xs
xsm
sm
md
lg

"อัคราไมนิ่ง"เล็งเข้าตลท.ปลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - อัคราไมนิ่งลั่นเข้าตลาดหุ้นแน่ปลายปีนี้ รอจังหวะตลาดหุ้นดีและการเมืองนิ่ง ยันบริษัทแม่ออสเตรเลียกอดหุ้นแน่น ส่วนโรงสกัดโลหะทองคำแห่งใหม่มูลค่า 4 พันล้านบาทแล้วเสร็จพ.ย.นี้ ดันรายได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านบาทต่อปี หลังราคาทองคำพุ่งกระฉูด
รวมทั้งมีแผนเข้าไปสำรวจแร่ทองคำที่ลาวและพม่ายันแก้ปัญหาข้อร้องเรียนด้านเสียงดังจากโรงงานแล้ว

นายปกรณ์ สุขุม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปลายปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารและตั้งบล. กิมเอ็งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวจะนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้บริษัทแม่ คือ บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด ของประเทศออสเตรเลีย ปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งขยายธุรกิจในการสำรวจแหล่งแร่ทองคำและเงินทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม

“ นโยบายบริษัทแม่อยากให้อัคราไมนิ่งเข้าตลาดหุ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาถือหุ้นบริษัทซึ่งทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่ของประเทศ โดยคิงส์เกทจะไม่มีแผนขายหุ้นทิ้งจากปัจจุบันที่ถืออยู่ 48% ดังนั้นบริษัทสินภูมิ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนไทยคงต้องเป็นฝ่ายไดรูทหุ้นลงมาแทน
และคาดว่าจะเข้าตลาดหุ้นในปลายปีนี้แต่จะเป็นช่วงเวลาใดคงขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดหุ้นและปัจจัยการเมือง เพราะหากการเมืองไทยไม่นิ่ง กองทุนต่างชาติคงไม่อยากเข้ามาลงทุน ดังนั้นจึงต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม และ ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง ไม่รีบร้อนใช้เงิน“

นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯส่งทีมเข้าไปศึกษาแหล่งแร่ทองคำและเงินในลาวแล้ว และมีแผนจะส่งทีมเข้าไปดูในพม่าด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่าทั้งลาวและพม่าน่าจะมีสายแร่ทองคำเช่นเดียวกับไทย ขณะเดียวกันบริษัทได้รับอนุมัติอาชญาบัตรในการสำรวจแร่ทองคำที่พิจิตรและพิษณุโลก คิดเป็นพื้นที่ 4.6 แสนไร่ ส่วนเพชรบูรณ์ และ บางพื้นที่พิจิตรยังไม่ได้รับอนุมัติอาชญาบัตร คาดว่าปีนี้จะใช้เงินประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการเข้าไปสำรวจแหล่งแร่ทองคำดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯยังศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงแยกทองคำและเงินบริสุทธิ์ในไทย หากมีการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตฯทองคำแบบครบวงจร เนื่องจากโรงงานดังกล่าวต้องมีปริมาณทองคำป้อนมากกว่าที่บริษัทฯผลิตอยู่ 8-10 เท่าจึงจะคุ้มการลงทุน โดยจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเหมืองแร่ทองคำเช่นลาว พม่าและกัมพูชามาป้อนแท่งโลหะทองคำและเงิน(Dore)
คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ใน 8-10 ปีข้างหน้า

นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานสกัดโลหะทองคำและเงินออกจากสินแร่แห่งใหม่ มีกำลังการผลิต 2.7 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 4 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.นี้ ทำให้บริษัทฯมีกำลังการสกัดแร่โลหะทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน/ปีสอดคล้องกับประทานบัตรที่บริษัทฯได้รับ14 แปลงจากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้อยู่ที่1,300
เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ จึงมีความคุ้มทุนในการทำเหมืองได้ลึกขึ้น ทำให้ปริมาณสำรองสินแร่ทองคำเพิ่มขึ้นจากเดิม 61 ล้านตันเป็น 100 ล้านตัน และขยายอายุการทำเหมืองทองคำได้นานขึ้นเป็น 15-18 ปี

นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้บริษัทฯเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีรายได้ปีละ 5 พันล้านบาท เป็น 7 พันล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าราคาทองคำจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1,300-1,400 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากมีกำลังซื้อจากจีนและอินเดียเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่รมว.อุตสาหกรรมสั่งให้บริษัทฯหยุดดำเนินการทำเหมืองในแปลงเฟส 2 ทางเหนือ จำนวน 9 แปลงในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 19.00-05.00น. จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเสียงดังตามที่มีชาวบ้านร้องเรียนนั้น บริษัทฯขอยืนยันว่าเสียงที่เกิดระหว่างการทำงานนั้นต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งทีมงานตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและความดังของเสียงอยู่เสมอ
แต่เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทอีก บริษัทฯจึงได้มีการสร้างกำบังเสียงยาวกว่า 100 เมตร สูง6-7เมตรซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบแล้วจะเสนอไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุญาตให้บริษัทฯสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

รวมทั้งได้มีการติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองโลหะหนักใกล้ครบทุกพื้นที่ ยังขาดเพียง 2 หมู่บ้าน โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในเร็วๆนี้ และผลการตรวจเลือดจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงเหมืองฯไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด

“ปัญหาเรื่องเสียงเกิดจากการร้องเรียนของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ทำงานไม่ถูกต้องแล้วต้องออกจากบริษัทไปหลังจากนั้นได้ผันตัวเองมาเป็นเอ็นจีโอ แล้วเรียกร้องจะขายที่ให้กับเหมืองในราคาที่สูงมาก บริษัทได้ปฏิเสธที่จะซื้อทำให้มีปัญหาเรื่องฟ้องร้องตามมาตลอด ที่ผ่านมา บริษัทฯสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาทและสร้างรายได้ให้รัฐปีละหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เป็นเงินรวม 100 ล้านบาท และจัดตั้งกองทุนพัฒนาตำบลเขาเจ็ดลูกและกองทุนพัฒนาตำบลที่ติดกับเหมืองปีละ 10 ล้านบาท”

บริษัทอัคราไมนิ่ง เป็นผู้รับประทานบัตรโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่จังหวัดพิจิตร โดยผลดำเนินงานงวดปี2553 (1ก.ค.52-30 มิ.ย.53) มีรายได้รวม 5.1 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.7 พันล้านบาท เนื่องจากราคาทองปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และจ่ายค่าภาคหลวงเกือบ 400 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น