xs
xsm
sm
md
lg

กุดน้ำใส: นวัตกรรมชุมชนลดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

หนึ่งสิ่งที่ไม่แปรเปลี่ยนของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาคืออัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่เคยลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพียงพอผู้คนทั่วไปจะไว้ใจได้ว่าการเดินทางทำงานหรือท่องเที่ยวทัศนาจรจะไม่ประสบเหตุถึงแก่ชีวิต พิการ หรือบาดเจ็บ

อย่างไรก็ตาม ความเลวร้ายที่กลืนกินสังคมไทยในทุกพื้นที่ก็กำลังล้าแรงลงในบางชุมชนที่ให้ความสำคัญต่อเนื่องกับการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเชิงรุก ปลูกฝังวินัยจราจร ตลอดจนเสริมสร้างค่านิยมขับขี่ปลอดภัยแก่ประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ดังปรากฏการณ์เทศบาลตำบลกุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่จัดกิจกรรมป้องกันอุบัติเหตุโดยการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงและอันตรายทางถนน (Black Spot) ในชุมชนนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ล่วงผ่าน 3 ปีที่จัด ‘โครงการชุมชนร่วมใจสร้างความปลอดภัยทางถนนบ้านห้วยโจด’ อันเกิดจากการร่วมคิดร่วมสร้างร่วมวางแผนของคนในชุมชนที่ตั้งต้นจากการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ในการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุในจุดเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่บริเวณโค้งหักศอกจนถึงสามแยก ที่ต่างไม่มีสัญลักษณ์ให้ระมัดระวัง อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็ลดลงเหลือแค่ ‘0’ ครั้ง จากเฉลี่ยเคยเกิดอุบัติเหตุถึงเดือนละ 2-3 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บหรือพิการตามมาด้วย

ช่วงกลางคืนที่หนุ่มสาวออกเวรจากโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในเขต อ.น้ำพอง เพื่อกลับบ้าน ในอาการง่วงและบางคราวก็ประมาทจนประสบอุบัติเหตุก็เปลี่ยนมาเป็นปลอดภัยได้มากขึ้นจากการประดิษฐ์คิดค้นของที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและอดีตผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา ‘บัวสา พุทธแก้ว’ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมป้องกันอุบัติเหตุในจุดเสี่ยงที่เคยคร่าชีวิตและทำหลายคนบาดเจ็บพิการโดยใช้แค่ไม้ยูคาลิปตัสทาสีที่หาได้ในชุมชน ก่อนเปลี่ยนมาเป็นท่อพีวีซีทาสีขาว-แดง ทำเป็นเสาหลักทางโค้ง ติดแผ่นซีดีที่เป็นเป้าสะท้อนแสงได้ทั้งกลางวันและกลางคืน และใช้วัสดุเหลือใช้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุของราชการ เพื่อเตือนภัยในจุดเสี่ยง

ทั้งนี้ การค้นพบและขจัดจุดเสี่ยงกระทั่งต่อมาไม่เกิดอุบัติเหตุในจุดนั้นๆ อีกเลย เกิดขึ้นก็เมื่อชุมชนพูดคุยในเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อระดมความคิดคลี่คลายปัญหา ประชุมเชิงปฏิบัติการ และลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงในหมู่บ้านอย่างจริงจัง จนก่อเกิดเป็นนวัตกรรมในพื้นที่ที่ไม่เพียงตอบโจทย์ท้องถิ่น แต่รวมถึงระดับประเทศที่ความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต (Safety Culture) ด้วย

ครั้งแรกกับการใช้ไม้ยูคาลิปตัสทาสีเตือนภัยใน 5 จุดเสี่ยงนำร่องกับเงินสนับสนุนแค่ 1,000 บาทจากเทศบาลก็กลับกลายเป็นนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึงใจชาวชุมชนได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นยังเป็นรูปธรรมความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยหลักทางสังคมในปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุผลลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรลงต่ำกว่า 14.15 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 2555 ตามตัวชี้วัดวาระแห่งชาติด้านความปลอดภัยทางถนน และต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนเมื่อสิ้นสุดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety)

งานกิจกรรมปรับปรุงจุดเสี่ยงและบริเวณอันตรายบนถนน (Black Spot) ของเทศบาลตำบลกุดน้ำใสไม่ต้องการการประกวดราคาจ้างหรือ TOR ในการดำเนินการ เพราะพัฒนามาจากความคิดสร้างสรรค์ การสามัคคีคือพลังของชุมชน ตลอดจนการรีไซเคิลวัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์จนก่อเกิดนวัตกรรมที่สามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร

เหตุที่ใช้ไม้ยูคาลิปตัสหรือพีวีซี ไม่ใช้อุปกรณ์ถาวรหล่อปูนซีเมนต์ก็เพื่อให้มีการพูดคุยพบปะหรือมีแผนปฏิบัติงานทุก 3 เดือนที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาอุปกรณ์เตือนภัยนี้ ที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวจะจัดอย่างเข้มข้นมากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ออกพรรษา หรือช่วงฤดูกาลที่พี่น้องคืนถิ่น นอกเหนือไปจากการตัดแต่งกิ่งไม้ นำวัสดุเหลือใช้ในแต่ละบ้านมาแก้ไขจุดเสี่ยงซึ่งทำประจำควบคู่กับการเก็บขยะ ทำความสะอาดชุมชนและถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน

ความสำเร็จในการขจัดจุดเสี่ยงจึงไม่เพียงเป็นปัจจัยหนุนนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์การเป็น ‘ตำบลแห่งการพัฒนา มีความก้าวหน้า อยู่อย่างมีความสุขแบบยั่งยืน’ หากแต่ยังเป็นต้นแบบการเรียนรู้แก่ภาคส่วนสังคมอื่นๆ ด้วย ดังที่คณะบุคลากรทางการแพทย์จากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 ประเทศเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมในพื้นที่ ต.กุดน้ำใส ตามโครงการชุมชนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 และเป็นแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practices) แก่ชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ที่จะได้เรียนรู้การขับเคลื่อนประเด็นอุบัติเหตุในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องชุมชนปลอดภัยครั้งที่ 2 ‘ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัย’ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554

นวัตกรรมลดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมสร้างอย่างแท้จริงจึงไม่ได้เป็นแค่ต้นทุนทางสังคมที่สำคัญของชุมชนแห่งนี้เท่านั้น หากห้วงยามสามัคคีที่คิดค้น ‘นวัตกรรมระดับพื้นที่’ ร่วมกันนี้ยังผลิดอกงอกงามในหมู่บ้านอื่นของเทศบาลตำบลกุดน้ำใส ไปพร้อมๆ กับความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในระดับนโยบายรัฐด้านการลดอุบัติเหตุ อย่างน้อยที่สุดก็เชื่อมร้อยกับการรณรงค์ใส่หมวกนิรภัย 100% ได้

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น