xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเพิ่งสิ้นหวัง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วันก่อนฟังคุณสนธิพูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า หากมีการเลือกตั้ง และพรรคไทยรักไทยชนะ คนของพรรคไทยรักไทยก็จะไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยมีระเบียบวาระสำคัญคือ การแสวงหาความปรองดอง ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกคน รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย หลังจากนั้นก็จะทำการยุบสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ทักษิณ กลับมาเป็นนายกฯ

นอกจากคุณสนธิแล้ว ก็ยังมีกระแสข่าวว่าอาจไม่มีการเลือกตั้ง แต่จะไม่มีรัฐประหาร หากจะมีสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพราะ กกต.จะพากันลาออกจนไม่มีใครจัดการเลือกตั้ง หากเป็นเช่นนี้ก็จะเกิด “สุญญากาศทางการเมือง” เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมาตกลงกันว่า ไม่มีการเลือกตั้งก็ได้ แล้วร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ชูเสธ.หนั่นเป็นนายกฯ ต่อจากนั้นก็จะมีนิรโทษกรรมแล้วเปิดโอกาสให้ทักษิณกลับเข้ามา

ทักษิณนั้น แม้จะติดคดี และอยู่ต่างประเทศ แต่ก็คิดว่าตนเองยังเป็นที่ต้องการของประชาชนอยู่ เพราะดูจากโพลที่ทำขึ้นเป็นระยะๆ ประชาชนให้ความนิยมมากพอๆ กับอภิสิทธิ์

สำหรับอภิสิทธิ์นั้น เวลานี้เสียคะแนนไปมาก ด้วยเรื่อง 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ท่าทีเกี่ยวกับเขมร คนไม่พอใจอภิสิทธิ์ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่เดินเกมเป็นที่เสียเปรียบเขมร อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่อภิสิทธิ์ยังไม่สละสัญชาติอังกฤษ ข้อนี้พวกพันธมิตรฯ ข้องใจมาก ท่าทีที่แสดงออกในทางการพูดก็ไม่ชัดเจน ระยะนี้จึงมีการไปประท้วงอภิสิทธิ์อยู่หลายครั้ง

ที่จริงอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่เป็นผู้นำประเทศมากกว่าใครๆ และน่าเสียดายที่สังคมเราเป็น “สังคมทอนกำลัง” คือ นิยมการหาข้อบกพร่อง และกล่าวร้ายต่อผู้อื่น พรรคอื่นๆ ดูจะไม่มีตัวเลือกมากนัก จะเหลืออยู่ก็แต่เสธ.หนั่นซึ่งคร่ำหวอดทางการเมือง เพื่อนฝูงแยะ และไม่มีความขัดแย้งกับใครเข้าได้ทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายทหารด้วย

พรรคประชาธิปัตย์เองมีผู้มีความสามารถพอที่เป็นนายกฯ ได้หลายคน ทั้งที่เป็น ส.ส.และที่เคยเป็นอย่างเช่น ศุภชัย พานิชภักดิ์ และสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นต้น เมื่อถึงตาจนจริงๆ คนใดคนหนึ่งก็จะเป็นตัวเลือกได้ หรือแม้แต่ผู้อาวุโสอย่างคุณชวน หลีกภัย ก็ยังไหว

ฝ่ายทหารเวลานี้ ไม่เห็นว่ามีใครที่มีความทะยานอยากทางการเมือง ทุกคนล้วนแต่กลัว และพยายามหลีกเลี่ยงการเมือง ที่สำคัญก็คือ ในระยะหลังๆ นี้ไม่มีใครที่อยู่ในตำแหน่งนานพอที่สามารถสะสมบารมีได้ ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจก็ไม่มีความชัดเจนว่ามีใครมีผลประโยชน์

มีข่าวว่านายทหารกลุ่มนายพันที่เกาะกลุ่มกัน มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง และเคยวิจารณ์ผู้นำกองทัพทั้งในอดีต และปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่เหมือนกลุ่มยังเติร์ก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐประหารก็น้อย สำหรับเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ก็ยังไม่มีสถานการณ์ที่จำเป็นถึงขนาดนั้น

แม้ชนชั้นกลางจะรังเกียจการเมือง เพราะมีการโกงกินใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ แต่เราก็จำต้องยอมทน เพราะกติกาและกระบวนการประชาธิปไตยก็ดีกว่าระบอบอื่น ผมเคยเขียนในอาทิตย์ที่แล้วว่า เราอย่าดูการเมืองในความหมายที่แคบ เวลานี้เราดูการเมืองที่ตัวนักการเมือง แต่ถ้าดูการเมืองทั้งระบบ และดูสังคมที่เป็นสภาพแวดล้อมของการเมืองด้วยแล้ว จะพบว่า การเมืองของนักการเมืองไม่อาจคุมทุกส่วนของสังคมได้หมด ยังมีการเมืองของภาคประชาชนที่เติบโตขึ้นทุกวัน ประชาชนมีความตื่นตัว มีการจัดตั้ง และทำงานเชื่อมประสานกันเป็นเครือข่าย เรียกได้ว่าเป็น “พลังทัดทาน” การใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยพร้อมที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมือง นอกจากนั้นก็ยังมีสื่อมวลชนเป็นกำลังสำคัญอีกด้วย

จุดที่การเมืองของนักการเมืองเกี่ยวข้องอยู่ ก็คือการแบ่งสรรงบประมาณของภาครัฐ และการใช้อำนาจทางการเมืองโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ โดยเฉพาะตำรวจ และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นสองจุดนี้จึงเป็นอาณาบริเวณหรือพื้นที่สำคัญที่ประชาชนควรเข้าไปควบคุมกำกับดูแล ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับใหม่ ได้มีการเสนอให้มีคณะกรรมการงบประมาณ คอยกำกับดูแลการทำงานของสำนักนโยบาย เป็นการลดอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งน่าจะทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณได้น้อยลง สำหรับการแต่งตั้งตำรวจ และข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนั้น ด้านตำรวจมี กตร.อยู่แล้ว หากมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้มแข็ง ก็จะช่วยลดความไม่ชอบมาพากลไปได้มาก

เราควรมาดูสาเหตุที่การเมืองของเราเสื่อมโทรมลง แต่ก่อนนักวิชาการคิดว่า การเมืองไม่ดี เพราะนักการเมืองมีอำนาจมาก และเป็นอิสระจากการควบคุม กลุ่มพลังในสังคมยังอ่อนแอ ไม่มีพลังพอจะต้านทานได้ เวลานี้กลุ่มพลังเติบโตขึ้นแล้ว ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ น่าจะอยู่ที่การหาช่องทางในกระบวนการทางการเมือง ที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้ แทนที่จะปล่อยให้กระบวนการทางการเมือง ปลอดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เวลานี้กระบวนการนิติบัญญัติกับการมีส่วนร่วมของประชาชนยังแยกกันอยู่

นักรัฐศาสตร์ควรให้ความสนใจว่าจะเพิ่มอำนาจของภาคประชาสังคมได้อย่างไร การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงบประมาณระดับจังหวัด และท้องถิ่นก็เป็นก้าวสำคัญอย่างหนึ่ง และหากเรามีความอดทน ไม่หวังพึ่งการรัฐประหาร แต่เชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนการเมืองให้ดีขึ้นได้ เราก็ต้องยอมรับกติกาการเลือกตั้งต่อไป ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นใด
กำลังโหลดความคิดเห็น