xs
xsm
sm
md
lg

“ประเพณีแห่พญายม” หนึ่งเดียวของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเพณีแห่พญายมหนึ่งเดียวในโลก ที่อ.ศรีราชาจะมีขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประเพณีแห่พญายม หนึ่งเดียวของโลก ที่ชาวบางพระ จ. ชลบุรี ร่วมกัน อนุรักษ์สืบทอดประเพณีเก่าแก่ของบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของผู้สูงวัยเกี่ยวกับประเพณีเก่าแก่ของชาวต.บางพระ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี การแห่พญายมจะกระทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะถือว่าเป็นปีใหม่ของไทย โดย นายเป๊ะ-นางหลา บัวเขียว และพรรคพวกได้จัดทำรูปปั้นพญายมขึ้นเพื่อบวงสรวง เจ้าที่เจ้าทาง หลังพิธีบวงสรวงจะนำองค์พญายมหันหน้าออกสู่ทะเลแล้วปล่อยลงในทะเล โดยเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายม ชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข ในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดทั้งปี

ในช่วงเช้าชาวบ้านจะออกมาทำบุญร่วมกันบริเวณชายหาด เนื่องจากชาวบ้านแถบนี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง จึงมีความเชื่อของกลุ่มชนชาวประมงชาวเลในเรื่องของความเหนือจริงในบางเรื่อง เพราะโดยอาชีพต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ ลม ฝน พายุ พวกนี้แสดงออกเป็นรูปธรรมในเรื่องของพิธีกรรม การเซ่นไหว้แม่ย่านางของเรือแต่ละลำ หรือความเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ เช่น ผีพราย โดยเชื่อว่าหากชาวประมงคนใดออกไปหาปลาแล้วบังเอิญพบศพคนตายลอยอยู่ในน้ำ จะต้องลากเอาศพมาเข้าฝั่งเพื่อทำพิธีทางศาสนา หากทำได้ดังนี้จะทำให้เรือสามารถหาปลาได้เยอะ หากปล่อยทิ้งไม่ยอมดูแลก็จะพบกับอาเพศต่างๆ ที่จะติดตามมา

ชาวบ้านจึงได้มีพิธีกรรม “แห่พญายม” ไปลอยทิ้งทะเล โดยขบวนแห่พญายม จะมีชาวบ้านแต่งตัวเป็น ชูชก กัณหา-ชาลี หนุมาน ยักษ์ ฯลฯ ร่วมขบวนแห่มาด้วย

“องค์พญายม”จะได้รับการตกแต่งให้น่ากลัวและตรงตามจินตนาการ โดยในอดีตจะใช้ วัสดุอุปกรณ์ตัวโครงร่างจะเป็นพวกสุ่มไก่ ลวด แล้วเอากระดาษเหลือใช้มาแปะๆ แล้วระบายสีให้น่ากลัว สยดสยอง

หลังจากนั้นได้มีการสืบสานการทำองค์พญายมโดยร่วมกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง ประมาณปี พ.ศ. 2496 การทำพญายมได้ย้ายมาทำอีกฝั่งคลอง ซึ่งอยู่ติดกับชายทะเล หลังวัดเขา พระพุทธบาทบางพระ โดยมีชาวบ้าน และพรรคพวก เพื่อนบ้านใกล้เคียงช่วยกันทำช่วยกันแห่

ประมาณ พ.ศ.2507 การจัดทำพญายมได้ย้ายไปทำที่สี่แยกคอเขาบางพระ บริเวณใต้ต้นพุทรา และเริ่มทำบุญและก่อพระทราย ตอนเช้า ซึ่งถือเป็นสงกรานต์ วันสุดท้ายของสงกรานต์บางพระ โดยช่วงบ่ายจึงแห่พญายม

ต่อมาทางหน่วยงานราชการได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ที่ช่วยกันรักษาประเพณีเก่าแก่ของชาวบางพระไว้ จึงได้เข้ามาสนับสนุน และมีการจัดทำองค์พญายมให้สวยงามขึ้น พร้อมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมเสริม โดยมีการทำบุญเลี้ยงพระเช้า ก่อพระทราย และมีพิธี แห่พญายมในภาคบ่าย มีงานกองข้าว และปล่อยพญายมลงทะเลในตอนเย็น

การทำรูปปั้นพญายม ชาวตำบลบางพระจะสร้างพญายมให้แลดูน่าเกรงขามแล้วนำมานั่งบนเสลี่ยง แห่นำด้วยขบวนกลองยาว มายังชายหาด นำข้าวปลา อาหารมากอง เซ่นสัมภเวสี เจ้าที่เจ้าทาง หลังพิธีบวงสรวงจะนำองค์พญายมหันหน้าออกสู่ทะเล แล้วปล่อยลงในทะเลเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายมชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างมีความสุขในวันงานยังมีการละเล่นพื้นบ้าน ที่สร้างความสนุกสนาน เช่น อุ้มสาวลงน้ำ เล่นตี่จับ ชักกะเย่อ มอญซ่อนผ้า เล่นลูกช่วงรำ ฯลฯ

ประเพณีแห่พญายม จัดเป็นประจำมากว่า 70 ปีแล้ว และเป็นประเพณีที่พบเห็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. ของทุกปี หรือที่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศว่า “วันไหลบางพระ” หรือ เทศกาลวันไหล ของชาวจังหวัดชลบุรี

“วันไหล” หรือเทศกาลวันไหล อาจเป็นคำที่หลายคนในต่างจังหวัดจะยังสงสัย คือ วันอะไร แต่สำหรับคนในภาคตะวันออก และจังหวัดใกล้เคียงจะเป็นที่ทราบกันว่า “วันไหล” คือวันที่คนชลบุรี จะต้องยกพลขึ้นรถพร้อมอาวุธสงครามครบมือ เช่น ปืนฉีดน้ำ แป้งดินสอพอง ถังแกลลอนสำหรับบรรจุน้ำ เฮโลกันขนขึ้นรถ จะออกศึกละเลงน้ำสงกรานต์ ฉลองวันไหล

“เทศกาลวันไหล” ของชาวจังหวัดชลบุรี ที่นิยมกันที่สุดและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต้อง ‘ไหลพัทยา” โดยจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศต่างออกมารวมตัวเล่นน้ำสงกรานต์ที่บริเวณชายหาดพัทยา จนแทบจะไม่ต้องใช้แรงเดิน เพราะจะไหลไปตามแรงของคลื่นมหาชน นอกนั้นก็จะมีที่ บางแสน บางพระ ศรีราชา สัตหีบ ไล่กันไปตามแต่ว่าเขตไหน อำเภอไหนจะเล่นในวันอะไร ส่วนมากแล้วจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 13 - 21 เม.ย.ของทุกๆปี
กำลังโหลดความคิดเห็น