องนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเพราะเป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดจุดแข็งด้านอื่นๆ พบว่า พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์อย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่า ด้านวิสัยทัศน์ แนวนโยบาย พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 59.0 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 41.0 ด้านความรวดเร็วในการบริหารงาน พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 64.5 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 35.5 ด้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 55.5 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 44.5

ด้านการเข้าถึงประชาชน พรรคเพื่อไทยได้ ร้อยละ 61.8 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 38.2 ความสามารถด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 64.6 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 35.4 ด้านการพัฒนาสังคม พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 57.2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 42.8 ด้านการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 61.9 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 38.1

ด้านการเป็นที่ยอมรับของประชาชน พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 60.9 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 39.1 ด้านการเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 58.6 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 41.4 และด้านความเจนจัดทางการเมือง จัดสรรตำแหน่ง ประสานประโยชน์ เจรจาต่อรองได้ลงตัว พรรคเพื่อไทยได้ 58.9 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 41.1 ตามลำดับ

และเมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในบัญชีรายชื่อ พบว่า เสียงสนับสนุนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์ ลดลงจากร้อยละ 39.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.1 ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงโหวตไม่แตกต่างจากการสำรวจครั้งก่อนคือร้อยละ 36.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.4 จึงส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทย จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ถ้ามีการเลือกตั้งวันนี้ แต่ที่น่าจับตามองคือ เสียงสนับสนุนของประชาชนต่อพรรคการเมืองอื่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.5

นายนพดล กล่าวว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ยังคงจะได้เสียงโหวตในสัดส่วนที่สูสีกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุนลดลงในการสำรวจล่าสุด โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากดัชนีตัวชี้วัดการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ยกเว้นเพียงเรื่อง ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต แต่หลังจากการอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ไม่ปกติ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแบ่งเค้กและเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนต่อจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ได้

"นิด้าโพล"ชี้พลังเงียบ 52% ตัวแปรเลือกตั้ง

ก่อนหน้านั้น ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเลือกตั้งสมัยหน้า และความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง” ระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2554 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,203 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ ผลการสำรวจ สรุปว่า ประชาชน 23.36% เลือกพรรคเพื่อไทย 20.20% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 2.99% พรรคภูมิใจไทย อื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ 0.58% ขณะที่ยังไม่ตัดสินใจ 52.87%

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานที่ประชุมสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) กล่าวว่า ตัวเลขที่น่าสนใจ คือกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 52.87 กลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญสามารถชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และในตัวเลขนี้อาจจะมีกลุ่มที่เป็น Vote No กับอีกกลุ่มที่เป็นพันธมิตรฯ ซึ่งเคยเป็นแนวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่ภายหลังตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ โดยในตัวเลข 52.87% นี้ มีโอกาสเทคะแนนเสียงไปให้พรรคเพื่อไทย หรืออาจจะเทไปให้พรรคประชาธิปัตย์ หรืออาจกระจายคะแนนไปยังพรรครักษ์สันติได้เช่นกัน

โพลอยากเห็นนักการเมืองที่ดี

สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,629 คน ระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2554 เรื่องประชาชนกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พบว่า ยังวิตกกังวลกับการสร้างสถานการณ์ของผู้ไม่หวังดี ความรุนแรงทางการเมือง การทะเลาะเบาะแว้ง และสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกนักการเมืองที่กำลังจะลงเลือกตั้งมากที่สุด คือ อยากให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น