xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สั่งยุบอีลิทมรดกเน่า”แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.มาร์ค อนุมัติยุบกิจการอีลิท สั่งให้หาแนวทางรองรับมาเสนอสัปดาห์หน้า ด้าน ททท. เตรียมประชุมบอร์ดวันนี้ด่วน หวั่นกระทบภาพลักษณ์ประเทศ ตั้งเรื่องขอ 500 ลบ.ชำระทุนจดทะเบียน เอกชนหนุนปิดได้ก็ดีแล้ว ครม.ไฟเขียวขยายระยะเวลาให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นพำนักในไทยจาก30วันเป็นเวลา 90 วันปลอดวีซ่า

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคะรัฐมนตี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรับมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยุติการดำเนินกิจการของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารบัตรไทยแลนด์อีลิทการ์ด ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามที่ครม.ได้หารือกันมานานแล้ว ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เสนอแนวทางรองรับกรณียุติกิจการมาเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์หน้า
**ยุบอีลิทเสนอแนวทางสัปดาห์หน้า
พล.ต.สนั่น จรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ครม.มีมติให้นำเรื่องการตัดสินใจยุบเลิกกิจการของทีพีซี และการของบประมาณชดเชยให้สมาชิกผู้ถือบัตรในวงเงิน 2,500 ล้านบาท มาเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพราะว่ามีพนักงานมาร้องทุกข์ จำนวนมากจึงให้ไปแก้ไขปัญหาร้องทุกข์ให้เสร็จก่อน
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า  กระทรวงท่องเที่ยวฯได้เสนอให้ครม.พิจารณายุบเลิกกิจการของทีพีซี และขออนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2,500 ล้านบาทเพื่อชดใช้คืนให้สมาชิกตามความเป็นจริงแต่ละราย โดยเสนอให้ยุบเลิกกิจการเพราะ
กระทรวงท่องเที่ยวพิจารณาแล้วเห็นว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถให้สิทธิปะโยชน์การถือครองวีซ่าแก่เอกชนได้ ทำให้การเปิดประมูลบริษัทไม่จูงใจให้เอกชนมาซื้อกิจการ ดังนั้นการดำเนินการประมูลจึงไม่น่าดำเนินต่อไปได้
ส่วนการโอนภารกิจของโครงการไปให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะก่อให้เกิดภาระและต้องตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการทุกปี เนื่องจากบริษัทไม่มีรายได้ จึงไม่สมควรโอนกิจการให้ ททท.
***ททท.เตรียมหาคำตอบแจ้งสมาชิก***
นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวถึงกรณีข่าวการยุบกิจการอีลิทว่า ว่า   ต้องรอได้รับความชัดเจนจากมติ ครม. ก่อนว่า  มีมติเช่นใด  โดยวันนี้ (27 เม.ย.54) จะนำเรื่องนี้แจ้งเพื่อทราบ ต่อที่ประชุม บอร์ด ททท. เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่บอร์ดต้องรับทราบไว้ก่อน ขณะเดียวกัน ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 100%  ของทีพีซี  จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
หาก ครม. มีมติให้ปิดกิจการอีลิทการ์ด ภาระกิจหลักของ ททท. คือเรื่องของการดูแลผลกระทบที่จะเกิดกับภาพลักษณ์ของประเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทย เพราะเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเทศที่มีสมาชิกผู้ถือบัตรอยู่จำนวนมาก เช่น เกาหลี  
ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งคณะทำงาน หรือ คณะบุคคล จาก 3 หน่วยงาน คือ ททท. ทีพีซี และ กระทรวงการท่องเที่ยว ทำงานร่วมกัน  เพื่อดูแลแก้ปัญหาแบบองค์รวม ตามภาระกิจหน้าที่ที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่ง ททท. จะต้องมีการประเมินคำถามที่คาดว่าจะพบบ่อย จากสมาชิกผู้ถือบัตรในต่างประเทศ ไว้ให้สำนักงานททท.ในต่างประเทศเป็นข้อมูลในการตอบคำถามให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทั้งหมด  โดยเฉพาะสำนักงานที่มีสมาชิกผู้ถือบัตรอยู่จำนวนมาก เช่น เกาหลี  ส่วนฝ่ายสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวของ ททท. จะต้องศึกษารายละเอียดเรื่องกฏหมาย  เพราะจะมีเรื่องของทุนจดทะเบียนที่ยังชำระไม่เต็ม และกรณีหากมีการฟ้องร้อง
*** ระบุทีพีซีผิดที่กระบวนการจัดการ***
นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ  รักษาการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจคาร์ด จำกัด(ทีพีซี) กล่าวยอมรับว่า หากต้องปิดกิจการ ทีพีซี จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยแน่นอน แต่จะมากหรือน้อย ยังประเมินไม่ได้ โดยส่วนตัวมองว่า  ทีพีซี เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาจากความคิดที่ดี  แต่ที่ผ่านมา ปัญหาอยู่ที่กระบวนการจัดการและการบริหารองค์กร  ซึ่งผู้บริหารและบอร์ดหลายชุดก็ทยอยหาจุดบกพร่องและแก้ไขมาโดยตลอด  ซึ่งทีพีซีเป็นเหมือนห้องรับรองแขกวีไอพีของประเทศ ซึ่งหลายๆประเทศก็มีการดำเนินการเช่นนี้ แต่ของประเทศไทย คือเป็นบริษัทของรัฐ
***ตั้งเรื่องขอ 500 ลบ.ชำระทุนจดทะเบียน***
น.ส.เพ็ญสุดา ไพรอร่าม รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)  กล่าวว่า  ถ้าปิดกิจการบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด หรือ ทีพีซี  ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้น 100% และเป็นหน่วยงานของรัฐบาล สิ่งที่จะต้องดำเนินการและอยู่ในความรับผิดชอบของ ททท.มี 2 ประเด็น คือ 1. การดูแลเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และ 2. หาเงินทุนมาชำระจากทุนจดทะเบียน บริษัท 1,000 ล้านบาท แต่ชำระไปเพียง 500 ล้านบาท ซึ่ง ททท.จะต้องตั้งเรื่องขอจากสำนักงบประมาณอีก 500 ล้านบาท มาชำระให้เต็มจำนวนตามกฏหมาย  จากนั้นก็เรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง  
ส่วนเรื่องการดูแลสมาชิกผู้ถือบัตรอีลิทการ์ด จะเป็นหน้าที่ของ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ที่จะต้องเป็นผู้ไปดำเนินการเจรจากับสมาชิกซึ่งแต่ละรายก็ต้องใช้แนวทางการเจรจาที่แตกต่างกันออกไป ตามความเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาการใช้บริการของสมาชิกแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน
ในกระบวนการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด   เมื่อได้รับผลการตัดสินจาก ครม. เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ก็จะต้องไปดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการของรัฐ โดยต้องมีเรื่องของการชำระบัญชี ก่อนปิดบริษัท ซึ่งตรงนี้ต้องมีนักกฏหมายมาช่วยดูแล ว่าด้วยเรื่องของทรัพย์สินและหนี้สิน โดย ทีพีซี เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สินภายนอก มีเพียงสมาชิก กับพนักงานที่จะต้องดูแล
***เอกชนหนุนรัฐปิดอีลิทการ์ด******
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)  กล่าวว่า  เห็นด้วยหากรัฐตัดสินใจปิดกิจการของบัตรอีลิทการ์ด เพราะที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ไม่เห็นด้วยกับการตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา แต่การปิดกิจการ ก็ต้องศึกษาการให้ค่าชดเชยแก่สมาชิกผู้ถือบัตรและ พนักงาน ตามสมควรเพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย เพราะ เงิน 1 ล้านบาทที่มาซื้อสมาชิก หากไปลงทุน หรือฝากธนาคารก็ต้องได้รับดอกเบี้ย เช่นกัน   ยอมรับเรื่องนี้อ่อนไหวมาก ต้องศึกษาให้ดี เพราะกังวลว่าจะมีเรื่องฟ้องร้องตามมา
 ส่วนผลที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ มีแน่นอน แต่คงไม่รุนแรง เพราะผลการดำเนินธุรกิจของอีลิทการ์ดช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก
รายงานข่าวจาก บริษัท ไทยพริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี)  เผยว่า  กรณีมีกระแสข่าวว่า มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี ให้ปิดกิจการ อีลิทการ์ด ภายใน 60 วัน  ในส่วนของขวัญกำลังใจของพนักงาน ไม่ได้แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันมานานเป็นปีแล้ว แต่สิ่งที่พนักงานต้องการคือ ความชัดเจน ว่ารัฐจะตัดสินใจอย่างไร

*** ขยายงดวีซ่าญี่ปุ่นอีก 60 วัน

นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาการพำนักในประเทศไทย โดยไม่ต้องมีวีซ่าของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จาก 30 วันเป็นจำนวน 90 วัน เป็นเวลา 6 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - ต.ค. 2554 เพื่อช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิ อีกทั้งเป็นการขยายระยะเวลาการพำนักระยะยาว ให้ผู้สูงวัยของญี่ปุ่นที่นับวันจะมาพำนักที่ไทยมากขึ้น
ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวยังเป็นการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวของไทย เช่น ธุรกิจที่พักอาศัย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องสูญเสียรายจากกรณีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวฯ ซึ่งคาดว่าจะมีทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางมาเที่ยวลดลงเป็นมูลค่า 1.5-2 หมื่นล้านบาท
"การช่วยเหลือมิตรประเทศในสถานการณ์เช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นต่อไป โดยเฉพาะการรองรับแผนการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรม ที่นักลงทุนจะกระจายความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในญี่ปุ่นมาประเทศอื่นๆมากขึ้น และยังเป็นการเอื้อโอกาสให้ประเทศไทยที่มีความพร้อมด้านท่องเที่ยวให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในธุรกิจที่พัก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และแก้ปัญหาการว่างงาน"นายชุมพลกล่าว
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบหลักการแผน แม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ (อพท.) มูลค่าการลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1. แผนการลงทุน 10 ปี วงเงินลงทุน 1.35 หมื่นล้านบาท และ 2. โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อนำพลังงานมาผลิตกระแสไฟฟ้าวงเงิน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ในส่วนวงเงินลงทุนนั้น ครม.มีมติให้กระทรวงท่องเที่ยวฯเสนอครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณเป็นคราวๆไป
กำลังโหลดความคิดเห็น