xs
xsm
sm
md
lg

การอภิปรายในสภาฯ : การแก้ปัญหาด้วยวาทกรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! โทษ 5 ประการนี้ในบุคคลผู้พูดมาก คือ

1. ย่อมพูดปด 2. ย่อมพูดส่อเสียด (ยุยงให้แตกร้าวกัน) 3. ย่อมพูดคำหยาบ 4. ย่อมพูดเพ้อเจ้อ 5. สิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! โทษ 5 ประการนี้แลในบุคคลผู้พูดมาก

ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 282

“คนที่พูดถ้อยคำมีประโยชน์ แม้มาก แต่เป็นผู้ประมาทไม่ทำตามถ้อยคำนั้น ผู้นั้นย่อมไม่ได้ส่วนแห่งความเป็นสมณะ เหมือนคนเลี้ยงโคคนมให้ผู้อื่น แต่ไม่มีส่วนแห่งน้ำนมโค ฉะนั้น

คนที่พูดคำมีประโยชน์ แม้น้อย แต่ประพฤติปฏิบัติตามธรรม ละราคะ โทสะ และโมหะได้ รู้อยู่โดยชอบ มีจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณธรรมที่ทำให้เป็นสมณะ” ธรรมบทพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 หน้า 17

ทั้งสองบทแห่งธรรมที่ยกมากล่าวอ้างในข้างต้น เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มุ่งสอนพุทธมามกะให้สังวรระวังเกี่ยวกับพฤติกรรมอันแสดงออกทางวาจาหรือแสดงออกด้วยการพูด

โดยนัยแห่งคำสอนดังกล่าวข้างต้นมีความชัดเจนทั้งในด้านอรรถะ คือเนื้อหาสาระ และพยัญชนะคือความหมายในด้านภาษาตามตัวอักษร แทบจะไม่ต้องอธิบายขยายความด้วยภาษาอื่นใด จะมีบ้างก็เพียงคำว่าคุณธรรมแห่งความเป็นสมณะที่ท่านผู้อ่านบางท่านยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่อาจคลาดเคลื่อนอจากความเป็นจริงตามนัยแห่งพุทธประสงค์แท้จริง

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้อ่านบางท่านที่อาจจะมีข้อกังขาในเนื้อหาแห่งคำสอนที่ว่านี้ในบางประเด็น ผู้เขียนจึงใคร่ขออธิบายขยายความเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นพอเป็นสังเขปดังนี้

โดยนัยแห่งบทแรกหมายถึงว่า คนที่พูดมากมีโอกาสที่จะพูดในคำพูดดังต่อไปนี้คือ พูดโกหกบิดเบือนเนื้อหาจากจริงเป็นเท็จ เท็จเป็นจริง เพื่อหวังผลประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเองและพรรคพวก, พูดส่อเสียด คือ พูดกระทบกระเทียบจุดด้อยของคนอื่น เพื่อจูงใจให้ผู้ฟังเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือรวมไปถึงการใส่ความเพื่อให้เกิดการแตกแยก, พูดคำหยาบ ทั้งในด้านเนื้อหาหรือภาษา หรือทั้งสองประการรวมกัน, พูดเพ้อเจ้อ หมายถึงพูดในสิ่งเหลวไหลไร้สาระ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่ใคร เป็นการพูดแบบคะนองปาก หรือพูดเพราะอยากพูดโดยไม่ดูว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องพูด ส่วนโทษประการสุดท้าย เป็นการบอกล่วงหน้าถึงภพภูมิที่คนซึ่งมีโทษจากการพูดจะต้องไปหลังจากตายแล้ว

ส่วนบทที่สอง โดยนัยแห่งคำสอนแล้วหมายถึงว่า คนที่พูดมาก แม้จะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ตนเองไม่ทำตามหรือทำตามไม่ได้ จะด้วยมีศักยภาพไม่เพียงพอ แต่พูดได้เพราะจำทฤษฎีที่ผู้อื่นเขียนมาพูด ก็ไม่มีประโยชน์อันใดแก่คนพูด แต่ถ้าผู้ฟังเข้าใจและทำตาม ก็จะได้ประโยชน์ในส่วนนี้

ในทางกลับกัน แม้จะพูดน้อยแต่เป็นการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งตนเองก็ทำในสิ่งที่ตนเองพูดได้ด้วย ก็จะได้ส่วนแห่งความเป็นสมณะ

ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตคำว่า ได้ส่วนแห่งความเป็นสมณะ อันนี้หมายถึง การเข้าถึงธรรมที่ทำให้คนมีความสงบ ทั้งกาย วาจา และใจ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีศีลรักษากาย และวาจาให้สงบ และมีธรรมที่ทำให้จิตใจสงบด้วยครบทั้ง 3 ทวาร คือ กาย วาจา และใจ จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะ แปลว่า เป็นผู้สงบ กาย วาจา และใจ

ที่นำเรื่องนี้มาเขียนในช่วงนี้ก็ด้วยเห็นว่าสังคมไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมการเมืองจะมีผู้คนหลายคนหลายพวกกำลังมีพฤติกรรมทางวาจาสวนทางกับคำสอนข้อนี้ และที่น่าจะเกิดขึ้นและผิดต่อคำสอนข้อนี้แน่นอนก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คนในวันที่ 9 มีนาคมที่จะถึงนี้ และในการอภิปรายในครั้งนี้ก็คงไม่ต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ จะมีคนพูดมากเข้าข่ายมีโทษ 5 ประการตามนัยแห่งคำสอนข้อที่ 1 และจะมีบางคนหรือเป็นส่วนน้อยพูดในเรื่องที่ตนเองไม่ทำตามหรือทำตามไม่ได้ แต่ที่ไม่น่าจะมีเลยก็คือ พูดน้อยแต่เป็นการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และตนเองทำตามได้ด้วย

อะไรทำให้เชื่อว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ จะมีคน 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้นคือ พูดมาก และพูดในสิ่งที่ทำให้เกิดโทษ 5 ประการ พูดมากในสิ่งมีประโยชน์ แต่ตนเองไม่ทำตามหรือทำตามไม่ได้ และสุดท้ายคือ พูดน้อย และพูดในสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งตนเองก็ทำตามได้ด้วย จะมีน้อยมากหรือไม่มีเลย

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูพฤติกรรมของนักการเมือง ไม่ว่าการเมืองนอกสภาฯ หรือการเมืองในสภาฯ ทั้งที่เป็นมาแล้วและกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ จะต้องมีคนประเภทพูดมาก และมีโทษ 5 ประการอยู่ทุกวงการ และทุกครั้งที่มีการพูดในที่ประชุม หรือแม้กระทั่งในที่ชุมนุม ส่วนคนประเภทที่ทำตามในสิ่งที่ตนเองพูดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทุจริต คอร์รัปชันก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น

ส่วนประเภทสุดท้าย หาได้ยากและอยากให้มีมากๆ สังคมไทยจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะมีคนพูดในสิ่งที่ตนเองทำได้มากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็เท่ากับลดคนที่พูดได้ แต่ทำเองไม่ได้ลง สังคมก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น