xs
xsm
sm
md
lg

การแพทย์แผนไทยในยุคแห่งอรุณรุ่ง (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ประทีป ชุมพล


หลักฐานในสมัยสุโขทัยที่ยอมรับกันว่าเป็นรัฐอิสระแรกเริ่มของคนไทย แต่ไม่ปรากฏการจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บมากนัก มักจะมีแต่เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาและพระราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ เราจึงไม่ค่อยทราบความเป็นอยู่ของคนในสมัยสุโขทัยเท่าใดนัก

ลองตรวจสอบหลักฐานในสมัยนั้นก็พบการบันทึกเรื่องโรคภัยไข้เจ็บบ้างเหมือนกัน ได้แก่ข้อความในไตรภูมิกถา หรือที่รู้จักกันดีว่าไตรภูมิพระร่วง อันเป็นพระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาลิไทได้กล่าวถึง โรคที่น่ากลัวในสมัยนั้นมีกล่าวไว้ว่า “... ฝูงคนกินเข้านั้น แลจะรู้ว่าเป็นหิด และเรื้อนเกลื้อน แลกลากหูด และเปาเป็นต่อม เป็นเตาเป็นง่อยเป็นเพลียตาพูหูหนวก เป็นกระจอกงอกเลื้อย เปื้อยเนื้อเมื่อยตน ท้องขึ้นท้องพองต้องไส้ ปวดหัว มัวตาไข้เจ็บ เหน็บเหนื่อยวิการ ดังนี้ไส้” และในศิลาจารึก กล่าวถึงโรคร้อยบางโรคว่า “... อย่าไข้เจ็บเล็บเหนื่อยเมื่อยห้านคร้านอิด เป็นหิดเป็นฝีดับอั้น”

เห็นได้ว่าในสมัยสุโขทัย ผู้คนหวาดกลัวโรคบางโรค เช่น โรคผิวหนัง โรคปวดท้อง ปวดหัว ปวดตา โรคปวดเมื่อย เป็นต้น แต่ไม่มีการกล่าวถึงวิธีการรักษา

มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำนานกล่าวว่า กว่าจะมาตั้งเมืองใหม่ได้นั้นต้องใช้เวลาอันยาวนานเหมือนกัน คือก่อนหน้านั้นชุมชนกลุ่มหนึ่งได้หนีโรคห่าระบาดมาจากเมืองใดไม่ปรากฏโดยมีพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้นำ ร่อนเร่พเนจรอยู่พักใหญ่ แล้วเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองในบริเวณหนองโสน เป็นพื้นที่มีสภาพลุ่ม อีกทั้งแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาเมืองหลวงนี้ว่า กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2893

“โรคห่า” เป็นชื่อของโรคที่ปรากฏเสมอๆ ในตำนานไทยโบราณ ความจริงแล้วโรคอะไรก็ได้ที่ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนห่าฝน จึงมักเรียกกันว่า “โรคห่า” ซึ่งได้แก่ อหิวาตกโรค ฝีดาษ และไข้ทรพิษ เป็นต้น เป็นโรคที่คนไทยโบราณกลัวกันนัก

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อสร้างเมืองหลวงขึ้นแล้ว แม้จะเกิดโรคไข้ทรพิษระบาดอย่างรุนแรงอีกชนิดหนึ่งขึ้นใน พ.ศ. 1997 รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ก็ไม่มีการอพยพโยกย้ายหนีไปสร้างเมืองใหม่ที่ไหนอีก เพราะในสมัยนี้มีการต่อสู้ด้วยยารักษาโรค และไข้ทรพิษก็ทุเลาลงและหายไปในที่สุด

หลังจากไข้ทรพิษระบาดเพียงปีเดียว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง จึงได้สถาปนาหน่วยงานที่มีฐานะเป็นกระทรวงสาธารณสุขขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.1998 มีกรมต่างๆ ถึงเจ็ดกรม คือ

กรมโรงพระโอสถ มีออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดีอะไภยพิรียปรากรมพาหุ จางวางแพทยาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า ถือศักดินาสูงสุด อันหมายถึงเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจเด็ดขาดในกระทรวงสาธารณสุข โรงพระโอสถเป็นกรมที่เก็บรักษาวัตถุดิบที่นำมาปรับปรุงเป็นสมุนไพร รวมถึงการผลิตตำราหลวงด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานงานกับหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ (หมอราษฎร์) และหมอพระ เพื่อคอยเป็นผู้ชำระตำรายา วิจัยพืชสมุนไพร และเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บในพระราชอาณาจักรด้วย

กรมหมอนวด เป็นกรมค่อนข้างจะใหญ่ และมีเจ้าหน้าที่มากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข เพราะการแพทย์แผนไทยถือว่าการนวดเป็นการรักษาป่วยไข้ขั้นพื้นฐาน ดังปรากฏในข้อความของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่า “ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครไข้ป่วยลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืดโดยให้ผู้ชำนาญในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ และใช้เท้าเหยียบๆ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักจะใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อคลอดบุตรได้ง่าย” สมัยนั้นฝรั่งไม่เข้าใจเรื่องการนวดบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขั้นพื้นฐาน แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าฝรั่งจะหลงใหลในการนวดบำบัดแบบแผนไทยมาก

กรมหมอ มีหน้าที่ด้านการเตรียมสมุนไพรมาผลิตเป็นยา และการแสวงหาเครื่องยาให้พร้อมเพื่อนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อถึงคราวคับขัน

กรมแพทยา เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารและดูแลแพทย์ทางฝ่ายทหารและพลเรือนทั้งในส่วนพระราชวังหลวงและส่วนท้องถิ่น ผู้ดูแลดำรงตำแหน่งเป็นพระศรีมโหสถราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ์

กรมหมอกุมาร ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานดูแลรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นเด็ก เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยโบราณนั้นเด็กจะได้รับความคุ้มครองดูแลอย่างดี ซึ่งหน้าที่นี้น่าจะรวมไปถึงการดูแลสตรีที่มีครรภ์ ตลอดจนถึงการทำคลอดและการเลี้ยงดูเด็ก

กรมหมอวรรณโรค เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลชนิดต่างๆ

กรมหมอยาตา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคตาทุกชนิด เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยอยุธยาก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับตามาก ถึงกับมีกรมสำหรับทำหน้าที่รักษาโรคตาโดยเฉพาะทีเดียว

ในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากจะมีกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบเกี่ยวกับสุขอนามัยของคน ได้แบ่งความรับผิดชอบเป็นกรมต่างๆ ทำหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างเคร่งครัด เห็นถึงความเอาใจใส่ของทางราชการต่อไพร่ฟ้าประชาชน และนอกจากนี้ในเมืองหลวงก็ยังมีร้านขายยา จำหน่ายเครื่องสมุนไพร ยาสำเร็จรูป เครื่องเทศมากมาย ทั้งตำรับยาในจีนและยาฝรั่ง ชาวอยุธยาเรียกแหล่งขายยาว่า ป่ายา หรือแหล่งจำหน่ายยา มีแหล่งจำหน่ายขนาดใหญ่ เรียกว่า ถนนป่ายา ดังในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า “ถนนป่ายามีร้านขายเครื่องเทศ เครื่องไทยครบทุกสิ่ง ชื่อ ตลาดป่ายา”

สิ่งที่น่าสงสัยสำหรับชาวอยุธยาคือ ไม่มีโรงพยาบาลบริการสำหรับผู้เจ็บป่วย ธรรมเนียมการสร้างโรงพยาบาลเป็นของเขมรที่เรียกว่า อโรคยศาล ซึ่งเคยมีในเมืองไทย แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงสูญหายไป เมื่อหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนาและสร้างโรงพยาบาลในกรุงศรีอยุธยานั้นก็ไม่มีใครต่อต้าน แต่เมื่อหมอสอนศาสนาขอให้สมเด็จพระนารายณ์อุปถัมภ์โรงพยาบาล พระองค์กล่าวว่า ธรรมเนียมไทยไม่มีการสร้างโรงพยาบาล เป็นสิ่งพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า คนไทยไม่นิยมโรงพยาบาล ใช่ว่าคนไทยล้าหลังก็หาไม่ เพราะเรามีกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยนั้น รักษากันที่บ้านแพทย์หรือหมอยาจะเป็นผู้ตรวจรักษาและเจียดยาให้ผู้ป่วย การที่คนไทยปฏิเสธโรงพยาบาลนั้น เพราะคนไทยถือว่าโรงพยาบาลเป็นเรือนตายที่ว้าเหว่ อนาถา น่าสมเพช และถือว่า บ้านเป็นเรือนตาย เพราะถ้าจะตายก็ตายในท่ามกลางของญาติพี่น้อง จะถือว่านอนตายตาหลับวิญญาณจะจากไปอย่างมีความสุข จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.2310 นั้น ตำรายาหลวงได้สูญเสียไปมากและหมอยาถูกฆ่าตาย บางคนถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นครองราชสมบัติก็ได้ประกาศฟื้นฟูในศิลปวิทยาการทุกสาขา (ติดตามตอนจบในสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น