ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเทศกาลสงกรานต์ของ อ.หาดใหญ่ ในปีนี้นอกจากสภาพภูมิอากาศจะไม่เอื้ออำนวยแล้ว นักท่องเที่ยวยังลดลงด้วยหลังผ่านวิกฤตภัยน้ำท่วม ทำให้ยอดจองห้องพักในปีนี้ไม่คึกคัก จึงคาดการณ์ได้ว่ารายได้ลดน้อยลงด้วย ส่วนที่ จ.ตรัง ผู้ประกอบการยอมรับเม็ดเงินหายไปวันละ 5 ล้านบาท จากการเลื่อนและยกเลิกการเดินทางในช่วงไฮซีซัน
แม้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่างจะรอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมนอกฤดูกาล แต่สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และความเสียหายของจังหวัดรอบใกล้เคียง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเทศกาลหาดใหญ่มิดไนต์สงกรานต์ ที่กำหนดระหว่างวันที่ 11-13 เม.ย. ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมไฮไลต์หนึ่งของการท่องเที่ยวทุกๆ ปี ที่สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 200,000 คน โดยเป็นชาวไทย 60% และต่างชาติอีก 40% แม้ปีนี้มีการทุ่มทุนจัดงาน และดึงศิลปินดังอย่าง วงบิ๊กแอส เนโกะจั๊ม และขนมจีนมาสร้างสีสันให้แก่วัยโจ๋ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักก็ตาม
นายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา เปิดเผยว่า ในเทศกาลสงกรานต์ 12-15 เม.ย.ปีนี้ มียอดการจองห้องพักของโรงแรม อ.หาดใหญ่แล้ว ร้อยละ 90 และที่ อ.เมืองสงขลา ร้อยละ 70 ต่างจากปีก่อนๆ ที่ก่อนถึงเทศกาลจริงห้องพักจะถูกจองเต็มจนล้นไปยังอำเภอใกล้เคียง เนื่องจากพี่น้องภาคใต้เพิ่งผ่านวิกฤตน้ำท่วมหมาดๆ อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานมิดไนต์สงกรานต์ลดลง แต่ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เงินจะสะพัดไม่น้อยกว่า 90 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการด้านความปลอดภัย สมาคมฯได้ประชุมร่วมกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 แล้ว ในการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้มีการเสริมกำลังทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ทั้งการตั้งด่านตรวจ สายตรวจเดินทาง ชุดเคลื่อนที่เร็ว และสายข่าว พร้อมอุปกรณ์ตรวจสารระเบิดและยาเสพติด เพราะความปลอดภัยเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการมากที่สุด
ด้าน พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเล่นสงกรานต์มาก เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้ประชุมร่วมกับแม่ทัพกองทัพภาค 4 แล้ว มีแผนตรวจค้นในพื้นที่เป้าหมาย เช่น ในหอพัก บ้านเช่าและโรงแรม มีการตั้งด่านตรวจบนถนนสายเข้าเมืองหาดใหญ่ตลอด 24 ชม.และตั้งด่านลอยในเขตเทศบาล
ส่วนที่ จ.ตรัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของภาคใต้ นายประทีป โจ้งทอง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ตรัง กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุด แม้ว่าน้ำท่วมจะคลี่คลายลงแล้ว แต่สภาพความเสียหายที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลอดจนความไม่สะดวกในการเดินทาง ซึ่งถนนหนทางบางเส้นยังถูกน้ำท่วมขัง เสียหายในหลายจังหวัด ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจยกเลิกและเลื่อนการเดินทางมายัง จ.ตรังประมาณ 80% ทำให้ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวเสียโอกาสและรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ล้านบาท
ด้านนายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุด ในพื้นที่ภาคใต้ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และถือว่ารุนแรงกว่าเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2553 นับเท่าตัว เพราะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีใครคาดฝันหรือเตรียมตัวมาก่อน และอยู่ห่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งก่อนเพียงแค่ 4-5 เดือนเท่านั้น มิหนำซ้ำแถมบางแห่งเพิ่งจะได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจอย่างสูง
สำหรับภาคธุรกิจที่เสียหายมากที่สุด จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนมี.ค.2554 เป็นภาคการค้าขาย โดยเฉพาะประเภทอาหารสด ซึ่งมีปัญหาทั้งวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาสูง รวมทั้งยังขายได้ยาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ประสบภัยธรรมชาติ เช่นเดียวกับภาคการประมง ซึ่งมีปัญหาออกไปจับปลาไม่ได้ ตลอดจนถึงภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องเลื่อนการเดินทางออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเส้นทางการคมนาคม ทั้งรถ รถไฟ และเรือ ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ในหลายเส้นทาง ทั้งๆ ที่ปกติในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ของทุกปี จะตรงกับช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว
ส่วนภาคการเกษตรโดยเฉพาะสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ยังคงเป็นส่วนที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจน ซึ่งหากสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลอันดามันได้อย่างรวดเร็ว พืชผลเหล่านี้ก็คงจะเกิดความเสียหายไม่มากนัก โดยเฉพาะสวนยางพารา ที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการปิดกรีด ขณะที่สวนปาล์มน้ำมันในที่ราบลุ่มซึ่งเพิ่งจะถูกน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี 2553 หากเจอน้ำท่วมขังนานๆ ก็อาจจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ ดังนั้น หอการค้าฯ จึงรู้สึกเป็นห่วงภาพรวมด้านเศรษฐกิจ ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดตรัง ในปี 2554 ว่า จะสามารถเติบโตไปตามความคาดการณ์ได้อีกหรือไม่