xs
xsm
sm
md
lg

‘นอนไม่หลับ’ส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – แนะปัญหาการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอควรได้รับการแก้ไขในฐานะที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพการทำงาน สุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงความสัมพันธ์
รายงานที่ตีพิมพ์ในเกรต บริติช สลีป รีพอร์ต บ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างการนอนไม่หลับกับความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ พลังงานลดลง ไม่มีสมาธิ และไม่สามารถทำงานแม้แต่งานง่ายๆ ได้
การพักผ่อนไม่เพียงพอยังเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า ระบบภูมิคุ้มกันด้อยประสิทธิภาพ และโรคหัวใจ
การศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 5,300 คนโดยเมนทัล เฮลธ์ ฟาวน์เดชันในอังกฤษพบว่าผู้ใหญ่ 60% มีปัญหานอนไม่หลับ และน้อยครั้งมากที่ได้หลับคืนละ 6-7 ชั่วโมงตามที่ควรจะเป็น
กว่า 1 ใน 3 เป็นโรคนอนไม่หลับ และอาจมีอาการนี้มาหลายปีแล้ว
จากการศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่นอนไม่หลับมีแนวโน้มมากขึ้นถึง 4 เท่าที่จะมีปัญหาความสัมพันธ์ และคนเหล่านี้มีแนวโน้มมากขึ้น 3 เท่าที่จะมีปัญหาในการใช้สมาธิหรืออารมณ์เสียง่าย และมีอาการซึมเศร้า และมีแนวโน้มอ่อนเพลียไม่มีแรงมากขึ้น 2 เท่า
ผู้ใหญ่ 1 ใน 4 มีปัญหาที่เกี่ยวพันกับการนอนอื่นๆ เช่น กัดฟันหรือกรน ที่ทำให้ตื่นมากลางดึก และมีเพียง 39% เท่านั้นที่นอนหลับสนิทเพียงพอ
รายงานยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นต้นว่าโรงเรียนควรสอนเด็กให้รู้ถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการนอนไม่พอ ขณะที่แพทย์ควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อวินิจฉัยปัญหาจากการนอนไม่เพียงพออย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดร.แอนดริว แมคคัลล็อก จากเมนทัล เฮลธ์ ฟาวน์เดชัน กล่าวว่าแม้มีการเน้นย้ำอย่างมากถึงความสำคัญของอาหารและการออกกำลังกาย แต่การนอนหลับกลับถูกละเลยทั้งที่มีนัยสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนเรา ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและรับมือกับปัญหาการนอนหลับในฐานะที่เป็นข้อวิตกกังวลสำคัญด้านสาธารณสุขเช่นเดียวกัน
ดร.แดน โรโบแธม นักวิจัยอาวุโสของเมนทัล เฮลธ์ ฟาวน์เดชันและเป็นแกนนำการจัดทำรายงานฉบับนี้ เสริมว่า การพักผ่อนไม่เพียงพออาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตซึ่งส่งผลให้นอนหลับยากขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทก์
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คนวัยผู้ใหญ่ควรได้นอนหลับสนิทอย่างน้อยคืนละ 5 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้สามารถใช้สมาธิและทำงานต่างๆ อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม บางคนอาจต้องการนอนนานถึง 8 ชั่วโมง แต่บางคนนอนแค่ 3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว
ขณะเดียวกัน นักวิจัยเผยว่าเกือบจะคลี่คลายปริศนาของนาฬิกาชีวภาพในร่างกายคนเราได้แล้ว
ดร.อากีเลช เร็ดดี้ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เผยกับวารสารเนเจอร์ว่า โปรตีนเพอรอกไซด์ด็อกซินในเซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นฟันเฟืองสำคัญในวงจรนาฬิกาชีวภาพ และการทำความเข้าใจวงจรการทำงานของนาฬิกาชีวภาพอาจนำไปสู่วิธีบำบัดอาการนอนไม่หลับในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น