xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์ 4 วัน คร่า 148 ศพ คนไทยงดสังสรรค์ใช้เงินไม่ถึงหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -“สงกรานต์” 4 วัน คร่าชีวิต 148 ศพ กรุงเทพ สูงสุด 8 ศพ โพลนิด้า เผยคนไทยใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ต่ำกว่า1หมื่น เหตุสังสรรค์น้อยกว่าเดิม ด้านโฆษกสธ.เตือนระวังเมนูอาหาร 8 ชนิด เสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารช่วงเทศกาลสงกรานต์

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเวลา 11.00 น.(วานนี้15 เม.ย.) นายกมล รอดคล้าย รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100% สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 14 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,141 ครั้ง ลดลงจากที่แล้ว 374 ครั้ง ร้อยละ 14.87 ผู้เสียชีวิตรวม 148 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 64 คน ร้อยละ 30.19 ผู้บาดเจ็บรวม 2,316 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 418 คน ร้อยละ 15.29 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 97 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 93 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 8 คน รองลงมา สุพรรณบุรี เชียงใหม่ จังหวัดละ 7 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 103 คน รองลงมา เชียงราย 100 คน

จากสถิติอุบัติเหตุ 4 วันที่ผ่านมา พบว่า สถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกันน็อคสูงถึงร้อยละ 142 ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากกว่าร้อยละ 50 ส่วนสาเหตุจากการเมาสุรา อุบัติเหตุจารถจักรยานยนต์ร้อยละ ร้อย 80.87

นายกมล กล่าวต่อว่า ได้ประสานให้จังหวัดและและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เข้มงวดกวดขันการเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย การขับรถเร็ว กวดขันการห้ามขาย ห้ามดื่ม และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยให้สุ่มตรวจตามสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันการลักลอบจำหน่ายสุรา และให้เตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันที่ 16 - 17 เม.ย. โดยปรับแผนการปฏิบัติงาน และเฝ้าระวังตามจุดทางร่วม ทางแยก รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่ขนส่งให้กำชับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะให้เตรียมพร้อมของพนักงานขับรถและรถโดยสาร กรณีวิ่งในระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตร ให้จัดพนักงานขับรถผลัดเปลี่ยนการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งคุมเข้มพนักงานขับรถโดยสารให้มีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ หากตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ นอกจากพนักงานขับรถจะถูกจำคุกไม่เกิน3 เดือน หรือปรับ 2,000 - 10,000 บาท แล้วผู้ประกอบการยังมีโทษถูกปรับไม่เกิน 40,000 บาท จะมีผลต่อการต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ขนส่งให้ตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารและพนักงานขับรถอย่างเข้มงวด ทั้งสถานีต้นทางและปลายทาง โดยพนักงานขับรถต้องรายงานตัวต่อผู้ตรวจการ ณ จุดตรวจบนถนนสายหลัก สายรอง สถานีขนส่งและจุดจอดที่กำหนด เพื่อตรวจสภาพ ความพร้อมของร่างกายพนักงานขับรถ

เผยคนไทยใช้จ่ายต่ำกว่า1หมื่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม คณะกรรมการบริหารนโยบายและคณะทำงานปัญญา -สมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็น สาธารณะแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 6,000 คนทั่วประเทศ หัวข้อ "คนไทยกับการใช้เวลาพักผ่อนในช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์" พบว่า ร้อยละ 70.98 คาดว่า ใช้จ่ายน้อยกว่า 10,000 บาทต่อคน ร้อยละ 29 คาดว่าใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาทต่อคน

ค่าใช้จ่ายอันดับหนึ่ง เป็นค่าอาหารและงานเลี้ยง รองลงมาเป็นค่าเดินทาง มอบเงินให้ผู้มีพระคุณ และการซื้อของฝาก ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยช่วงสงกรานต์ ส่วนมากระบุว่าไม่ดื่ม โดยร้อยละ 65 มีทั้งกลุ่มที่ไม่ดื่มและไม่คิดจะดื่มในช่วงนี้ ร้อยละ 26 ระบุว่าจะดื่มเท่าเดิม และร้อยละ 9 ที่ระบุว่าจะดื่มเพิ่มขึ้นแน่นอน

ส่วนมากประชาชนร้อยละ 64 ขอพักผ่อนอยู่บ้าน ร้อยละ 25 เดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด มีเพียงร้อยละ 10 ที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ประชาชนร้อยละ 40.3 ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ร้อยละ 24.27 ใช้รถโดยสารสาธารณะ และร้อยละ 12.62 ใช้รถตู้ รถทัวร์ โดยผู้เดินทางร้อยละ 68.82 ไม่กังวลเรื่องอุบัติเหตุ ส่วนผู้ที่กังวล คาดว่าอุบัติเหตุจะเกิดจากการมีรถยนต์จำนวนมากบนท้องถนน เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่และการดื่มสุราตามลำดับ

สธ."เตือนระวัง 8 เมนู เสี่ยงท้องเสีย

นายแพทย์ สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหยุดฉลองเทศกาลสงกรานต์13 - 17 เมษายน 2554 นี้ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ หรือการออกไปรับประทานอาหารตามร้านนอกบ้าน ต้องระมัดระวังการเลือกซื้อและบริโภค อาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารเช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคอหิวาต์ โรคบิด และไข้ไทฟอยด์ จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ได้แก่ เมนูอาหาร 8 ชนิด ได้แก่ 1. อาหารปรุงด้วยกะทิ 2. ขนมจีน 3. อาหารทะเลสด 4. อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย ยำ พล่า 5. อาหารถุง อาหารกล่อง อาหารห่อ 6. ส้มตำ 7. อาหารค้างมื้อ และ 8. น้ำดื่มและน้ำแข็ง โดยในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 3 แสนราย เสียชีวิต 16 ราย

เพื่อความปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินอาหาร ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติให้เป็นนิสัย 3 ประการ คือให้ “ กินอาหารสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง และต้องล้างมือเป็นประจำ ” สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้พ่อแม่ดูแลเรื่องการกินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กวัยนี้นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำแล้ว ยังดูแลตัวเองไม่เป็น กินและหยิบอาหารเข้าปากแบบไร้เดียงสา ดังนั้น โอกาสติดเชื้อจึงเกิดขึ้นง่าย

สุดท้ายคือเรื่องน้ำดื่มและน้ำแข็ง ขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายอย.รับรอง และเลือกขวดที่มีฝาปิดสนิท ส่วนน้ำแข็งควรเลือกชนิดบรรจุถุงที่มีเครื่องหมาย อย. และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร ไม่ควรนำอาหารอื่นไปแช่ในถังน้ำแข็งที่ให้ลูกค้ากิน เพราะจะทำให้น้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรคได้ นายแพทย์มานิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น